NEXT GEN

ดีแทค แสนสิริ ยูนิลีเวอร์ ประกาศจุดยืน “ความเท่าเทียมทุกมิติ รับความหลากหลาย LGBTQ+” ในองค์กร สู่ Supply Chain และสังคมไทย

27 พฤษภาคม 2565…วางโรดแมปพันธกิจระยะยาว 3 ปี ผลักดันสู่ความเท่าเทียมทุกมิติในสังคมไทย แบ่งปันองค์ความรู้-ขยายแนวคิดสู่พันธมิตรคู่ค้าทางภายใต้การสนับสนุนต่อเนื่องจาก UNDP

เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) และ ณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ร่วมกันประกาศจุดยืนแกร่ง ร่วมผลักดันบรรทัดฐานใหม่สู่ “ความเท่าเทียมทุกมิติ-โอบรับความหลากหลาย LGBTQ+” ทั้งในองค์กรและสังคมไทย


เศรษฐาเริ่มกล่าวถึง แสนสิริ เชื่ออย่างแน่วแน่ว่า ทุกมิติของชีวิต คือ เรื่องความเท่าเทียม

“เราให้ความสำคัญในด้านนี้อย่างจริงจังและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นสะพานเชื่อมต่อพันมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อผลักดันส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกมิติและความหลากหลายในสังคมไทย แสนสิริ ขอบคุณพันธมิตรในปีนี้ ที่เห็นคุณค่าของความเท่าเทียมและความหลากหลายที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ ซึ่งเราหวังว่า การร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายให้ ภาคส่วนอื่นๆ เปิดกว้างยอมรับความหลากหลายในสังคมและสร้างความเท่าเทียมในทุกมิติจนกลายเป็นมาตรฐานสังคมมากขึ้น”

กว่าระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา แสนสิริ เป็นองค์กรผู้นำอสังหาริมทรัพย์ของประเทศที่มุ่งมั่นยืนหยัดส่งเสริมความเท่าเทียมและเปิดกว้างรับความหลากหลายอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ภายในองค์กรครอบคลุมตั้งแต่พนักงานและครอบครัว โดยเป็น องค์กรแรกในไทย และ 1 ในกว่า 200 บริษัทชั้นนำทั่วโลก อาทิ ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล โคคา-โคล่า เน็ตฟลิกซ์ และไนกี้ ที่ได้ร่วมลงนามในสัญญา UN Global Standards of Conduct for Business ภายใต้การสนับสนุนของ UNDP เปิดกว้างรับพนักงาน LGBTQ+ และปฏิบัติงานอย่างเท่าเทียม และล่าสุดปีนี้ กับการมอบสวัสดิการสำหรับพนักงานที่มีความหลากหลายในองค์กร ได้แก่ ลาสมรส ไม่เกิน 6 วันต่อปี, ลาผ่าตัดแปลงเพศ ไม่เกิน 30 วันต่อปี, ลาฌาปนกิจคู่ชีวิต ไม่เกิน 15 วันต่อปี, ลาเพื่อดูแลคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรม ไม่เกิน 7 วันต่อปี

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงคู่ชีวิตของพนักงาน อาทิ วัคซีนทางเลือก ประกันสุขภาพ และอื่นๆ ตลอดจนร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าหลากหลายธุรกิจชั้นนำ ธุรกิจ SMEs และธุรกิจระดับโลก ภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน ผลักดันความเท่าเทียมจากในองค์กร เพื่อสังคมไทยที่มีความเท่าเทียมกันในทุกมิติ ได้แก่ความเท่าเทียมของการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ในที่ทำงานและการผลักดันนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในองค์กร ความเท่าเทียมของทุกคนหรือลูกค้าในการมีบ้านได้ง่ายขึ้น

“แสนสิริร่วมมือกับ 8 พันธมิตรธนาคาร เปิดกว้างให้ทุกคู่ชีวิตเป็นเจ้าของบ้านแสนสิริได้อย่างเท่าเทียม ความเท่าเทียมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจกลุ่ม SMEs ที่ควรได้รับการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ตลอดจน ความเท่าเทียมการเข้าถึงสิทธิ์ลงทุนเพื่อสร้างรายได้ของทุกคนและทุกระดับ และล่าสุดกับ 2 รางวัล บทพิสูจน์ความมุ่งมั่น แสนสิริผู้นำองค์กรต้นแบบด้านความเท่าเทียม ได้แก่ รางวัลชมเชย Human Rights Award ปี 2565 จากกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมและ รางวัลองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”

ชารัด กล่าวถึงที่ดีแทค เรายึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนความหลากหลายและการมีส่วนร่วม (Diversity & Inclusion) ทั้งในระดับองค์กรและสังคม ผ่านบริการเครือข่ายของเรา รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายลาคลอด 6 เดือน ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกปี 2559 และนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ประกาศใช้ในปี 2564

“ในการจับมือกับแสนสิริและยูนิลีเวอร์ครั้งนี้ ดีแทคมุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย นำเอานโยบายด้านความหลากหลายและการมีส่วนร่วมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นการดำเนินงานของดีแทคในสามมิติ ได้แก่ แนวคิด #Inclusivedtac ดีแทคเชื่อว่าความเท่าเทียมและความหลากหลายนั้นเริ่มต้นจากการเปิดให้ทุกคนในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วม, แผนธุรกิจ ‘ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน หรือ Good for All, Good Together เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงบริการการเชื่อมต่อได้มากยิ่งขึ้น และโครงการ Safe Internet เสริมสร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์และสอนให้เด็กและเยาวชนใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และปกป้องตนเองจากภัยออนไลน์ รวมถึงการกลั่นแกล้งออนไลน์ (ไซเบอร์บูลลี่) ซึ่งครูหยิบยกไปขยายผลต่อในรั้วโรงเรียน และ ‘ข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดการไซเบอร์บูลลี่’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวทางในการหยุดยั้งการกลั่นแกล้งออนไลน์ในโรงเรียน”

 

ณัฏฐิณี กล่าวถึงความเท่าเทียม (Equality) คืออุดมคติที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่ความเสมอภาค (Equity) คือหนทางในการทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ในฐานะบริษัท ยูนิลีเวอร์สามารถเลือกที่จะให้ความเสมอภาค

“นี่คือเหตุผลที่เราให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์หาอุปสรรคในโครงสร้างของเราที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือเสมอภาค เพื่อลดอุปสรรคอย่างยั่งยืนผ่านนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และมาตรการของเรา ยูนิลีเวอร์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการของเราในการสร้างโฆษณา การสรรหาพนักงาน การประเมินประสิทธิภาพและศักยภาพ การประเมินผลเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ การพิจารณาค่าตอบแทน และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบในทางลบที่มาจากความไม่เท่าเทียมหรือเสมอภาค เรากำลังสร้างสถานที่ทำงานที่ให้ความเท่าเทียมกัน ซึ่งสนับสนุน เพิ่มขีดความสามารถ และตระหนักถึงคุณค่าขั้นพื้นฐานของผู้คนจากทุกเอกลักษณ์ ภูมิหลัง และทุกสายอาชีพ”

ยูนิลีเวอร์ประเทศไทยมีผู้จัดการระดับกลางขึ้นไปที่เป็นผู้หญิงมากถึง 66% และทำงานกับ SME ที่หลากหลาย 131 บริษัท ซึ่งหมายถึงมีเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ และบริหารโดยสมาชิกของกลุ่มที่หลากหลาย เช่น ผู้หญิง LGBTQI+ คนพิการ หรือ ชนกลุ่มน้อย 51% หรือมากกว่า เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงทักษะ แหล่งเงินทุน เครือข่ายธุรกิจผ่านโครงการพัฒนา SMEs เพื่อยกระดับความสามารถของ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับยูนิลีเวอร์ ยูนิลีเวอร์มุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการครองชีพทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สร้างโอกาสผ่านการไม่แบ่งแยก และเตรียมชุมชนให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตผ่านโครงการความหลากหลายของคู่ค้า

“เราเชื่อว่าความเสมอภาคคือผลลัพธ์ ที่สามารถรับประกันได้ว่าความสำเร็จของเราได้มาจากการรับฟังความคิดเห็น การสร้างทักษะ และประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายของพนักงานและคู่ค้าเรา”

Renaud Meyerในนาม UNDP มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่แสนสิริตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมประเด็นความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม ตลอดจนริเริ่มความร่วมมือกับดีแทคและยูนิลีเวอร์เพื่อผลักดันค่านิยมและหลักการเหล่านี้ในบริษัท และ ในสังคมไทย

“UNDP จะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของ LGBTI ในที่ทำงาน เพื่อไม่ให้ใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เศรษฐา ทวีสิน , ชารัด เมห์โรทรา
Renaud Meyer ,ณัฏฐิณี เนตรอำไพ
เปิดเผยถึงความร่วมมือครั้งนี้

พันธกิจระยะยาว 3 ปี “แสนสิริ” จับมือ “ดีแทค” และ “ยูนิลีเวอร์”ความร่วมมือในการผลักดันสู่ความเท่าเทียมทุกมิติในสังคมไทย ประกอบด้วย

เป้าหมายระยะสั้น

ปีที่ 1 : เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับ Diversity & Inclusion ที่จัดโดย UNDP อาทิ Roundtable Discussion on LGBTI Inclusion in Thai Business: The Economic Environment และอื่นๆ แบ่งปันองค์ความรู้ และกรณีศึกษา ที่แต่ละองค์กรได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานเกี่ยวกับความเท่าเทียม ตลอดจนเข้าร่วมในเวทีสาธารณะ และเวทีที่มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.), กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดัน ต่อยอด และสร้าง Ecosystem เรื่องความเท่าเทียม

เป้าหมายระยะกลาง

ปีที่ 2: ประยุกต์องค์ความรู้ เพื่อสร้างบรรทัดฐาน และแนวทางปฏิบัติร่วมกัน อาทิ สวัสดิการเพื่อความหลากหลาย เชื่อมต่อโครงการคู่ค้าทางธุรกิจ (Supply Chain) เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ, ผู้รับเหมา, คู่ค้า, และอื่นๆ ร่วมงานเสวนา หรือให้ความรู้ร่วมกันบนเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ภาคธุรกิจ และสังคม ตลอดจน ขยายวงกว้างของการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียม จากเรื่องเพศ ไปยังเรื่องอื่นๆ อาทิ เด็กและเยาวชน, สตรี, ผู้พิการ, รวมถึง ผู้สูงอายุ

เป้าหมายระยะยาว

ปีที่ 3: ร่วมมือทำแคมเปญเกี่ยวกับ Diversity & Inclusion รวมถึงการสร้างแคมเปญต้นแบบ ที่สามองค์กรริเริ่ม และพัฒนาร่วมกัน

นับเป็นครั้งแรก! 3 องค์กรต้นแบบความเท่าเทียมสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายวางโรดแมปพันธกิจระยะยาว 3 ปี ผลักดันสู่ความเท่าเทียมทุกมิติในสังคมไทย แบ่งปันองค์ความรู้-ขยายแนวคิดสู่พันธมิตรคู่ค้าทางธุรกิจ-โมเดลแคมเปญนำร่อง

You Might Also Like