7 ธันวาคม 2564…ทุกวันนี้ นักลงทุนเข้าใจประโยชน์ของการลงทุนแบบ ESG และคาดหวังว่าจะได้รับรายงานเกี่ยวกับ ESG ด้วย แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่จากการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ควรจับตามองในปี 2565 คืออะไร ?
ความต้องการการลงทุนอย่างยั่งยืนแซงหน้าผลิตภัณฑ์การเงินดั้งเดิมในปี 2563 การศึกษากองทุนเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนแห่งยุโรปปี 2564 ซึ่งเป็นการศึกษาของสมาคมอุตสาหกรรมกองทุนลักเซมเบิร์ก (ALFI) พบว่ากองทุนตั้งใหม่กว่าครึ่งมุ่งไปที่สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ต่อไปนี้เป็น 5 แนวโน้มการลงทุน ESG ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกพลิกผันหลังจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19
1. ข้อมูล ESG ดีกว่าเดิม
เน้นรายงานสิ่งที่ตรงความต้องการของนักลงทุน
คุณภาพและปริมาณของข้อมูล ESG จะต้องปรับปรุงต่อเนื่อง เมื่อความต้องการในการรายงานเพิ่มขึ้น
การผสมผสานกรอบการรายงานในปัจจุบันทำให้นักลงทุนรวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของ ESG และดำเนินการกับความเสี่ยงและโอกาสของ ESG ได้ยาก ข้อกำหนดที่ตีกรอบชัดจะช่วยให้สิ่งนี้ง่ายขึ้นสำหรับนักลงทุน และทำให้ธุรกิจได้รับการรายงานความคืบหน้าตรงตามเป้าหมาย ESG ง่ายขึ้น
หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกกำลังจัดการกับปัญหาขาดคำจำกัดความที่ชัดเจน และข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน ในยุโรป ระเบียบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืน (SFDR) ถูกบังคับใช้ในการเปิดเผยข้อมูล ESG ขณะที่อนุกรมวิธานของสหภาพยุโรปกำหนดรายการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อความยั่งยืนเรียบร้อยแล้ว
กรอบการทำงานที่คล้ายคลึงกันในเขตพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารกลางสิงคโปร์ นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้หน่วยงานกำกับดูแลในอินเดียประกาศว่าพวกเขากำลังพิจารณากรอบการเปิดเผยและการลงทุนสำหรับการลงทุน ESG ของกองทุนรวม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565
2. เน้น ‘S’
ใน ESG
ประเด็นทางสังคมได้กลายเป็นเรื่องแรกๆ ของการอภิปรายสาธารณะเนื่องจาก Covid-19 ได้เปิดเผยปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ ในอดีต เรื่องเหล่านี้มักอยู่ล้าหลังเมื่อเทียบกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยากต่อการให้คำจำกัดความและวัดผล
การพิจารณาความเสี่ยงทางสังคมสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมากในการปรับความยืดหยุ่นทางการเงิน ตัวอย่างเช่น ขั้นตอนด้านสุขภาพและความปลอดภัยเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสำหรับธุรกิจ แต่ช่วยลดความเสี่ยงของการถูกฟ้องร้องที่มีต้นทุนสูง ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุน ESG ที่ต้องตระหนักถึงความหลากหลาย การไม่แบ่งแยก ตลอดจนประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน
3. การชดเชยคาร์บอน
จะเป็นกระแสหลัก
การชดเชยคาร์บอน – การชดเชย CO₂ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ – จะกลายเป็นกระแสหลักและซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีที่ดีในการแก้ปัญหาระยะสั้นเรื่องลดการปล่อยมลพิษ
มันเป็นเรื่องง่ายกว่า หากจะปลูกป่าหรือฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม แต่ตอนนี้ วิธีที่ใช้กำลังเปลี่ยนไปสู่การแก้ปัญหาแบบก้าวล้ำกว่า เช่น ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน ซึ่งสามารถกำจัด CO₂ ออกจากอากาศได้
4. การวัดผลกระทบ
เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ – สิ่งมีชีวิตบนโลกที่มีความหลากหลายสูง – กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก นัยต่อการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจมีความรุนแรงพอๆ กับภาวะโลกรวน ดังที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า การค้าสัตว์ป่าและการกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรหรือการพัฒนา สามารถนำไปสู่การเกิดโรคจากสัตว์สู่คนชนิดใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ
การเปิดเผยผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพแบบบังคับนั้นยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ขณะนี้บางประเทศกำหนดให้บริษัทด้านการลงทุนต้องรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพขององค์กร ตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศส สถาบันการเงินต้องเปิดเผยกลยุทธ์ในการลดผลกระทบจากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเป้าหมายเฉพาะและการวัดความสอดคล้องกับเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างประเทศ
ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ระเบียบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (SFDR) กำหนดให้องค์กรด้านการลงทุนเปิดเผยกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง
5. เอเชียเน้นความสำคัญ
ESG มากขึ้น
การขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของเอเชียในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้กระตุ้นความต้องการโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน คมนาคมขนส่ง น้ำประปา และระบบบำบัดน้ำเสีย
แต่การระบาดใหญ่เผยปัญหาที่เข้มข้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ประเทศในเอเชียต้องเผชิญกับขยะในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคกลับมาใช้ถุงแบบใช้ครั้งเดียว ช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้ง และบรรจุภัณฑ์อาหารเกรดสูงด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัย
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการนำ Circular Economy แหล่งพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายการขนส่งที่ยั่งยืนทั่วทั้งทวีปมาใช้แก้ปัญหา
ตอนนี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่ได้ห้ามการใช้ถ่านหินก็จริง แต่ได้ให้คำมั่นที่จะ “ควบคุมอย่างเข้มงวด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบรรลุเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060
ทั้งนี้ ความต้องการเกี่ยวกับความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นในโลกหลังเกิดโรคระบาด นำสู่โอกาสด้านการลงทุน ESG ในเอเชียอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา