12 พฤษภาคม 2564…SD PERSPECTIVES ติดตาม เอสซีจี รุกพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด 19 ล่าสุด ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี มีขนาดพื้นที่รวม 360 ตารางเมตร แบ่งเป็น 4 ส่วน
พื้นที่การใช้งานของห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลราชวิถี มีขนาดพื้นที่รวม 360 ตารางเมตร แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
1.ICU ZONE เป็นพื้นที่สำหรับเตียงผู้ป่วยจำนวน 10 เตียง พร้อมระบบช่วยชีวิตต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบหลักของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศในโซนนี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) เพื่อลดการกระจายของเชื้อโรคและฝุ่น
2.NURSING STATION ZONE เป็นส่วนสำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย แบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าไปดูแลผู้ป่วยไอซียู โดยระบบการจัดการอากาศในโซนนี้ใช้ระบบห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM) เพื่อควบคุมคุณภาพของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย
3.MEDICAL PREPARATION (ANTE ROOM) เป็นพื้นที่สำหรับใช้เตรียมตัวของทีมแพทย์ เก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย
4.ANTE ROOM สำหรับถอดชุด PPE และทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำ
วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Service Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤตเพิ่มมากขึ้น เอสซีจี จึงร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี ออกแบบ พัฒนา และผลิต “ห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19โดยเฉพาะ โดยสามารถผลิต ก่อสร้าง และติดตั้งแล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วภายใน 7 วัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการปรับปรุงไอซียูแบบทั่วไป อาจต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน โดยห้องไอซียูโมดูลาร์นี้ จะช่วยแยกผู้ป่วยโควิดออกจากผู้ป่วยทั่วไป และช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไข้โควิดได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
“ห้องไอซียูโมดูลาร์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ผลิตในโรงงานด้วยระบบโมดูลาร์ ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบ การผลิต จนถึงการประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างรวดเร็ว มีมาตรฐาน การออกแบบมีความถูกต้องตามฟังก์ชันการทำงานของข้อกำหนดห้องไอซียู หรือ Intensive Care Unit ที่มีคณะแพทย์เจ้าของโครงการเป็นที่ปรึกษา โดยจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน มีการแยกส่วนของคนไข้ ออกจากทีมบุคลากรทางการแพทย์อย่างชัดเจน มีการแยกระบบอากาศออกจากกัน โดยการใช้ระบบควบคุมแรงดันอากาศ ทั้งระบบความดันบวก (POSITIVE PRESSURE) เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายและลดการติดเชื้อของเชื้อโรคสู่ภายนอก นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยระบบกรองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ กรองเชื้อโรคด้วย HEPA Filter และฆ่าเชื้อด้วยระบบ Bi-ionization Air Purifier และ UV Light แบบครบวงจร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและการติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ที่ใช้งานยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ เอสซีจี ยังคงเดินหน้าเต็มกำลังในการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรับมือกับการแพร่ระบาด พร้อมช่วยบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างการรับมือกับสถานการณ์โควิด19 ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกและมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน