NEXT GEN

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส “เอสซีจีและพนักงานทุกคนคือส่วนหนึ่งของโลกใบนี้”

18-19 ธันวาคม 2564….เอสซีจี ส่ง Commitment ยกระดับ SD สู่แนวทาง ESG 4 Plus มุ่งแก้วิกฤตเพื่อโลกที่ยั่งยืน คือภารกิจสำคัญ ดังนั้นการสร้างแนวทางดังกล่าวจึงต้องเกิด และต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน มาดูแลโลกของเราให้น่าอยู่และส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป

ในยุคที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของเรากำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Climate Change อากาศแปรปรวนจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1.2 องศา ทรัพยากรทั่วโลกขาดแคลน จากจำนวนประชากรที่จะเพิ่มสูงขึ้น 9.6 พันล้านคนซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาขยะล้นโลก ในขณะที่โควิด 19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำ ในสังคมขยายวงกว้าง โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2022 คนตกงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 205 ล้านคน เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง เยาวชนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา

เอสซีจี ในฐานะขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศจึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกู้วิกฤตโลกที่เกิดขึ้นด้วยการประกาศเดินหน้าธุรกิจควบคู่กู้วิกฤตโลกร้อน ทรัพยากรขาดแคลน และลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้ ESG (Environmental, Social, Governance) กรอบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้อง กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ และโมเดล เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของรัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)

กลยุทธ์ ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ” ประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาทในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงร้อยละ 20 ภายในปี 2030 รวมถึงพัฒนา Deep Technology เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน ด้วยการระดมปลูกต้นไม้ 3 ล้านไร่ ต่อยอดสร้าง 130,000 ฝาย เร่งดันนวัตกรรมรักษ์โลกเพิ่มขึ้น 2 เท่า อาทิ สินค้าฉลาก SCG Green Choice,นวัตกรรมการก่อสร้าง CPAC Green Solution, SCG Green Polymer และบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล-ย่อยสลาย 100% ลดสังคมเหลื่อมล้ำ ตั้งเป้าสร้างอาชีพที่ตลาดต้องการ 20,000 คน ประกาศร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งมอบโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป ภายใต้การดำเนินงานอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

“เอสซีจี ใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม วันนี้ เอสซีจี ได้ก้าวสู่ปีที่ 109 โดยเรามีธุรกิจในต่างประเทสมากขึ้น ซึ่งเรามองเห็นแล้วว่าปัจจุบันโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของโลกร้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆหากเรานิ่งเฉยเราจะยืนอยู่ในธุรกิจโลกลำบาก และต้องยอมรับว่าธุรกิจของเราเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา สิ่งที่เราจะทำได้คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ ESG เริ่มเป็นที่สนใจสำหรับโลกธุรกิจมากขึ้นเรื่อย แม้กระทั่งนักลงทุนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เราจึงต้องการมีส่วยในการนำแนวทางนี้มาใช้เพื่อดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยโลกนี้ให้ดีขึ้น”  

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงแนวทาง ESG 4 Plus ซึ่งเอสซีจีจะปักธงใช้เป็นกลยูทธ์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตจะประกอบไปด้วย

-Net Zero เอสซีจีมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานชีวมวล หรือ Biomass จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้ลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Technology เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory for Energy Analytics) และเตรียมทดลองนำร่องใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – “CCUS”) เป็นต้น
นอกจากนี้ เอสซีจียังคงเดินหน้าปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน 3 ล้านไร่ และป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ ดูดซับ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมขยายผลไปในอาเซียน รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ 130,000 ฝาย เพื่อฟื้น ความอุดมสมบูรณ์ ให้แก่ป่าต้นน้ำ และขยายชุมชนการจัดการน้ำยั่งยืนให้ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ

-Go Green มุ่งพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 67 ภายในปี 2030 อาทิ ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด ระบบหลังคา SCG Solar Roof Solutions นอกจากนี้ ยังตั้งบริษัท SCG Cleanergy ให้บริการโซลูชันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ

-CPAC Green Solution ช่วยให้ก่อสร้างเสร็จไว ลดของเหลือทิ้งในงานก่อสร้าง SCG Green Polymer นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอบโจทย์ธุรกิจและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีพีทั้งหมดสามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ในปี 2050

-Lean ลดความเหลื่อมล้ำ เอสซีจี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน และ SMEs 20,000 คน ภายในปี 2025 เช่น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ อาชีพช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ และขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ผ่านโครงการพลังชุมชน เป็นต้น

+Plus เป็นธรรม โปร่งใส เอสซีจีขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทาง ESG 4 Plus ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ดำเนินทุกกิจกรรมอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยังเน้นการปลูกฝังไปยังพนักงาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

“เอสซีจีและพนักงานทุกคนคือส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ นับจากนี้ ESG 4 Plus จะเป็นภารกิจสำคัญที่พวกเราจะทุ่มเทความพยายามอย่างสุดความสามารถ ผสานทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ โดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นและดูแลสังคมให้ยั่งยืน ซึ่งจะทำไปพร้อมกันทั้ง ESG อย่างไรก็ดี เอสซีจีไม่สามารถแก้ไขวิกฤตได้โดยลำพัง จึงต้องการชวนทุกภาคส่วนร่วมให้มาดูแลโลกของเราให้น่าอยู่และส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป เริ่มด้วยกัน เพื่อเรา เพื่อโลกที่ยั่งยืน”

ในงานนอกจากรุ่งโรจน์ จะมากล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทาง ESG แล้ว ทัพผู้บริหารของเอสซีจียังมายืนยันในถึงแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของเอสซีจีไว้อย่างครบถ้วน

-ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี เล่าถึงธุรกิจใหม่ SCG Cleanergy ซึ่งจะเป็นหัวหอกด้านธุรกิจพลังงานสะอาด

-ยุทธนา เจียมตระการ  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวถึงการพัฒนา Innovative People และเร่งทำ Open Innovation และลงทุนอย่างต่อเนื่องใน Deeptech และ Startups เพื่อสร้างนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การสร้างวัสดุคุณภาพสูงเพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีเพื่อใช้ในการดูดกลับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์

-นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจี และ ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกล่าวถึงการเพิ่มนวัตกรรมรักษ์โลกภายใต้ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าภายในปี 2030 ที่ปัจจุบันมีนวัตกรรม “ปูนไฮบริดซีเมนต์”ที่สามารถลดโลกร้อนได้ถึงปีละ 6 แสนตันเสริมทัพด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในงานก่อสร้างทั้ง 3D Printing , Drone และ BIM ช่วยลดเวลา ลดของเหลือทิ้งในไซต์งาน

-ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวถึงแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ “SCG Green Polymer”นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดโลกร้อน ตอบโจทย์ธุรกิจและลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายการผลิต 200,000 ตันภายในปี 2025


-วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซีจีพี กล่าวถึงการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่จะต้องนำกลับมารีไซเคิล ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ 100% ในปี 2050

“ความท้าทายที่เราจะทำให้สำเร็จได้ผมมองว่าทุกคนต้องมองให้เห็นว่ามันเป็นปัญหาและเข้าใจปัญหานั้นก่อนโดยที่ยังไม่ต้องมองว่าจะแก้ให้สำเร็จอย่างไร จากนั้นผมเชื่อว่าทุกคนจะสามารถร่วมมือกันแล้วทำให้มันสำเร็จไปได้ ผมอยากจะเห็นสิ่งที่ดีขึ้น โลกเรามี 3 เรื่องที่เราจะทำอย่างชัดเจนอยู่แล้วก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น สังคมจะต้องมีความเหลื่อมล้ำที่น้อยลงซึ่งเกิดจากการให้โอกาสด้วยการนำความรู้ไปให้ สุดท้ายคือเรื่องของการกำกับดูแลที่ดี ทั้ง 3 เรื่องจะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น ทั้ง 3 เรื่องจึงเป็นเป้าหมายหลักของ ESG ตรงนี้” รุ่งโรจน์กล่าวปิดท้าย

ถือเป็นก้าวสำคัญในปีที่ 109 ของเอสซีจีซึ่งกำลังจะมุ่งไปสู่วิถีแห่งความยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus ที่ร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้วิกฤตโลกและส่งต่อความยั่งยืนให้คนรุ่นหลังต่อไป

 

You Might Also Like