14 กุมภาพันธ์ 2565…ธนาคารกสิกรไทย ยังคงอยู่ใน Bloomberg Gender–Equality Index ประจำปี 2565 นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนการทำงานที่เคารพความหลากหลาย เพศ อายุ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ วัฒนธรรม เปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมให้แก่พนักงานทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทั้งระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเชื่อมั่นในหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) มาโดยตลอด และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้วยความสมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“เรื่องการเคารพในความแตกต่างหลากหลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญและปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเสมอภาคตั้งแต่ระดับกรรมการจนถึงพนักงานทุกระดับ ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก ประจำปี 2565 หรือ Bloomberg Gender–Equality Index 2022 กสิกรไทยเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับด้านความเสมอภาคทางเพศในมาตรฐานสากลเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน”
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีคะแนนรวม (GEI Score) ที่ 83.81% สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มการเงินทั่วโลกที่ 72.62% และคะแนนค่าเฉลี่ยรวมของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของโลกที่ 71.01% สะท้อนความสามารถการบริหารความแตกต่างหลากหลายในเรื่องเพศ อายุ การศึกษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม ทั้งในกลุ่มพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 5 Gender Equality หรือ ความเท่าเทียมทางเพศ
การที่ธนาคารกสิกรไทย อยู่ในดัชนีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อว่า ความหลากหลายทุกมิติดังกล่าวข้างต้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆ และมีมุมมองการตัดสินใจอย่างรอบด้าน เพราะได้ความเห็นจากคนที่หลากหลาย ธนาคารจึงเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความสามารถในการทำงาน มีแรงจูงใจเพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุข พนักงานมีความเข้าใจในความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารส่งมอบผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
นอกจากนี้ ธนาคารไม่ได้พิจารณาเพียงสัดส่วนตัวเลขของความหลากหลายว่า มีเพศหญิงจำนวนเท่าไร หรือมีพนักงานอยู่ในช่วงอายุเท่าไร หรือเชื้อชาติใด แต่สิ่งสำคัญ คือ ความมุ่งมั่นในการสร้างค่านิยมให้พนักงานเปิดกว้าง ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง และมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรของธนาคารกสิกรไทย
จากผลการสำรวจความผูกพันพนักงานปี 2564 พบว่า ธนาคารได้รับคะแนนในประเด็นการเปิดกว้าง ยอมรับแนวคิดที่หลากหลาย รวมถึงความแตกต่างทางภูมิหลัง เช่น เพศ อายุ ประสบการณ์ เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา อยู่ที่ 84% สะท้อนให้เห็นว่า พนักงานสัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมและค่านิยมที่มีการนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ การสรรหาคณะกรรมการของธนาคาร นอกจากจะพิจารณาจากสัดส่วน จำนวน และความหลากหลายของคณะกรรมการ ได้แก่ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความเป็นอิสระ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจและความเสี่ยง เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน และสอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธนาคารแล้ว ในฐานะที่ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงมีการปล่อยสินเชื่อให้กับหลากหลายธุรกิจ ดังนั้น คณะกรรมการธนาคารจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญหรือประสบการณ์นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น เช่น ด้านการธนาคารและการเงิน กลยุทธ์องค์กร บัญชี การตลาดและการสร้างแบรนด์ การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน การบริหารความเสี่ยง ทรัพยากรบุคคล กฎหมาย การค้าระหว่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล เป็นต้น
ขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยมีนโยบายการบริหารที่ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเท่าเทียมมาโดยตลอด มีการปลูกฝังวัฒธรรมองค์กรที่ยอมรับความแตกต่าง มองการวัดผลงานที่ความสามารถอย่างเท่าเทียมเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายตั้งแต่ระดับพนักงาน ผู้บริหาร ไปจนถึง คณะกรรมการธนาคาร โดยมองว่าความหลากหลายจะช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ และมุมมองในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์บริการให้แก่ลูกค้าและสร้างแรงขับเคลื่อนให้ธนาคารเป็นสถาบันการเงินชั้นนำอย่างยั่งยืน