NEXT GEN

กลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกกำลังพันธมิตรแลกเปลี่ยนความรู้ หารือแนวทางใหม่ ๆ “ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน”

31 สิงหาคม 2565… กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเพื่อความยั่งยืนครั้งแรก ในหัวข้อ “ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน” เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และหารือถึงแนวทางใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน ระหว่างพันธมิตรธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเป้าหมายด้านเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการทรัพยากรน้ำ สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า”

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ยอมรับว่า งานที่เกิดขึ้นเป็นการรวมตัวของ Stakeholder โดยตรง

“เวที ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน เป็นงานที่รวมผู้ประกอบการทุกขนาดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท อะลูมิเนียม ซึ่งทางกลุ่ม TCPใช้อยู่ 60% ขวดแก้ว 36% กลุ่มพลาสติก4% โดยในส่วนนี้ถูกเปลี่ยนเป็น PET รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ขยะ ซึ่งที่กล่าวมาล้วนเป็น Stakeholder ของ กลุ่มธุรกิจ TCP”

สราวุฒิกล่าวต่อเนื่อง การก้าวข้ามความท้าทาย สู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ยั่งยืนมองเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน นั้นเกิดขึ้นทุกแห่งที่ไปลงทุน เช่นล่าสุดจะมีการสร้างโรงงานที่มณฑลเสฉวน ความมุ่งมั่นเรื่องความยั่งยืนด้วยแนวทาง ESG จะอยู่ตั้งแต่การเริ่มคิดสร้างโรงงานบนกระดาษกันเลย

สราวุฒิ อธิบายแนวทางการสร้างการร่วมมือประกอบไปด้วย 3 สิ่ง

1.‘ร่วมมือ’ เรื่องของความยั่งยืนไม่สามารถคิดคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคผู้บริโภค

2.‘การแบ่งปันทรัพยากรและความรู้’ ไม่ควรเป็นความลับ แต่ควรเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานควรแชร์กัน เพราะปัญหาเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหา

3.‘ปรับตัวและกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง’ คำว่า เป็นไปได้จริงนั้นมี 2 มิติ คือ มิติด้านเทคโนโลยีหรือวิธีการที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง และมิติที่ว่าเป้าหมายที่ตั้งนั้นคุ้มค่าที่จะทำ เช่น เรื่องบรรจุภัณฑ์ เราอาจบอกว่าอยากได้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าราคาขายให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นไปสองเท่าตัว มันอาจไม่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน มีมุมมองผู้ร่วมเสนาในครั้งนี้

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปัญหาโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่ เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยทางรัฐบาลได้ตั้งเป้าเพื่อเข้าสู่สภาวะ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ภายในปี ค.ศ. 2050 และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” ภายในปี ค.ศ. 2065

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สามารถทำได้ 2 กระบวนการใหญ่ๆ คือ

1.‘การลดการปล่อยก๊าซ’ ทั้งในเชิงนโยบาย อาทิ นโยบายการพัฒนา “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” (BCG Economy) นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนา สนับสนุนการลงทุนผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้พลังงานทดแทน ให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะ ลดน้ำเสียในชุมชน และลดการใช้ทรัพยากร

2.‘การเพิ่มการดูดซับก๊าซ’ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยเพื่อดูดซับก๊าซ และการผลักดันกลไกตลาด Carbon Credit รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้ว การกำหนดปริมาณ Carbon Footprint ให้แต่ละภาคธุรกิจ

ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวในห้วข้อ “ความยั่งยืน : กุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและการสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่”

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบซ้ำเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน การฟื้นฟูและพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ จึงต้องใช้แนวคิดที่ยั่งยืนและจริงจัง

แนวคิดเรื่องความยั่งยืนในเชิงองค์กร ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเติบโตผ่าน 2 สิ่ง

1.‘คน’ คือ ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และความหลากหลายของคนภายในองค์กร

2.‘ทุน’ คือ การลงทุนเพื่อส่งเสริมกระบวนการต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลงทุนกับเทคโนโลยี หรือ นวัตกรรมเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ กล่าวถึงหัวข้อ “นวัตกรรมเทคโนโลยีในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”

โครงสร้างการจัดการน้ำที่เปลี่ยนจากระบบ Centralization มาเป็น Localization หรือ การปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะพื้นที่ในแต่ละชุมชน สามารถช่วยเพิ่มมูลค่ามหาศาลให้กับการเกษตร และภาคเอกชนเองก็เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทางการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ร่วมกับภาครัฐและชุมชน

ยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวในหัวข้อ “rPET นวัตกรรมเปลี่ยนโลก สร้างโอกาสใหม่ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”

การเก็บกลับขวด PET เป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเก็บกลับของขวด PET สูง ถ้าเทียบกับประเทศฝั่งยุโรปและอเมริกา แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะทำให้การเก็บกลับนี้ดีขึ้นได้ ผ่าน 3 สิ่งนี้

1.‘ทำระบบการเก็บกลับอย่างจริงจัง’ ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบิติ

2.‘ทุกหน่วยงานในห่วงโซ่การผลิตต้องร่วมมือกัน’ ในการลดต้นทุนของการรีไซเคิล และไม่ให้กลายเป็นภาระต่อผู้บริโภค

3.‘การให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเก็บกลับ’ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กคนรุ่นใหม่ ที่จะกลายเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ในอนาคต ทางบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ก็มีเป้าหมายที่จะให้ความรู้เรื่องนี้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวน 1 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2030

นอกจากนี้ ภายในงานยังเปิดเวทีระดมความคิดในหัวข้อ “สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืน” โดยมี ขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP สาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด ดร.บุตรา บุญเลี้ยง Head of Climate Resilience Office and Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และ ภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนอีกด้วย

สราวุฒิ กล่าวในท้ายที่สุดสำหรับ กลุ่มธุรกิจ TCP แล้ว ตัวชี้วัดด้าน Sustainable Development ก็จะวัด KPI ของคนในองค์กรเช่นกัน !

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like