9 พฤษภาคม 2565…ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดสัมมนา “SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต” ภายใต้แนวคิด “Make it Work for Future” โดยมีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญภาคเศรษฐกิจและธุรกิจ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยก้าวสู่อนาคตครอบคลุมทั้งมิติธุรกิจและความยั่งยืน ที่มุ่งสร้างสรรค์ให้ตลาดทุนไทยเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน
สัมมนาในโอกาสสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำปี 2565 นักบริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญภาคเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่ร่วมเวทีสัมมนามีประเด็นหนึ่งที่พูดตรงกันคือ
ESG (Environmental, Social and Governance) ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของธุรกิจในอนาค
และเป็นความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน
“การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ตลาดทุนไทยจะมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร พร้อมกับการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวไว้ตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ “บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย – Towards the Future of Thai Economy”
มาถึงเวทีเสวนา เสวนา “Wealth Driver for Fruitful Growth” โดย ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Managing Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินรายการโดย ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองถึงประเด็น ESG ว่า
“นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญกับ ESG มาก จากผลสำรวจของ BlackRock พบว่า ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนสนใจลงทุนในบริษัทที่มี ESG เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ และอีกครึ่งสนใจเพราะเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่มี ESG นอกจากนี้ ด้านคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นทั้งลูกค้า และแรงงานก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก อย่าง Climate Change สิทธิความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความสัมพันธ์ของบริษัทกับการเมือง ขณะที่คนรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอ ๆ กัน อีกสิ่งหนึ่ง ESG ช่วยดึงดูด Talent ให้เข้ามาทำงานด้วย และอยากอยู่กับบริษัทนาน ๆ มากกว่าเรื่องค่าตอบแทน”
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย ขยายความเรื่องนี้ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของโจทย์ใหญ่ ที่ตลาดทุนไทยต้องเผชิญ “ความท้าทาย” และ “โอกาส” ขณะนี้
“ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยกย่องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เรากำลังพัฒนาการต่อเชื่อมข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน นำมาสร้างเป็นฐานข้อมูล ผ่าน ESG Data Platform และส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการใช้งานได้อย่างสะดวก มีมาตรฐาน มีความเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิเคราะห์สนใจวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ ESG ให้กับนักลงทุน เช่น กองทุนรวม และ Index เหล่านี้คือกระบวนการในการสนับสนุนให้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความหมายและได้ผลอย่างแท้จริง”
“เดินหน้าอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้”
(Sustainable Driver For Meaningful Growth)
ในเวทีนี้ ผู้บริหารของแต่ละองค์กรมีนโยบายการทำงานด้วยแนวทาง ESG ร่วมแบ่งปันประสบการณ์คือ อภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บมจ. โอสถสภา ไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอส พี วี ไอ และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ. กสิกรไทย รัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อภิศักดิ์ เริ่มที่ มุมมอง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย
จุดมุ่งหมายขององค์กรในกรอบ Sustainability Framework โดยใช้เกณฑ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ตรงกับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 4 ด้าน มุมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิด SET ESG in Action 5 มิติที่เกี่ยวข้องกับ Stakeholder ของตลาดหลักทรัพย์คือ
1.การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน
2.การสร้างคุณค่าตลาดทุน
3.การพัฒนาและดูแลพนักงาน
4.การพัฒนาและดูแลสังคม
5.การจัดการสิ่งแวดล้อม
“การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน จะเน้นเรื่องความโปร่งใส ความรอบด้าน ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม การบริหารความเสี่ยง และนวัตกรรม ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน e-Listing, FundConnext และในช่วงโควิด-19 พัฒนา e-Shareholder Meeting เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทจดทะเบียนในการประชุมผู้ถือหุ้นแบบออนไลน์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม e-Open Account, e-Stamp Duty ระยะต่อไปคือการให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Digital Asset Exchange”
อภิศักดิ์ ขยายความต่อเนื่องมาถึงการสร้างคุณค่าตลาดทุน ด้วยมาตรฐานต่าง ๆ ระดับสากล ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล ยกย่องบริษัทที่อยู่ในเกณฑ์ชี้วัดความยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนระดับโลกต่าง ๆ การส่งเสริมให้เกิด Sustainable Finance ในส่วนสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้ประชาชนทุกวัยผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีผู้เข้าใช้งานนับล้านราย และสร้างแพลตฟอร์ม SET Social Impact เชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจ และการสร้างหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม
“ในส่วนพนักงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาดูแลพนักงาน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 มีมาตรการให้พนักงาน WFH ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองผ่าน Online Learning ส่วนการดูแลอาคารสถานที่ทำงานก็ยังมีความเข้มข้น เพื่อลดโอกาสจากการติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกันนี้สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก่อนการเกิดโควิด-19 คือการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ บำบัดน้ำเสีย ลดขยะ ลดคาร์บอน และ ทำ Green Procurement”
ส่วนภายนอก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรกว่า 300 ราย ทำงานร่วมกันในการดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่าน 3 โครงการสิ่งแวดล้อมของตลาดหลักทรัพย์ฯ
-Care The Bear รณรงค์เรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัด Event
-Care The Whale รณรงค์เรื่องการลดขยะ
-Care The Wild รณรงค์เรื่องการปลูกป่า
“การบริหารความเสี่ยงทางการเงินของประเทศทำมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เกิดวิกฤตปี 2540 เป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้บริษัทไทยมีความพร้อมในการบริหารจัดการในหลายวิกฤตที่ผ่านมา ส่วนอนาคต การนำ ESG เข้าไปอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ จะทำให้เรามีความพร้อมในการบริหารความเสี่ยงและจัดการกับวิกฤตได้มากยิ่งขึ้น” อภิศักดิ์กล่าวในตอนท้าย
นุกิจ เล่าถึงมุมมอง
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
จุดเริ่มต้นที่โอสถสภา ทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง คือเมื่อปี 2561 หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มจากการสร้างการรับรู้แล้ว ตามด้วยการสร้างให้เกิด Commitment ที่บริษัทต้องทำให้ได้ ความยั่งยืนต้องนำเข้ามาเป็นกลยุทธ์ขององค์กร
“ด้วยธุรกิจหลักของบริษัทเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำโดยตรง มีการใช้บรรจุภัณฑ์หลากหลายประเภท บริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่อง Climate Change ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะทำอย่างไรถึงจะช่วยโลกได้มากขึ้นและต้องมีคุณภาพ ตอบโจทย์ทั้งด้านความยั่งยืนและการเงิน อีกทั้งต้องทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเห็นภาพตรงกัน ซึ่งเป็นการดำเนินงานด้านความยั่งยืนแบบ end-to-end ตั้งแต่กระบวนการจากต้นทางจนถึงผู้บริโภคตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย”
นุกิจกล่าวต่อเนื่อง จากการที่บริษัทนำเรื่องความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ปัจจุบัน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ก็บรรลุเป้าหมาย โดยอยู่ใน SETTHSI Index
“เรื่องความยั่งยืนจะต้องเป็น Integrated Strategy ของทุกเรื่องใน Corporate Strategy ไม่ใช่งานเสริมหรืองานฝาก แต่ต้องเป็นงานหลักของบริษัท รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ถ้าทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน ก็จะช่วยจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น ความยั่งยืนเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย เกิดประโยชน์ทั้งต่อมนุษยชาติและต่อตัวเราเอง”
ไตรสรณ์ เผยมุมมอง
การลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกอบการขนาดเล็ก
ไตรสรณ์ ฉายภาพบริษัทจดทะเบียนใน mai เกือบทั้งหมดเป็น SMEs เข้ามาใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมทุนเพื่อการเติบโต สมาคม maiA สร้าง community ให้ผู้บริหารมาแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ระหว่างกัน ผู้บริหาร mai ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้ทุกคนได้รู้จักกัน ค้นหาโอกาสใหม่ ๆ และแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ SMEs ในการเติบโต และให้ข้อมูลกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์
“บริษัทจดทะเบียนใน mai มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในเรื่องของศักยภาพและประสบการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นสิ่งที่สมาคมฯ จะช่วยได้ในการลด Gap นั้น ด้วยการสร้างการรับรู้ (Awareness) ของ ESG ผลักดันให้เกิดการยอมรับ (Adopt) ในสิ่งเหล่านั้น และสุดท้ายคือการทำทันที (Take Action) หรือ Awareness – Adopt – Action นั่นเอง”
บริษัทจดทะเบียนใน mai ยังร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการสร้างกิจกรรมเพื่อสังคม ระดมพล CEO มา Coaching ให้ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ให้เข้าใจเรื่องการดำเนินธุรกิจ สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ นอกจากนี้ มีกิจกรรม Art for Cancer ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง กิจกรรม Virtual Run ระดมทุนเพื่อมอบให้กับสภากาชาดไทย รวมถึงเข้าร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างเป็นโมเดล ให้เกิดผลกระทบที่ดีในวงกว้าง
ธิดาศิริ เผยมุมมอง
การลงทุนอย่างยั่งยืน
ธิดาศริ สะท้อนภาพการลงทุนยั่งยืน แม้ว่าสถานการณ์การรับรู้ และลงมือทำตามแนวทาง ESG จะมีมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริง ปัจจุบันความสนใจเรื่องการลงทุนที่เน้นเรื่อง ESG ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และเรื่องจริงอีกข้อพบว่า การปฏิบัติตามหลัก ESG ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กแม้มีความเข้าใจและต้องการดำเนินการ ก็ยังติดเรื่องทรัพยากร จึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
“เราควรสร้างความตระหนักแก่นักลงทุนทั่วไป ในแง่ของการให้ความสำคัญของการนำปัจจัย ESG มาพิจารณาร่วมด้วยในการตัดสินใจลงทุน หน้าที่ของผู้จัดการลงทุนคือการสร้างสมดุลระหว่างการสร้างผลตอบแทนและประเด็นด้าน ESG ในฐานะนักลงทุนสถาบัน เชื่อว่าการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึง ESG จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนได้ ช่วยลดความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและภายในตัวธุรกิจเอง และช่วยแยกแยะและเพิ่มโอกาสการลงทุนขณะที่บริษัทจดทะเบียนก็ต้องเห็นความสำคัญของการทำ ESG ด้วย”
รายงาน Global Sustainable Review ปี 2563 พบว่าแนวโน้มลงทุนโดยใช้หลักการ ESG ใน 5 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเติบโตกว่า 50% ขณะที่ทุกภูมิภาคมีเม็ดเงินลงทุนอย่างชัดเจน และเติบโตอย่างก้าวกระโดด 1 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลกเป็นการลงทุนแบบ ESG ขณะสัดส่วนการลงทุนใน ESG ในประเทศไทยยังน้อยมาก มีแค่ 3.4% หรือ 6 หมื่นกว่าล้านบาทของมูลค่าการลงทุนกองทุนรวมหุ้นในประเทศทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท
ภาพรวมกองทุน Passive Investment พบว่าทั่วโลกมีการเติบโตตาม ESG อย่างก้าวกระโดดเช่นกัน โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป ขณะที่ กลยุทธ์การลงทุน ESG แบบ Active Investment ก่อนหน้านี้ทั่วโลกใช้ Negative Screening โดยวิธีคัดบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณาตามหลัก ESG ออกจากรายชื่อที่สามารถลงทุนได้ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ ESG Integration แทน เป็นการรวมกลยุทธ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้มากขึ้น
“การประเมิน ESG ของ KAsset จะให้น้ำหนักในแต่ละปัจจัยไม่เท่ากัน เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบในด้าน ESG ที่แตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มพลังงานจะมีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มธนาคารอาจต้องให้ความสำคัญในด้านสังคมมากกว่าธุรกิจอื่น”
ทว่า ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Market อย่างประเทศไทย ประเด็นธรรมมาภิบาลนั้นก็สำคัญเช่นกัน เพราะถ้าบริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดี ก็สามารถให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงนโยบายที่ดีและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาลของไทยมีมาก และเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยังค่อนข้างจำกัด
ธิดากล่าวในช่วงท้ายว่า การลงทุนในบริษัทที่มี ESG ต้องระวังประเด็นเรื่อง Green wash หรือการที่บริษัทที่มีการสร้างภาพลักษณ์ให้นักลงทุนเข้าใจผิดว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อ ESG แต่แท้จริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ และติดตามว่าบริษัททำตามนโยบายหรือไม่ และมีการวัดผลอย่างไร
รัตน์วลี อธิบายมุมมอง
เครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน
“หากจะบอกว่า ESG เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ชั้นยอดของทุกคน ด้านผู้บริโภค หากพิจารณาข้อมูล ESG พลังนี้จะส่งไปถึงผู้ประกอบการได้ ด้านนักลงทุน สามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุนได้อีกมิติ ขณะที่ผู้ประกอบการ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการบริหารจัดการและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้”
รัตน์วลี ขยายความต่อเนื่องถึงภาพรวมการพัฒนาความยั่งยืน มีเป้าหมายหลักอยู่ 2 ประการ คือ การส่งเสริมธุรกิจให้มีความยั่งยืน และการส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งกลไกที่เป็น 2 เครื่องมือสำคัญ ได้แก่ SET ESG Data & Disclosure และ Education
เครื่องมือแรก SET ESG Data & Disclosure ในรูปแบบ SET ESG Data Platform ข้อมูล ESG มีความสำคัญในการช่วยบริหารความเสี่ยง การบริหารนโยบายภาครัฐ การตัดสินใจลงทุน และการบริหารจัดการประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจดียิ่งขึ้น จะช่วยตอบโจทย์การดำเนินงานของทุก Stakeholder
SET ESG Data Platform คือระบบการจัดการข้อมูล ESG ที่สำคัญ คือ
• SET ESG Metrics ข้อมูลตัวชี้วัดการดำเนินงานด้าน ESG ที่บริษัทจดทะเบียนรายงาน ทำให้เห็นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความยั่งยืนของธุรกิจ และผู้ลงทุนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• ESG Structured Data จะทำให้นำข้อมูลในรูปแบบ Structured Data ไปใช้เปรียบเทียบและวิเคราะห์ต่อได้อย่างสะดวก
เครื่องมือที่สอง คือ Education กับโครงการ SET ESG Academy
โครงการ SET ESG Academy เตรียมความพร้อมให้บริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืน ทั้งการให้ความรู้ การสร้าง Junior ESG Professionals เพื่อยกระดับผู้ปฏิบัติงานด้าน ESG ให้ได้มาตรฐาน และจะผลักดันหลักสูตรนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยเพื่อผลิตบุคลากรรุ่นใหม่เข้าสู่แรงงานด้าน ESG ต่อไป
การสร้าง ESG Expert Pool รวมพลังผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG แบบพี่สอนน้อง ช่วยขับเคลื่อน ESG ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ตลาดทุน และประเทศ
สุดท้ายคือ การปลูกฝัง ESG DNA ส่งมอบความรู้ควบคู่การสร้างจิตสำนักการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืนไปด้วยกัน
“การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสู่ปีที่ 48 ในวันนี้ ทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างตลาดทุนมาด้วยกัน เป็นเหมือนการนำจิ๊กซอว์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเศรษฐกิจมารวมกัน การนำความยั่งยืนมาเป็นเรือธง ต้องทำจริง ทำทันที สื่อสาร และต้องทำร่วมกับพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน” รัตน์วลีกล่าว
ดร. ประสาร กล่าวในท้ายที่สุดว่า ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่การเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจ ผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และเมื่อมองไปข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
“ก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราพร้อมรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้อง Rethink และ Redesign เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”