27 เมษายน 2564…ทางออกสำคัญ ณ เวลานี้คือ ความพยายามจัดหาและบริหารทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด พร้อมกับการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับคนไทยให้ได้เร็วที่สุด
-KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการตัวเลข GDP ลงจาก 2.7% เป็น 2.2% ตามการระบาดระลอกใหม่ที่จะกระทบกับการบริโภคและแผนการเปิดประเทศ โดยปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 1 ล้านคนเหลือ 5 แสนคนในปีนี้ อย่างไรก็ตามในกรณีที่การระบาดยืดเยื้อ คาดว่า GDP จะเติบโตได้เพียง 1.8%
-การฉีดวัคซีนในไทยถือว่าช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทำให้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงหดตัวเพิ่มเติมได้ตลอดทั้งปีจาก (1) การระบาดระลอกใหม่หลังจากนี้ที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก (2) ความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุขอาจถึงขีดจำกัด (3) แผนการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลไทยยังคงฝากความหวังไว้กับวัคซีนจากแหล่งเดียว (4) แม้เริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้วแต่การติดเชื้ออาจจะไม่ได้ลดลงในทันที
-หากนโยบายด้านวัคซีนยังไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงหดตัวจะต้องอาศัยการเยียวยาและแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นเพียงการซื้อเวลาและแบ่งเบาภาระภาคธุรกิจและครัวเรือนได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทางออกสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งจัดหาวัคซีนให้คนไทยให้ได้เร็วที่สุด
ปรับการคาดการณ์ตัวเลข GDP จาก 2.7% เป็น 2.2%
การระบาดระลอกใหม่จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐและความวิตกกังวลของผู้บริโภค สถานการณ์การระบาดในรอบนี้รุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมาในเดือนมกราคม จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงกว่าในรอบก่อนมาก ในครั้งนี้ KKP Research คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการควบคุมการแพร่ระบาด
KKP Research ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP จาก 2.7% ลงมาที่ 2.2% ยิ่งไปกว่านั้น ประเมินว่าการประมาณการเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงโดยมีความเสี่ยงที่จะลดต่ำลงได้มากกว่านี้โดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และมาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อควบคุมการติดเชื้อ
ภาคธุรกิจยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลมากที่สุดเนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดและการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ล่าช้า KKP Research ปรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจาก 1 ล้านคนเหลือเพียง 5 แสนคนในปี 2021 จากวัคซีนที่มีการฉีดได้ค่อนข้างช้า การระบาดรอบใหม่ของประเทศไทย และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการเดินทางระหว่างประเทศ คาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีนี้ และจะมีโรงแรมจำนวนมากโดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่จะไม่สามารถเปิดกิจการต่อไปได้
วัคซีนหนุนเศรษฐกิจโลกและการส่งออก
การฉีดวัคซีนในหลายประเทศทำได้เร็วและหลายประเทศจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่ภายในปีนี้ ในปัจจุบันประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาสามารถฉีดวัคซีนได้มากถึงวันละกว่า 3 ล้านโดสทำให้คาดการณ์ได้ว่าประเทศสหรัฐ ฯ จะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้
ในขณะที่ฝั่งยุโรปคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 หมายความว่าประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่งจะสามารถกลับมาเปิดประเทศได้เต็มที่ได้อีกครั้งภายในปีนี้ และจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการส่งออกของไทย
เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงหดตัวเพิ่มเติมได้ตลอดทั้งปี
KKP Research ประเมินว่าแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่ทำได้อย่างล้าช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและยังเสี่ยงหดตัวเพิ่มเติมได้อีกตลอดทั้งปี 2021 นี้ จากหลายปัจจัย
1) การระบาดระลอกใหม่หลังจากนี้ที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทย
2) ความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุขอาจถึงขีดจำกัด
3) วัคซีนของรัฐบาลไทยยังคงฝากความหวังไว้กับ AstraZeneca เกือบทั้งหมดและยังพึ่งพาการผลิตจากแหล่งเดียว 4) ประสบการณ์ในต่างประเทศ แม้เริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว การติดเชื้ออาจจะไม่ได้ลดลงในทันที
นโยบายการเงินและการคลังทำได้เพียงประคับประคอง ฝากความหวังไว้กับวัคซีน
KKP Research คาดว่าในระยะสั้น นโยบายการคลังจะยังคงเน้นการใช้มาตรการเยียวยาประเภทเงินโอนต่อไปอีก โดยจะใช้งบประมาณจากวงเงิน พรก. เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลือประมาณ 2.5 แสนล้านบาทภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ไปตลอดปีนี้ ถึงแม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่มาตรการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้มาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่การฉีดวัคซีนของไทยทำได้ช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และอัตราการฉีดวัคซีนของไทยยังอยู่ที่เพียงราว 1% ของประชากรไทย นโยบายการเงินและการคลังจะเป็นเพียงการซื้อเวลาและแบ่งเบาภาระภาคธุรกิจและครัวเรือนได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทางออกสำคัญ ณ เวลานี้คือความพยายามจัดหาและบริหารทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด พร้อมกับการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับคนไทยให้ได้เร็วที่สุด