16-17 ตุลาคม 2564…ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ ทั้ง ปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักถึงผลกระทบที่กำลังจะตามมาหลังจากนี้ เพราะนักวิชาการฟันธงแล้วว่า เราจะเห็นสภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และแนวโน้มเชิงลบนี้จะดำเนินต่อไปจนถึงศตวรรษหน้า
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมานั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางปกป้องโลกใบนี้ก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งทางออกของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมีหลายวิธีด้วยกัน หนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดก็คือ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกด้วยการ “ปลูกป่า” เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน ฝนตกตามฤดูกาล เป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ ก่อให้เกิดระบบนิเวศขนาดใหญ่ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งออกซิเจนที่ใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว ต้นไม้ยังให้ประโยชน์ในการช่วยบังแสงอาทิตย์และไอความร้อนที่จะมาตกกระทบตัวโครงสร้างอาคารโดยตรง เพิ่มความชื้นในดินและอากาศโดยรอบ ทำให้ภายในอาคารเย็นขึ้น และลดความสิ้นเปลืองพลังงานให้กับอุปกรณ์ทำความเย็นภายในอาคารได้อย่างมีนัยสำคัญ
กลับมาดูสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศ จากข้อมูลกรมป่าไม้พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าในประเทศไทยมีจำนวนคงที่ คือ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.5 ของประเทศ จากพื้นที่ในประเทศไทยทั้งหมด 322 ล้านไร่ ทั้งนี้หากต้องคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมไว้ ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 คิดเป็น 128 ล้านไร่
ตัวเลขที่ขาดไปหลายสิบล้านไร่นี้เป็นสิ่งที่ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุน” นำมาขบคิด โดยใช้เครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และคนไทยร่วมกันขับเคลื่อน บนการทำงานที่ยืนอยู่บนหลักธรรมภิบาล และความโปร่งใสขององค์กรมาเป็นแนวทางดำเนินงาน Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” โครงการปลูกป่าที่เน้นความร่วมมือร่วมใจของคนหลายภาคส่วน เพื่อสร้างป่าให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ในปี 2564 นับว่าครบรอบ 1 ปี ของการทำงานในเรื่องนี้ โดยเกิดเสวนาค้นหาคำตอบพร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อหาทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ป่าไม้สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงไหม วิกฤตที่เราจะก้าวข้ามทำอย่างไรให้ได้ป่าจริง กับผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) เข็มอัปสร สิริสุขะ (เชอรี่) ศิลปิน นักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม และนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเป็นโหนดธุรกิจที่มีส่วนในการขับเคลื่อน หรือเป็นผู้สร้างผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ จึงถือเป็นหน้าที่ที่ภาคเอกชนจะต้องรับผิดชอบกับบทบาทการดำเนินธุรกิจของตนเองด้วย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องการตอกย้ำวิสัยทัศน์ To Make the Capital Market “Work” for Everyone ควบคู่กับการผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลของโลก ตามกรอบเป้าหมายแห่งสหประชาชาติ UN SDGs ในข้อ 13 Climate Action และขับเคลื่อนด้วยการทำงานด้วย ข้อ 17 Partnership for the Goal ด้วยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อการดำเนินการร่วม บนเป้าหมายร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
“Care the Wild เป็นโครงการความร่วมมือบริหารดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศด้วยการปลูกป่า และ ดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้รอด 100% เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี ด้วยหลักธรรมาภิบาล มีชุมชนเป็นผู้ดูแลต้นไม้ เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์จากป่า ทั้งในด้านอาหาร และเศรษฐกิจ โดยนำคอนเซ็ปต์มาจาก Core Value ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีในเรื่องของความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลมาเป็นหลักในการดำเนินโครงการ ซึ่งเรียกว่าเป็นหลักการธรรมาภิบาลป่าไม้ สร้างความโปร่งใสในกระบวนการปลูกป่า และดูแลป่า แน่นอนว่าการปลูกป่าตามลำพังเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถสร้าง Impact ให้วิกฤตโลกร้อนคลี่คลายในเร็ววันได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงออกแบบให้โครงการดังกล่าวเป็น Collaboration Platform ของการรวมพลังภาคเอกชนที่มีเป้าหมายการปลูกป่ายั่งยืน”
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant &Protect” ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เป็นกลไกการระดมทุน เพื่อการ “ปลูก” ต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้โดยผ่านภาคีองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วยสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ บริษัทเอกชน นักวิชาการ นักเชี่ยวชาญด้านป่าไม้ และคนในชุมชน โดยร่วมดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโต จนกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “ป้อง” กล่าวคือ
ผู้ระดมทุนปลูกร่วมติดตามผ่าน Application : Care the Wild เรียนรู้การเติบโตของไม้ การทำงานของชุมชน การมีส่วนร่วมในการขยายผลเพื่อพัฒนาชุมชน และร่วมดูแลเอาใจใส่ไม้ปลูกให้เติบโตเป็นส่วนสำคัญของการขยายแนวผืนป่าของประเทศต่อไป โดยผู้ร่วมโครงการสามารถร่วมเป็น “ทีมปลูกป้อง” ด้วยการเลือกพื้นที่ป่าที่ต้องการปลูกและบริจาคเงิน เพื่อเป็นทุนในการปลูกไม้ ต้นละ 200 บาท และดูแลไม้ที่ปลูกผ่าน Application : Care the Wild ด้วยเป้าหมายต้องรอดและเติบโต 100% องค์กรธุรกิจที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com/carethewild
“เราไม่ได้ทำแค่อีเวนท์ปลูกป่า แต่เราหวังที่จะให้ต้นไม้รอดและกลายเป็นป่าขึ้นจริง สิ่งที่เราทำคือจับมือกับสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ นี่คือข้อต่อสำคัญที่สุด เพราะพื้นที่ที่เราจะไปปลูกแต่ละแห่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีกฎหมายคุ้มครอง ข้อต่อมาคือ ภาคธุรกิจที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่า ตามมาด้วยนักวิชาการ คณะทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการขึ้นรูปแนวทางการทำงาน และสุดท้ายคือ เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการตรวจสอบความคืบหน้า และเห็นผลลัพธ์ของการปลูกป่า” นพเก้ากล่าวย้ำ
ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และคณะทำงานพิจารณาพื้นที่ปลูกป่า โครงการ Care the Wild ยืนยันว่า “คนอยู่กับป่า” คือแนวทางที่สามารถฟื้นคืนป่าไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จจากงานที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 20 ปี และยังสามารถนำมาสร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนที่จะ “ปลูกป้อง” ป่าไม้
“สิ่งที่ผมทำมาถึงปัจจุบันพื้นที่ที่เราเข้ามาดูแลมีอยู่หลายร้อยพื้นที่ก็จริง เราใช้วิธีสร้างคนต้นแบบในแต่ละจังหวัดเพื่อขยายผลไปสร้างเครือข่ายอีกทอดหนึ่ง แรก ๆ จะมีคนในชุมชนเห็นด้วย 1-2 คนก่อน หลังจากนั้นก็จะขยายเป็น 100 บางพื้นที่ใช้วัดเป็นศูนย์กลาง อย่างดอยอินทรีย์จังหวัดเชียงราย ที่นั่นพระจะเข้ามามีบทบาทเป็นแกนนำ เริ่มปลูกต้นไม้จากยอดดอยลงมาจนสามารถพลิกฟื้นภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นป่าขนาด 8,000 ไร่ ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งสำคัญ เราเปลี่ยน Mindset ของชาวบ้านเพื่อให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องเข้าไปทำความเข้าใจบริบททางสังคมของเขาด้วย โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วมาขยายผลออกไปให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่” ดร. วิวัฒน์กล่าว
เข็มอัปสร สิริสุขะ ศิลปิน และนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่านอกจากการสร้างภาคีเครือข่ายปลูกป่าจากบุคคลภายนอกแล้ว คนในชุมชมถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การปลูกป่าประสบความสำเร็จ
“เพราะเขาคือคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนั้น ถ้าเขาเห็นด้วยกับเรา เห็นความจริงใจจากเราทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ก็จะทำให้โครงการไปต่อได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญ และร่วมกันหาจุดสมดุลของการอยู่อาศัย และทำเกษตรเลี้ยงชีพที่สามารถปกป้องรักษาป่าได้ด้วย”
นพเก้า กล่าวปิดท้ายว่า หลังจาก Care the Wild เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีพันธมิตรและเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม เข้าร่วมกว่า 15 ราย มีการระดมทุนและปลูกป่าไปแล้ว 145 ไร่ (29,000 ต้น) บน 7 พื้นที่ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ ได้เท่ากับ 261,000 Kg CO2e ผืนป่าเป็นต้นทางของชีวิต ทั้งอาชีพ วิถี และวัฒนธรรม โครงการ Care the Wild จึงขอเชิญชวนภาคธุรกิจและผู้สนใจปลูกไม้ให้ได้ป่าอย่างยั่งยืน บนต้นทางของระบบนิเวศยังมีพื้นที่ป่าอีกมากมายที่รอการสนับสนุนจากทุกท่านทุกภาคส่วน ที่มีหัวใจรักการอนุรักษ์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกป่า
“โลกของเรายังต้องการพื้นที่สีเขียวอีกมาก Care the Wild จึงขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่อยากจะเชิญชวนภาคเอกชน และผู้ที่สนใจทั่วไป เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแพลตฟอร์ม ในเวลาเดียวกัน คนในชุมชนก็สามารถนำเสนอพื้นที่ของตัวเองได้เช่นกัน”
มาช่วยกันปลูกป่าแก้วิกฤตโลกร้อน…