16 สิงหาคม 2565… กสิกรไทย เดินหน้า GO GREEN Together ต่อเนื่อง จับมือ 4 พันธมิตร เปิดตัวโครงการ SolarPlus ตั้งเป้าติดโซลาร์รูฟให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาด ฟรี! 500,000 หลัง ภายใน 5 ปี
พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (กลาง) พร้อมด้วย ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) เขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประธานคณะกรรมการ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด (ที่ 2 จากซ้าย) ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ที่ 2 จากขวา) และอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (ขวา) ร่วมเปิดตัวโครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้แก่ประชาชนฟรี เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในไทย นำร่องโครงการที่หมู่บ้านศุภาลัย รังสิตคลอง 2
พิพิธ เริ่มกล่าวถึงแคมปญใหญ่ของธนาคาร GO GREEN Together เพื่อผลักดันให้เกิด Green Ecosystem ขึ้นมานั้น ที่ผ่านมาธนาคารฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุนตั้งแต่ต้นปี 2565 เช่น กรีน บอนด์ต่าง ๆ สินเชื่อธุรกิจเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ สินเชื่อบ้านสีเขียว สินเชื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า บริการให้เช่าใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สาขา นอกจากและจับมือกับพันธมิตรทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยใช้ชีวิต Green Lifestyle ได้ง่ายขึ้น
“กสิกรไทยเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในฐานะที่ธนาคารเป็น Future of Finance กสิกรไทยเดินทางมาจุดที่เป็น Beyond Banking และโฟกัส ESG ดังนั้น เรื่องใหม่ที่แปลกไปจากเดิมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่อาจจะเรียกว่านวัตกรรมนั้น จะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง กสิกรไทยจะกระจายเงินลงทุน 50,000 ล้านบาท ลงไปใน Green Industry ที่หลากหลาย ตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธนาคาร และเราได้เพิ่มคำใหม่ Carbon Handprint เพื่อการ Engage กับผู้บริโภคในทุก ๆ เรื่องที่จะช่วยกันให้เปลี่ยนพฤติกรรมให้มี Green Lifestyle โดยโครงการ SolarPlus เป็นหนึ่งที่กสิกรไทยและ 4 พันธมิตรร่วมกันให้เกิด Carbon Handprint”
ไตรเตชะ อธิบายเพิ่มเติมในการนำโครงการ SolarPlus มานำร่องที่ “โครงการศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 ปทุมธานี” ซึ่งเป็นโครงการแนวราบที่มีลูกบ้านเข้าอยู่แล้วจำนวนมาก ราคาบ้านเดี่ยวอยู่ระหว่าง 3-6 ล้านบาท
“เราเลือกลูกบ้านบางส่วนที่มีปริมาณการใช้ไฟค่อนข้างสูง และมีความสนใจในเรื่องโซล่าร์ รูฟ ซึ่งกลุ่มลูกบ้านเหล่านี้จะได้ใช้ไฟฟรี การนำร่อง SolarPlus ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า สามารถทำได้กับบ้านขนาดเล็กได้ จากเมื่อก่อนบ้านจะติดโซล่าร์รูฟจะต้องเป็นบ้านขนาดใหญ่ ราคา 8-20 ล้านบาท โดยการนำร่องครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งตามเป้าหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 25% ภายใน 3 ปี อีกทั้งมีแผนการติดตั้ง EV charger ที่โครงการทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ เขมรัตน์ กล่าวถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในการจัดเก็บค่าไฟจะเป็นไปตามสัญญาการให้บริการ โดยกระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้จากบ้านเรือนจะถูกจำหน่ายเข้าไปในระบบไฟฟ้า ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท
ดร.จิราพร กล่าวถึงกฟผ. ในโครงการ SolarPlusก็ได้นำแพลตฟอร์ม Peer to Peer Energy Trading ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีมงาน กฟผ. เอง และผ่านการทดลองใช้งานจริงในโครงการ ERC Sandbox เฟส 1 มาแล้ว เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการ
อีก 1 พันธมิตรที่จะต้องมีคือบริษัทให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ของโครงการพลังงานหมุนเวียน การซื้อขายใบรับรอง Renewable Energy Certification (REC) แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด โดยอธิปกล่าวว่า
“REC เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศ”
พิพิธกล่าวในท้ายที่สุดถึงความร่วมมือในโครงการ SolarPlus ธนาคารยังรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดที่เหลือจากการใช้งานของบ้านที่ร่วมโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้ในเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งกิจกรรมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อเพิ่ม Carbon Handprint ให้กับองค์กรต่อไป