NEXT GEN

AIS Academy ชวนองค์กรไทย ใส่พลังเพื่อสร้างคนให้ทันต่อการพัฒนาประเทศ โชว์ต้นแบบ THE EDUCATORS สร้างครูไทย เพื่อส่งต่อเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ

17 กันยายน 2564 ….เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกมีอยู่ตลอดเวลาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพิ่มทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่ เอไอเอสมองเห็นเมื่อ 6ปีที่แล้วจึงเกิด AIS Academy มีภารกิจตั้งต้นจากการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรภายในองค์กรของเอไอเอสที่มีกว่า 13,000 คนให้คุ้นเคยในการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล จนกระทั่งเมื่อโลกเข้าสู่สถานการณ์โรคระบาด “ภารกิจคิดเผื่อเพื่อคนไทย โดย AIS Academy” ขยายแกนการเพิ่มทักษะออกไปหลายด้านด้วยการทำงานที่เอไอเอสก็เชื่อว่า การเติบโตแต่เพียงผู้เดียวไม่ใช่สูตรสำเร็จของการเติบโตอย่างแท้จริง แต่การทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบด้วยการช่วยเหลือและยกระดับสังคม ถือเป็นหน้าที่สำคัญของภาคเอกชนในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคมเช่นกัน

หลายปีมานี้เราจึงเห็นการขับเคลื่อนของ AIS Academy ที่ไม่เพียงแต่พัฒนาบุคลากรภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรนอกองค์กรผ่านโครงการคืนสู่สังคมที่เรียกว่า ‘ภารกิจคิดเผื่อ’ เช่นโครงการ AIS Academy for THAIs,โครงการอุ่นใจอาสา พัฒนาอาชีพ ,โครงการ ห้องสมุดดิจิทัลปันความรู้ เพื่อคนไทย และ THE EDUCATORS THAILAND ภารกิจคิดเผื่อจาก AIS Academyที่ต้องการพัฒนาครูไทยให้พร้อมกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และ กลุ่มอินทัชกล่าวว่า

“ถึงแม้โลกไม่เกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอยู่ดี เพราะพฤติกรรมของคนย่อมเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละ Generation โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และได้รับความรู้มาจากทุกทิศทุกทาง เพียงแต่วิกฤต COVID-19 เป็นตัวเร่งที่ให้ครูต้องปรับตัวเร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า”

นี่คือเหตุผลที่ AIS Academy ปลุกปั้นโครงการ THE EDUCATORS THAILAND “มากกว่าความเป็น…ครูผู้สอน นวัตกรรมการสอนของครูไทยในอนาคต” เมื่อ 2 เดือนก่อน โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยบุคลากรชั้นนำในวงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อครูไทย โดยมีเนื้อหาในการพัฒนาทักษะ การสร้างนวัตกรรมการสอน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษายุคใหม่ แบ่งเป็นเนื้อหาภาคทฤษฎีทั้งหมด 5 หลักสูตร ได้แก่

1.ภูมิทัศน์ของการเรียนในอนาคต องค์ประกอบของการเรียนออนไลน์ สื่อการสอนออนไลน์ ระบบ LMS และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน
2.การวิเคราะห์เนื้อหา และวิธีการเรียนออนไลน์
3.กลยุทธ์การสอนออนไลน์ การสอนแบบผู้เรียนอิสระ การสอนโดยใช้กิจกรรมกลุ่ม การออกแบบการสอน
4.การผลิตวิดีโอออนไลน์ สำหรับการศึกษา
5.การวัดประเมินผลออนไลน์ การวัดความรู้ การวัดทักษะ การวัดทัศนคติ

หลังจากเปิดตัวโครงการได้ไม่นานปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างมาก โดยมีครูสมัครเข้าโครงการจำนวนทั้งสิ้น 1,190 คน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ และจากทุกสังกัด ทั้งนี้ผู้ร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์บนแพลตฟอร์ม LearnDi  และเมื่อผู้เรียนผ่านการอบรมหลักสูตร  จะได้รับใบประกาศนียบัตร และ Digital Credential Badge จาก AIS Academy ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองคุณวุฒิระดับสากล

อาจารย์กุลเชษฐ์ เล็กประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ร่วมออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์ THE EDUCATORS THAILAND  กล่าวว่าโครงการนี้มีทักษะสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน ตามข้อมูลองค์กรประกันคุณภาพการศึกษาของยุโรป ในรายงานบอกว่ามี 5 ทักษะที่คุณครูควรจะต้องมีหรือรู้ในปี 2021 คือ

1.สร้างห้องเรียนนวัตกรรม เมื่อเรียนออนไลน์ เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ครูต้องพัฒนา หาสื่อการสอนและนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์เป็นไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นห้องเรียนออนไลน์ คุณครูต้องผสมผสานหลายอย่าง ภาพ เสียง วิดีโอ มัลติมีเดีย รวมถึงการใช้แอปต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ นักเรียนของเราด้วย เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่คุณครูใส่เข้ามาก็จะเพิ่มทักษะ และสร้างสรรค์การเรียนรู้ได้

2.มีความยืดหยุ่น ปรับตัว เราคุ้นเคยการเรียนในโรงเรียนมาเป็น 100 ปี อยู่มาวันหนึ่ง การเรียนในห้องเรียนเราใช้งานไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เราอยากใช้ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการ เพราะนักเรียนและครูต่างก็อยู่ที่บ้านตัวเอง แต่การเรียนการสอนต้องเกิดขึ้นได้ ต้องใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง ใช้อินเตอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต มือถือ แอปต่าง ๆ เข้ามา ก็ต้องยอมรับว่ามีครูจำนวนหนึ่งไปได้ แต่ครูอีกจำนวนหนึ่งยังปิดกั้นอยู่ว่าเรียนออนไลน์ได้หรือ แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้ก็กลับไปเรียนในห้องเรียนปกติไม่ได้อยุ่ดี ครูต้องปรับตัว เปิดใจ หาเครื่องมือใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้กับนักเรียนของเราเอง

3. คุณครูต้องมีทักษะการสร้างตัวตนทางออนไลน์ นักเรียนของเราเกิดในยุค Digital Native ทุกอย่างของเขา ที่โตมาเป็นเด็กยุคใหม่ เขาเสพสื่อทางเทคโนโลยี ผ่านมือถือ คุณครูมีตัวตนอย่างไร ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยมีเฟสบุค ไลน์ แต่วันนี้ต้องมีตัวตนเราตรงนี้ เพื่อเข้าใจนักเรียนของเราว่า เวลาเขาอยู่บนพื้นที่แบบนี้ เขามีลักษณะอย่างไรเพื่อที่เราจะได้มาปรับใช้ บทเรียนของเรา ก็ต้องอยู่บนออนไลน์เช่นกัน

4.สร้างบทเรียนเป็นภาพและเสียง คุณครูต้องมีทักษะทำ e-Larning จะใช้แบบเดิม นักเรียนเปิดหนังสืออ่านตามครู ไม่ได้อีกแล้ว วันนี้เมื่อครูจะต้องทำสื่อ จะต้องนำเรื่องยาก ๆ ในหนังสือเรียนมาย่อยให้ง่าย ทำเป็นวิดีโอ ภาพ หรือทำผ่าน AR,VR เพื่อเวลาเรียนให้นักเรียนเห็นภาพง่ายขึ้นในการเรียนออนไลน์

5.การสื่อสาร การสร้างความร่วมมือ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียนก็ห่างไกลกันมากขึ้น ซึ่งคุณครูต้องสร้างความเข้าใจกับเด็กยุคใหม่ นักเรียนยุคใหม่ ต้องสื่อสารกับนักเรียนมากขึ้น อาจจะต้องเข้าไปเรียนรู้ในสิ่งที่เขารัก เขาชอบ เพลง ศัพท์แสงต่าง ๆ เรื่องราวที่กำลังฮิตอยู่ มาปรับใช้ในการเรียนการสอน มีครูใช้วิธีการนี้พบว่า มีการร่วมมือมากขึ้น ทำให้บทเรียนนั้นประสบความสำเร็จได้ดีขึ้นด้วย

“ทักษะ 5 ด้านที่กล่าวถึงมีอยู่ใน THE EDUCATORS THAILAND กิจกรรมเวิร์คช้อปทำให้ครูได้มีโอกาสปฏิบัติจริง โดยเราเริ่มจาก Personal Learning Community หรือ PLC ถือเป็นตัวจักรสำคัญที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์ การทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม PCL ครูก็มีการจัดแบ่งกลุ่ม แนะนำตัว และมีโค้ชเข้าไปช่วยดูแลและให้คำปรึกษาครูที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนกระบวนการพัฒนาทักษะ Future Skill เป็นทักษะใหม่ที่จะทำให้ครูมีหลักคิดในการทำงาน และสามารถทำพรีเซนต์เทชั่น การเรียนการสอนออนไลน์เพื่อเล่าเรื่องหรือออกแบบความคิดต่าง ๆ ซึ่งทักษะนี้เป็นหลักสูตรที่เราพัฒนาขึ้นมาสนับสนุนครูให้มีความพร้อมเหมาะกับการทำงานด้านการศึกษาในอนาคต”

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 เดือนหลังจากเปิดตัวโครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้นตามลำดับ โดยปัจจุบันครูสามารถออกแบบการเรียนรู้จากโมดูต่าง ๆ และเริ่มผลิตวิดีโอสำหรับการสอนออนไลน์ เป็นคลิปความยาวไม่เกิน 5 นาทีเพื่อส่งเข้ามาประกวดในโครงการนำเสนอผลงานวิชาการ THE EDUCATORS THAILAND ประจำปี 2564 ชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศ พระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะประกาศผลในช่วงเดือนธันวาคมนี้

อาจารย์กุลเชษฐ์ กล่าวเพิ่มว่า เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่ระบบการศึกษาไทยต้องเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์อันสืบเนื่องจากวิกฤต COVID-19 และมีครูจำนวนมากที่ปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีได้ แต่ก็มีครูจำนวนหนึ่งได้พยายามปรับตัว ออกจากเซฟโซนตัวเองและทดลองสิ่งใหม่ ๆ อาทิ การทำ คลิปวิดีโอบนยูทูปเผยแพร่องความรู้เรื่องสอนทางออนไลน์ประกอบการเรียน รวมถึงหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้การสอนออนไลน์มีความสามารถเทียบเท่าการสอนในห้องเรียน

“โครงการ THE EDUCATORS THAILAND จาก AIS Academy ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้ครูมีช่องทางในการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต เพราะจากฟีดแบคของครูที่เข้าร่วมโครงการพบว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และนักเรียนได้รับประโยชน์จริง ผมในฐานะผู้สอนจึงมีความรู้สึกว่าโครงการนี้สร้างคุณค่า และช่วยยกระดับภาคการศึกษาไทย เพราะเทคโนโลยีใหม่ก้าวหน้ามากขึ้นทุกวัน ทำให้การเรียนรู้จึงไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นครูก็ต้องเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อพัฒนาลูกศิษย์อีกทอดหนึ่ง”

พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่าง คุณครูท่านหนึ่งที่ มอ.วิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนสาธิตของมอ. คุณครูสอนพละศึกษา สุขศึกษา วิชานี้ดูเหมือนจะห่างไกลคอนเทนต์ดิจิทัลมาก เวลาเด็กเรียนพละ ก็คือไปออกกำลังกาย เมื่อมาถึงสอนออนไลน์ครูต้องปรับ ครูได้มองหาการออกแบบให้กับผู้เรียนว่า วัตถุประสงค์หลัก ๆ ที่เด็กเข้ามาฟัง เด็กควรจะได้อะไร แต่หลักสูตรพละศึกษาต้องมีการฟิตร่างกายด้วย ครูจะมีเรื่องอินโทร แล้วให้เด็กไปทำกิจกรรมอาจจะถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอส่งเข้ามา นักเรียนก็จะมีส่วนร่วมในวิชาพละ มีการออกกำลังกายจริง ๆ นอกจากนี้บางอย่างก็นำวิดีโอมาช่วยอธิบาย เช่นกีฬาในโอลิมปิก ซึ่งอยู่ในกระแส และคุณครูใช้ภาษาแบบเด็ก ๆ เนื้อหาที่เด็กสนใจ

“ภารกิจคิดเผื่อ” จาก AIS Academy ในภาคการศึกษาไม่ได้มีแค่ THE EDUCATORS THAILAND เท่านั้น แต่ยังมีโครงการพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ อาทิ

-โครงการ AIS Academy for THAIs  ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย จัดงานสัมมนาพร้อมส่งมอบองค์ความรู้ด้านดิจิทัล สนับสนุนนวัตกรรมและทักษะอาชีพ ขยายขีดความสามารถให้คนไทยกระโดดข้ามทุกข้อจำกัด โดยจัดมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี ทั้งรูปแบบ On Ground Event และ Virtual Conference มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานรวมมากกว่า 15,000 คน ,

-โครงการอุ่นใจอาสา พัฒนาอาชีพ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวรวมใจของพนักงานเอไอเอส เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ต่อยอดส่งต่อความช่วยเหลือด้วยการจับมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดโครงการ ฝึกอบรมสร้างงานสร้างรายได้ มีเป้าหมายให้คนไทยที่สนใจหาทักษะ หรือความรู้เพื่อพัฒนาสู่การประกอบอาชีพโดยการส่งมอบองค์ความรู้นำไปสู่การขายเพื่อประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการสามารถต่อยอดในการพัฒนาสินค้า และต่อยอดไอเดียให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

-โครงการ ห้องสมุดดิจิทัลปันความรู้ เพื่อคนไทย ความร่วมมือระหว่าง AIS Academy และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่งต่อองค์ความรู้สู่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนทั่วไป โรงเรียนชายขอบ และถิ่นทุรกันดาร โดยสนับสนุนแหล่งความรู้พื้นฐานอย่างเช่น ห้องสมุดให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน การอ่านก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้สังคมไทยเติบโตและยั่งยืน

“เราคิดว่าเรื่องการพัฒนาคุณภาพคนในสังคมเป็นเรื่องที่ปล่อยให้รัฐทำเพียงผู้เดียวไม่ได้ แต่ภาคเอกชนในฐานะพลเมืองของสังคมจะต้องเข้าไปร่วมมือกับทางภาครัฐ เช่นเดียวกับเอไอเอสที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคม เรายินดีหากองค์กรไหนจะนำแนวทางทั้งวิธีคิดและวิธีในทางปฏิบัติไปใช้ เราหวังว่าจะเป็นไม้ขีดไฟเล็ก ๆ ที่จุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และช่วยกันสร้างสังคมไทยให้แข็งแรง” กานติมา กล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like