NEXT GEN

บางจากฯ เลือกใช้ “หญ้าทะเล” เสริมแกร่ง “ดูดซับ-กักเก็บคาร์บอน” ตอบโจทย์ Stakeholder ทั้งใน-นอกประเทศมุ่งสู่ Net Zero 2050

12 กรกฎาคม 2565…ภายใต้ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นความท้าทายของโลก ภาคธุรกิจรู้ว่าเทคโนโลยีการดูดซับ-กักเก็บคาร์บอน เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ ขณะเดียวกันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า ระบบนิเวศทางทะเล “หญ้าทะเล”  สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบก 7-10 เท่า  และเกาะหมาก/เกาะกระดาด จังหวัดตราด เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีศักยภาพเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของหญ้าทะเล

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ กล่าวถึง “วิกฤติภาวะโลกร้อน” เป็น 1 ใน 4 เรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าปัญหาด้านพลังงาน การขาดแคลนอาหาร และภาวะเงินเฟ้อ จากการไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2022 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยกลุ่มบางจากฯ พร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยแผน BCP NET

ความท้าทายนับจากนี้เป็นต้นไป สิ่งที่คนทั้งโลกพูดถึง “สังคมคาร์บอนต่ำ” นั้น มิอาจหมายถึงมิติสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว หากหมายถึง “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” มีความเกี่ยวข้องกับต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึง Stakeholder ของบริษัททั้งใน-นอกประเทศ ที่จะต้องทำธุรกิจด้วยกันทั้งทางตรงทางอ้อม แถมมีเงื่อนไข Enviroment,Social,Governance (ESG) อย่างเข้มข้น หรือแม้กระทั่งในส่วนเม็ดเงินลงทุนต่าง ๆ ก็เปิดกว้างในผลิตภัณฑ์-บริการที่เกี่ยวเนื่องกับ “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นล สุวัจนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบาลเกาะหมาก นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน กลุ่มบางจากฯ ร่วมพูดคุยถึงแนวทาง “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ในมิติต่าง ๆ ของเกาะหมาก

บางจากฯสนับสนุนการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเล เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบ Blue Carbon โดยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ ซึ่งนำทีมโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่าง ๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่

“เราตั้งเป้า Net Zero 2050 เพราะเราเชื่อว่าต้องมีอะไรตอบโจทย์ได้ เราพยายามลดการปล่อยคาร์บอนต้นทาง เรื่องดูดซับ-กักเก็บคาร์บอน ในอนาคตที่มาจากเทคโนโลยี ในเวลานั้นจะนำคาร์บอนมาทำเป็นเสื้อผ้าได้ หรือทำเป็นเนื้อกินได้ ตอนนั้นจะคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10-15 ปีข้างหน้า ปัจจุบันเราพยายามใช้ธรรมชาติมาตอบโจทย์ดูดซับ-กักเก็บคาร์บอนที่เรามองเห็นวันนี้ ที่เกาะหมาก” ชัยวัฒน์กล่าวต่อเนื่อง

จากการสำรวจทั้งหมด 8 แหล่งทั่วเกาะหมาก/เกาะกระดาด พบแหล่งหญ้าทะเล 2 แห่งที่มีศักยภาพเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในขั้นต่อไป ได้แก่ แหล่งหญ้าทะเลที่อ่าวตาตุ่ม พื้นที่ 16,000 ตารางเมตร (10 ไร่) และแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะกระดาด พื้นที่ 19,666 ตารางเมตร (12.3 ไร่) ทั้งสองพื้นที่ยังคงมีหญ้าทะเลอยู่ แต่ขนาดพื้นที่และความสมบูรณ์ลดน้อยลง ทำให้การฟื้นคืนในธรรมชาติอาจต้องใช้เวลานานมาก จึงมีความเป็นไปได้ในการเข้าไปช่วยฟื้นฟูในบริเวณนี้ โดยแหล่งหญ้าทะเลบริเวณด้านตะวันตกของเกาะกระดาด ได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงสุดในด้าน Blue Carbon

เปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศที่เกาะกระดาด
หญ้าทะเลลดน้อยกว่าในอดีต แต่ยังคงมีเหลืออยู่พอสมควร จึงเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการฟื้นฟู
(เครดิตภาพ: คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ผลการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก คาดว่ามีการสะสมคาร์บอนได้เป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ในรายละเอียด นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต พบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความเสถียรสูงมาก ไม่มีผลกระทบขนาดใหญ่/อย่างมีนัยยะจากมนุษย์ แสดงถึงการดูแลรักษาทะเลในพื้นที่ของประชาชนเกาะหมากที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สภาพความสมบูรณ์เช่นนี้มีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว อันจะมีส่วนสำคัญต่อแผนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำสูงมาก ทั้งปูม้า หอยจอบ ปลาชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด ที่ช่วยสนับสนุนอาชีพประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวในพื้นที่

นอกเหนือจากโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเล เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบ Blue Carbon แล้ว กลุ่มบางจากฯ ยังต่อยอดมาสู่การลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination ณ บริเวณหมู่เกาะหมาก ร่วมกับอพท. คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อบต.เกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสาน บ้านอ่าวนิด โดยมีอบก.ร่วมเป็นพยาน


ภารกิจอื่น ๆ ของกลุ่มบางจากฯ ชัยวัฒน์มอบถุงมือที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบางจากฯ ก็ถูกนำมาทดลองใช้บนเกาะหมากแล้วเช่นกัน

“เรามีภารกิจอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศของเกาะหมากและพื้นที่ใกล้เคียง ในหลากหลายมิติ เช่นการนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทดลองใช้เพื่อศึกษาความเหมาะสมผ่าน อบต. เกาะหมาก สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ถุงมือและเสื้อที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลมอบให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak ซึ่งใช้ขวดพลาสติก PET ในการย่อยสลายจำนวน 2 ขวด ผลิตถุงมือได้ 1 คู่ สำหรับเก็บขยะชายหาด และทีมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด ใช้สำหรับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล สนับสนุนบัตรน้ำมันบางจากสำหรับสนับสนุนการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่น ๆ เช่น โรงเรียน Net Zero จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด”

ชัยวัฒน์กล่าวในท้ายที่สุดว่า จากโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเล เกาะหมากขณะนี้ อาจจะมีโอกาสขยายไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมในอนาคต

หญ้าทะเล @เกาะหมาก/เกาะกระดาด

You Might Also Like