NEXT GEN

เอสซีจี ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการสร้าง “ทักษะ”อาชีพ ตามแนวทาง ESG

1 กุมภาพันธ์ 2565…รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี  ย้ำหน้าที่หนึ่งของบริษัท จะต้องช่วยเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”

“เอสซีจีมีฐานในเรื่อง การสร้างทักษะหลายเรื่อง เช่นพัฒนาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ พัฒนาอาชีพช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) ซึ่งในเรื่องช่าง ตลาดมีความขาดแคลนสูง นอกจากนี้ก็ยังมีอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ และขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านโครงการพลังชุมชน พัฒนาอาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ จากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี”

รุ่งโรจน์กล่าวต่อเนื่อง ถึงความจำเป็นในการสร้างทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งเอสเอ็มอีเองมักประสบปัญหาคนทำงานที่ขาดทักษะ ดังนั้นการสร้างทักษะจึงไม่เพียงช่วยลดล้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคม หากช่วยป้อนงานให้ตลาดด้วยในเวลาเดียวกัน หรือสร้างอาชีพผู้ประกอบการได้เอง

“ผมมองอีกเรื่อง อาชีพเมื่อช่วยเหลือแล้วมีความยั่งยืน การช่วยคนมีอาชีพดีกว่านำเงินไปให้ เงินช่วยแก้ปัญหาได้อย่างหนึ่งแต่เป็นระยะสั้น แต่ถ้ามีอาชีพจะลดปัญหาได้ในระยะยาวด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้เอสซีจีเห็นว่า จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้”

 

ส่วนการวัดผลนั้น CEO เอสซีจี กล่าวว่า วัดในองค์รวมยาก เพราะเอสซีจีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น แต่สามารถวัดจำนวนได้ วัดทักษะที่เอสซีจีเสริมขึ้นมา เช่นผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เอสซีจีดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3,000 คน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20,000 คนในปี 2568

นอกจากนี้ เอสซีจียังมอบทุนการศึกษาอาชีพที่ขาดแคลนให้เยาวชนในอาเซียน เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ครู รวมถึงให้ความรู้ด้านบริหารจัดการน้ำในชุมชนเพื่อให้มีน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เพิ่มผลผลิต มีรายได้มั่นคง

 

You Might Also Like