24 สิงหาคม 2564…ประเด็นความยั่งยืนในภาคพลังงาน และแนวคิดและข้อปฏิบัติที่มีต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ถูกแลกเปลี่ยนมุมมองบนเวที Thailand Focus 2022 : THE NEW HOPE ความหวังใหม่ เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย ปรับตัว ยืดหยุ่น พร้อมก้าวสู่โลกใหม่อย่างแท้ยั่งยืน
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และวิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ของธุรกิจที่รับผิดชอบด้วย “ก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม” โดยมี แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ความคิดเห็นวิทยากรทั้งสาม เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนในภาคพลังงาน และแนวคิดและข้อปฏิบัติที่มีต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
สารัชถ์ กล่าวว่า ธุรกิจของ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ คือการผลิตพลังงาน ก่อนหน้านี้ก็ใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ก็มีปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการประท้วงทั้งจากภายในและต่างประเทศ
“มันยากมากที่จะทำอะไร เกี่ยวข้องกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นบริษัทจึงเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซ ซึ่งแนวโน้มภาคพลังงานจะหันมาใช้วิธีการที่ยั่งยืนมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กัลฟ์เองก็กำลังมาในแนวทางนั้นเช่นกัน ขณะนี้กำลังขยายไปในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น”
นโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวนั้น ได้แนะนำว่าประเทศไทยจะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 คือ
1.ต้องเร่งเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน
2.จำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของผู้ผลิตรายใหญ่
3.ให้ทุนสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน
4.รับรองมาตรฐานการปล่อยคาร์บอน
ชัยวัฒน์ กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ “BCP 316 NET” คือ
–B ย่อมาจาก Breakthrough Performance คือการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพและขั้นตอนการผลิตสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 30%
–C มาจาก Conserving Nature and Society คือการอนุรักษ์ธรรมชาติและสังคม ซึ่งสามารถทำได้โดยการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการปลูกป่าทดแทน ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 10%
–P ย่อมาจาก Proactive Business Growth and Transition คือการเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนถึง 60%
“ถ้าประเทศไทยสามารถทำได้ตามแนวทางนี้ ไทยก็สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างที่ตั้งใจ”
วิชาญ เล่าถึงหลักการทำธุรกิจของบริษัท มีการทำเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้อยู่แล้ว โดยเรียกว่า เส้นทาง ESG4Plus ตามแนวทางของเอสซีจี
“ที่บริษัทตั้งเป้าไว้จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล นอกจากนี้ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ หากสังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้น โดยการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะการทำงาน หรือแม้แต่การส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ก็จะช่วยในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง”
ในส่วนของเอสซีจีพีนั้น ใช้ยุทธศาสตร์ “โอบกอดความร่วมมือ (Embrace Collaboration) ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อใจ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยเอสซีจีพีตั้งเป้าว่า จะผลิตแพ็กเกจจิ้งที่รีไซเคิลได้ นำมาใช้ใหม่ได้และย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2025
ในช่วงวิกฤติและความท้าทาย ภาคธุรกิจตระหนักว่าต้องมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกับความยืดหยุ่น และคล่องแคล่วด้านการสื่อสารและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสและ ความท้าทายใหม่ ๆในอนาคต ทั้งหมดนี้จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และ เห็นโอกาสการลงทุนในประเทศไทย
No Comments