NEXT GEN

นักลงทุนต่างชาติมองปัจจัย ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุนบริษัทไทยเพิ่มขึ้น

1 ธันวาคม 2564…PwC ประเทศไทย เผยนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจนำข้อมูล ESG มาวิเคราะห์สุขภาพของบริษัทไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน-ซื้อกิจการมากขึ้น แต่ความสนใจของนักลงทุนไทยยังอยู่ในระดับน้อย แนะธุรกิจต้องตื่นตัวในการผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์องค์กรและจัดทำรายงานความยั่งยืนที่สะท้อนถึงแนวทางการดำเนินงาน การปฏิบัติใช้จริง รวมไปถึงการวัดผลที่มีความโปร่งใส

ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยให้ความสนใจต่อการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนไม่มากเท่ากับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนหนึ่งเพราะบริบทของประเทศยังไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือตระหนักในเรื่องการดำเนินงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่มีการพัฒนามากเท่ากับประเทศชั้นนำขนาดใหญ่

“แม้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันนี้ยังเห็นภาพไม่ชัดเจนว่า นักลงทุนสถาบันได้นำปัจจัย ESG มาประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างเต็มที่ แต่สำหรับการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาซื้อกิจการในไทยแล้ว คำถามที่เราพบบ่อยมากคือ บริษัทนั้น ๆ ได้ดำเนินการอะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องของกลยุทธ์ แนวปฏิบัติ ธรรมาภิบาล และการประเมินผล เพราะพวกเขาตระหนักดีว่า ESG จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้”

ทั้งนี้ ผลสำรวจ PwC 2021 Global Investor ESG Survey ได้ทำการสอบถามความคิดเห็นของนักลงทุนจำนวน 325 คนทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทการลงทุน วาณิชธนกิจ หรือบริษัทหลักทรัพย์ โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันมากกว่า 11.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 379 ล้านล้านบาท) พบว่า นักลงทุนที่ถูกสำรวจเกือบครึ่ง (49%) มีความพร้อมที่จะ“ถอนการลงทุนออกจากบริษัทที่ไม่ได้มีการดำเนินการด้าน ESG” อย่างเพียงพอ

ในขณะเดียวกัน 59% ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะลงคะแนนคัดค้านข้อตกลงการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารของบริษัทที่ขาดการดำเนินการด้าน ESG และอีก 79% ระบุว่า วิธีการที่บริษัทใช้ในการจัดการความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของตน

อย่างไรก็ดี แม้นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการให้ธุรกิจมีการดำเนินการด้าน ESG แต่ก็ต้องการให้ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนน้อยที่สุด โดย 81% ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่า พวกเขาจะยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงไม่มากกว่า 1 จุดร้อยละจากการดำเนินการด้าน ESG ของบริษัท ขณะที่เกือบครึ่งไม่เต็มใจที่จะยอมรับผลตอบแทนที่ลดลงเลย

รายงานความยั่งยืน
จะยิ่งทวีความสำคัญ

การจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Disclosure and Reporting) ถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงนโยบาย ผลกระทบ และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบถึงการดำเนินงานที่ครอบคลุมข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจและช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงปัจจัย ESG

สอดคล้องกับรายงานของ PwC ที่ระบุว่า 83% ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจเชื่อว่า การจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย ESG ของธุรกิจ

ชาญชัย กล่าวต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจไทยยังตื่นตัวในการจัดทำรายงานความยั่งยืนในวงจำกัด มีเพียงบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้นที่จัดทำรายงานความยั่งยืนที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศในวงกว้าง

นักลงทุนต่างชาติมองปัจจัย ESG
ก่อนเข้าซื้อกิจการไทย

ชาญชัยเห็นกระแสของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่แม้นักลงทุนอาจจะไม่ได้ขอข้อมูลรายงานความยั่งยืน แต่นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาซื้อกิจการให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีการดำเนินการด้าน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทในกลุ่มแมนูแฟคเจอริ่ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน ซึ่งประเทศในแถบทวีปยุโรปออกกฎระเบียบในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด หากบริษัทในกลุ่มนี้ไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจได้รับอุปสรรคจากการทำการค้ากับคู่ค้าได้

“อยากแนะนำให้บริษัทที่ยังไม่ได้เริ่มวางกลยุทธ์ด้าน ESG เริ่มศึกษาข้อมูลและติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทิศทางของโลก หรือคู่ค้า ถ้าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับซัพพลายเชน หรือมีประเทศคู่ค้า เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา หรือหลาย ๆ ประเทศในโซนยุโรปที่เข้มงวดเรื่อง ESG ผู้บริหารจะต้องรีบกลับมาวางแผนงานด้านนี้ทันที หรือในกรณีที่เป็นบริษัทที่ไปลงทุนต่างประเทศ หรือนำหลักทรัพย์ออกไปขายต่างประเทศ ต้องมีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ชัดเจน เพราะนักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก”

ชาญชัย กล่าวต่อเนื่อง ในระยะถัดไป นักลงทุน หรือกองทุนต่างประเทศขนาดใหญ่จะเริ่มถอนการลงทุน หรือลดน้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่ไม่มีการดำเนินการด้าน ESG รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบซัพพลายเชนด้วย เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากการตื่นตัวด้าน ESG ในต่างประเทศ

“การดำเนินการด้าน ESG ถือเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ โดยควรมีการสื่อสารจากผู้บริหารระดับสูงไปสู่ผู้ใต้บังคับบัญชาทั่วทั้งองค์กรว่า ESG จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต และองค์กรมีเป้าหมายในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงให้ความสำคัญกับการวัดผลที่ได้มาตรฐานการรายงานด้าน ESG (ESG reporting standards) เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวและตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป” ชาญชัยกล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like