6-7 พฤศจิกายน 2564… António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวถึง นับจากลงนามข้อตกลงด้านสภาพอากาศปารีส (Paris Climate Agreement) จากนั้นก็กลายเป็น 6 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ COP26 ต้องรักษาเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้
มีการเสพติดเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังผลักดันมนุษยชาติเข้าสู่จุดจบ เรากำลังเผชิญทาง 2 แพร่ง ไม่เราหยุดมันได้ ก็ทำให้เราถึงจุดจบ ถึงเวลาแล้วที่จะใช้คำว่า “พอกันที”
-พอกันทีต่อการทารุณต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
-พอกันทีกับการฆ่าตัวเองเพราะคาร์บอน
-พอกันทีกับการปฏิบัติต่อธรรมชาติเหมือนห้องสุขา
-พอกันทีกับการเผาไหม้ เจาะ และขุด
เรากำลังขุดหลุมฝังตัวเองลึกลงไปเรื่อย ๆ โลกกำลังเปลี่ยนไปต่อหน้าต่อตา จากส่วนลึกของมหาสมุทรไปจนถึงยอดภูเขา ตั้งแต่ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายไปจนถึงสภาพอากาศเปลี่ยนไปสุดขั้ว ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง 2 เท่าของอัตราเมื่อ 30 ปีก่อน มหาสมุทรร้อนกว่าที่เคย ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และเร็วขึ้น
ตอนนี้หลาย ๆ พื้นที่ของป่าอเมซอนปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่ดูดซับ แถลงการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพอากาศล่าสุดอาจทำให้รู้สึกว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางที่จะพลิกสถานการณ์ได้
แต่นั่นเป็นภาพลวงตา !
รายงานล่าสุดของบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามในข้อตกลงแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.7 องศา แม้คำมั่นสัญญาล่าสุดจะชัดเจนและดูน่าเชื่อถือ แต่ก็ยังมีคำถามต่อคำปฏิญาณบางเรื่อง และความกังวลต่อภัยพิบัติสภาพอากาศใม่ลดลง
แม้เป็น Scenario ดีที่สุด อุณหภูมิก็ยังจะเพิ่มสูงกว่า 2 องศา ดังนั้น ขณะเราเปิดประชุม ก็ยังมุ่งหน้าสู่ภัยพิบัติเรื่องสภาพอากาศอยู่ดี บรรดาคนหนุ่มสาวล้วนเข้าใจเรื่องนี้ดี สำหรับพวกเขา ความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือก ความล้มเหลวคือโทษประหารชีวิต
เรากำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความจริง เรากำลังเข้าใกล้จุดที่ต้องกระตุ้นให้เกิด Feedback ด้านภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การลงทุนเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนให้เป็น Net Zero นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตแล้ว ยังสร้างวัฏจักรการเติบโต งาน และโอกาสที่ยั่งยืนได้ด้วย
ความก้าวหน้าในการก่อร่างสร้างเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ หลาย ๆ ประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ หลายประเทศลดการสนับสนุนทางการเงินต่อการใช้ถ่านหิน
กว่า 700 เมืองกำลังเป็นผู้นำในการทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ ภาคเอกชนตื่นตัว องค์กรพันธมิตรอย่าง Net Zero Asset Owners Alliance กำลังบริหารจัดการสินทรัพย์มูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ
“กลุ่มคนจำนวนมากเข้าร่วมแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ นำโดยบรรดาคนหนุ่มสาวที่ไม่มีใครหยุดความตั้งใจของพวกเขาได้ พลังของพวกเขามีมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งพูดยิ่งเสียงดัง ไม่มีวันรามือ และผมก็จะยืนเคียงข้างพวกเขา”
วิทยาศาสตร์ให้ภาพชัด ทำให้เรารู้ว่าต้องทำอย่างไร เรื่องแรก เราต้องรักษาเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสให้คงอยู่ การทำเรื่องนี้ต้องใช้ความมุ่งมั่นมากขึ้น ทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบ และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในทันทีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกลง 45 % ภายในปี 2573
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ G20 ต้องรับผิดชอบโดยตรง เพราะเป็นผู้ปล่อยมลพิษรวมกันแล้วประมาณ 80 % ตามหลักการของความรับผิดชอบร่วมกัน แต่ก็แตกต่างกันในแง่ของสถานะของแต่ละประเทศ
ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการลงทุนลงแรง แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็ต้องก้าวไปให้ไกลกว่าเดิมด้วยเช่นกัน เพราะการมีส่วนร่วมของพวกเขาก็สำคัญต่อการลดการปล่อยมลพิษ
“ผมขอเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สร้างพันธมิตรเพื่อสร้างเงื่อนไขทางการเงินและเทคโนโลยีเพื่อเร่งการกำจัดคาร์บอนของเศรษฐกิจรวมทั้งการเลิกใช้ถ่านหิน แนวร่วมเหล่านี้มีขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศผู้นำการปล่อยคาร์บอน เปลี่ยนจากสีเทาเป็นสีเขียว เพื่อให้ทำได้จริง”
อย่าให้เกิดภาพลวงตา หากคำมั่นสัญญาล้มเหลว ประเทศต่างๆ จะต้องทบทวนแผนและนโยบายด้านสภาพอากาศของประเทศของตนอีกครั้ง ไม่ใช่ทุก ๆ 5 ปี แต่ต้องเป็นทุกปี ทุกช่วงเวลา จนมั่นใจได้ถึง 1.5 องศา จนกว่าเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลจะหมดไป จนคาร์บอนจะมีราคาชัดเจน และจนกว่าการใช้ถ่านหินจะหมดไป แต่เราต้องการความชัดเจนมากขึ้นด้วย
“มีข้อมูลเชิงลบ และความสับสนมากเกินไปเรื่องการลดการปล่อยมลพิษและเป้าหมาย Net Zero นั่นเป็นเพราะการให้คำจำกัดความและตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน – นอกเหนือจากกลไกที่กำหนดไว้แล้วในข้อตกลงปารีส ผมอยากประกาศในวันนี้ว่า ผมจะจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อเสนอมาตรฐานที่ชัดเจนในการวัดและวิเคราะห์ภาระผูกพันเรื่อง Net Zero จากผู้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ”
เลขาฯยูเอ็นกล่าวต่อเนื่อง เรื่องที่สอง เราต้องดำเนินการให้มากขึ้นเพื่อปกป้องชุมชนที่เปราะบางจากอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนเกือบ 4 พันล้านคนประสบภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ความหายนะยังคงเพิ่มขึ้น
แต่การปรับตัวก็ได้ผล ระบบเตือนภัยล่วงหน้าช่วยได้ เกษตรกรรมและโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะช่วยให้มีงานทำ ผู้บริจาคทั้งหมดต้องจัดสรรครึ่งหนึ่งของเงินทุนสนับสนุนด้านสภาพอากาศเพื่อให้เกิดการปรับตัว และธนาคารเพื่อการพัฒนาภาครัฐและพหุภาคีควรเริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด
เรื่องที่สาม การประชุม COP26 ครั้งนี้ต้องเป็นช่วงเวลาแห่งความสามัคคี คำมั่นสัญญาที่บอกว่าจะสนับสนุนการเงินเพื่อใช้แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาต้องเกิดขึ้นจริง นี่เป็นประเด็นสำคัญในการฟื้นฟูความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ
“ผมขอชื่นชมความพยายามที่นำโดยแคนาดาและเยอรมนีเพื่อช่วยให้เราบรรลุเรื่องดังกล่าว นี่เป็นก้าวที่สำคัญ แต่การสนับสนุนที่ว่านี้ล่าช้าไปหลายปีแล้ว และไม่มีการการันตีชัดเจน”
นอกเหนือจาก 100,000 ล้านดอลลาร์แล้ว ประเทศกำลังพัฒนาต้องการทรัพยากรที่มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 สร้างความยืดหยุ่น และทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
“ผู้ทนทุกข์ทรมานมากที่สุด เอ่ยชื่อก็ได้ คือ ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ต้องการเงินทุนด่วน เงินทุนสนับสนุนแก้ปัญหาโลกรวนมากขึ้น ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากนานาชาติเพิ่มขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้น และธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีต้องทำงานอย่างจริงจังมากขึ้นในการระดมการลงทุนที่มากขึ้นผ่านการเงินทั้งแบบผสมผสานและจากเอกชน”
António Guterres กล่าวในท้ายที่สุด เสียงไซเรนกำลังดังขึ้น โลกกำลังส่งเสียงบอกอะไรบางอย่างกับเรา และกับทุกผู้คน การดำเนินการด้านสภาพอากาศ เป็นเรื่องที่ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน อายุเท่าไหร่ และเพศใด ให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ เราต้องตั้งใจฟัง — ต้องลงมือทำ — ต้องเลือกอย่างชาญฉลาด ในนามของคนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อ ๆ ไป อยากให้ทุกคน มุ่งมั่น สามัคคี เลือกที่จะปกป้องอนาคตของเรา และช่วยมนุษยชาติ
ที่มา