27 ธันวาคม 2564…ผู้จัดงานด้านสิ่งแวดล้อมคาดหวังสูงในปี 2564 พวกเขาจินตนาการว่าจะเป็น 1 ปีแห่งความก้าวหน้า และในที่สุดประเทศต่าง ๆ ก็ปรับนโยบายของตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพอากาศในปารีส และทำให้มนุษยชาติรู้สึกว่าความหวังจับต้องได้
แต่ปี 2564 กลับต่างไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ได้จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรและให้คำมั่นสัญญา พวกเขาส่วนใหญ่ล้มเหลวในการตอบสนองต่อความท้าทายของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศขั้นพื้นฐานที่สุด เช่น การจัดหาเงินทุนด้านสภาพอากาศที่เพียงพอแก่ประเทศรายได้ต่ำ
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนทั่วโลก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่พุ่งสูงขึ้นก่อนการแพร่ระบาด ด้วยอัตรานี้ โลกกำลังอยู่ในภาวะโลกร้อนเกินกว่าเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสของข้อตกลงด้านสภาพอากาศในปารีส และกระแสตอบรับที่เป็นอันตราย เช่น การละลายของดินเยือกแข็งและระบบนิเวศป่าไม้ที่พังทลาย – สามารถสร้างหายนะด้านสิ่งแวดล้อมได้ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
ไม่มีเวลาให้เสียเปล่าสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศให้มีความหมายแล้ว ทุกวันคือโอกาสในการลงทุนและสร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในวันพรุ่งนี้
ขณะที่เรามองไปข้างหน้า ปี 2565 มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมมากมายที่เราหวังว่าประเทศ บริษัท และบุคคลต่างๆ จะทำให้ก้าวหน้ามากขึ้น นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น
1.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ การแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นง่ายมาก ประเทศต่าง ๆ เพียงแค่ต้องหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ ล้มเหลวในการยอมรับฉันทามติทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง
หลายร้อยประเทศให้คำมั่นที่จะบรรลุ “การปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์” ภายในกลางศตวรรษ แต่การเก็บข้อมูลของ Climate Action Tracker ระบุว่า ภาพที่เกิดขึ้นจริงตามแผนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ ปัจจุบัน กลับทำให้โลกร้อนขึ้นกว่า 2.7 องศาภายในสิ้นศตวรรษ
ภายใต้ข้อตกลงด้านสภาพอากาศของกรุงปารีส ประเทศต่างๆ จะจัดทำแผนที่การลดการปล่อยมลพิษผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Nationally Determined Contributions (NDCs) ในปี 2565 ประเทศต่างๆ จะต้องปรับปรุง NDC ของตนเพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจอย่างไรให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ การปรับปรุงใหญ่ที่สุดต้องมาจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย บราซิล และจีน
2. ขับเคลื่อนเงินทุน
แก้ปัญหาสภาพอากาศ
กล่าวได้ว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นความอยุติธรรมระดับโลก ประเทศที่มีความรับผิดชอบน้อยที่สุดต่อภาวะโลกร้อนและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเผชิญผลกระทบรุนแรงที่สุด เนื่องจากความไม่สมดุลนี้ ประเทศที่มีรายได้สูงจึงให้คำมั่นสัญญาในปี 2552 ว่าจะสนับสนุนเงินปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศภายในปี 2563 เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำรับมือกับภาวะโลกรวน
แต่ถึงตอนนี้ นานาประเทศล้วนล้มเหลวในการทำตามความมุ่งมั่นนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ต้นทุนที่แท้จริงของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และเป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอด้วยซ้ำ
ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศที่มีรายได้สูงต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาทางการเงินด้านสภาพอากาศดั้งเดิม และจากนั้นต้องสนับสนุนมากกว่าเดิม เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประเทศสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเปลี่ยนเศรษฐกิจของตนได้จริงจัง ที่สำคัญคือ เงินจำนวนนี้ควรมาในรูปของทุนสนับสนุนมากกว่าเงินกู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำต้องแบกรับภาระหนี้สินเพิ่มเติม
3. สร้างกองทุนช่วยเหลือ
สำหรับการสูญเสียและความเสียหาย
ต้นทุนเพื่อทำให้ฟื้นตัวจากปัญหาโลกรวนกำลังเพิ่มสูง ขณะที่ปัญหา ไฟป่า พายุรุนแรง และความแห้งแล้งเลวร้ายลง ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องระดมเงินทุนสำหรับสิ่งที่เป็นที่รู้จักในแวดวงภูมิอากาศว่า ” การสูญเสียและความเสียหาย ” เงินทุนเหล่านี้จำเป็นต้องกระจายไปทั่วโลกตามความจำเป็น เพื่อชดเชยความอยุติธรรมในอดีตของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่มีอยู่ระหว่างแต่ละประเทศ
เช่นเดียวกับการปรับตัวของสภาพอากาศ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องสร้างกลไกในปี 2565 สำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่อนุญาตให้ประเทศต่างๆ เข้าถึงทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย บรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากได้เสนอให้ตั้งกองทุน Glasgow Loss & Damage Facility และในปีต่อๆ ไปก็จะเห็นได้ว่ากองทุนนี้กำลังจะให้ความช่วยเหลือเป็นรูปธรรมจริง
4. ยุติการอุดหนุน
เชื้อเพลิงฟอสซิล
ทุก ๆ ปี การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลจะได้รับเงินอุดหนุน 5.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของทุกประเทศ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและจีน
การหยุดเงินอุดหนุนเหล่านี้จะมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันที ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ พบว่าอันที่จริง การกำหนดราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแม่นยำโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตและผลกระทบทางสังคมจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หนึ่งในสาม
เงินอุดหนุนจำนวนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับแหล่งพลังงานหมุนเวียน และผลทางเศรษฐกิจแง่มุมอื่น ๆ ของประเทศที่ได้รับผลกระทบในช่วงการเปลี่ยนผ่าน
5. หยุดอนุมัติ
โครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศรายงานว่า จะไม่มีการอนุมัติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่อีกแล้ว หากนานาประเทศยังต้องการให้อุณหภูมิอยู่ในช่วง 1.5 องศาเซลเซียส แต่นี่ไม่ใช่การบอกว่าต้องหยุดผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดทันที ตรงกันข้าม โครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลกไปอีกหลายทศวรรษ
ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องจริงจังกับการยุติการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2565 โดยปฏิเสธข้อเสนอเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ สำหรับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการต่างๆ ในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์จะต้องอาศัยความพยายามทางการเมืองอย่างมาก แต่งบประมาณด้านคาร์บอนทั่วโลกนั้นไม่ยืดหยุ่น – ชั้นบรรยากาศสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และก๊าซกักความร้อนอื่นๆ ได้จำกัด ก่อนที่จะไม่เอื้ออำนวยให้เพิ่มอีกต่อไป
6. หยุดการใช้มีเทน
เมื่อต้องวิเคราะห์เรื่องภาวะโลกร้อน คาร์บอนไดออกไซด์กลายเป็นปัจจัยที่ทุกฝ่ายสนใจมากที่สุด แต่มีเทนก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ขณะที่มันไม่อยู่ในอากาศได้นานเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ให้ความร้อนสูงกว่าถึง 80 เท่า
ข้อมูลของตามโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า การลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่โดยการค้นหาและการรั่วไหล – จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่า 0.3 องศาเซลเซียส
“การลดก๊าซมีเทนเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการแก้ปัญหาโลกรวนในช่วง 25 ปีข้างหน้า รวมถึงช่วยเติมเต็มความพยายามที่จำเป็นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” Inger Andersen กรรมการบริหารของ UNEP กล่าว “ประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมีมากมาย และมีค่ามากกว่าต้นทุนที่เสียไป เราต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้ได้มากที่สุดอย่างเร่งด่วนภายในทศวรรษนี้”
7. ลงทุนในการอนุรักษ์และฟื้นฟู
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าประเทศต่างๆ ล้มเหลวในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ตั้งแต่ป่าไม้ มหาสมุทร ไปจนถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ภาวะโลกรวนรุนแรงจะยังคงเกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องหยุดการทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรม และฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรมไปแล้ว มีพื้นที่ประมาณ 75% เสื่อมโทรมไปแล้ว และก็มีทั้งการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรมากเกินไป และมีมลพิษมากเกินไป
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่า100 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะปกป้อง 30% ของพื้นที่ทางบกและทางทะเล ภายในปี 2030แต่ผู้ก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดบางส่วนยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย บราซิล และจีน
ถึงวันนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “30 by 30” โลกยังต้องการเงินลงทุนมหาศาล ความร่วมมือทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องฟื้นฟูพื้นที่ป่า และพื้นที่ทางทะเล ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศต่างๆ ยังต้องยุติหรือเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น เกษตรอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า การพังทลายของดิน การขาดแคลนน้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในการเกษตรแบบปฏิรูปจะขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อโลกให้หมดไป
หวังว่า ปีหน้าเราเข้าใกล้เป้าหมายตามข้อตกลงด้านสภาพอากาศในปารีสมากขึ้นแล้ว
ที่มา