NEXT GEN

อิเกีย x STEPS เปิดพื้นที่ Inclusive Office ต้อนรับทุกความต่าง รวมถึงบุคคลมีภาวะออทิสซึม ดาวน์ซินโดรม

1 กันยายน 2565…ในโลกของการทำงานปัจจุบันสภาพแวดล้อมในที่ทำงานถือว่าสำคัญและส่งผลต่อการทำงานไม่น้อย การออกแบบที่เหมาะสมรวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ที่ดีจะช่วยให้คนสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อโลกนี้มีคนทำงานที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องของสรีระ เพศสภาพ รวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางการรับรู้

อิเกีย ร่วมมือกับ STEPS องค์กรที่ให้การฝึกอาชีพและสนับสนุนการจ้างงานให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ จัดทำพื้นที่ “Inclusive Office” หรือโมเดลออฟฟิศต้นแบบที่ออกแบบสำหรับทุกคน สานต่อความตั้งใจจริงที่จะขับเคลื่อนสังคมและโลกใบนี้ให้เป็นบ้านที่ต้อนรับทุกความต่าง…Make the world everyone’s home

“อิเกียมีมุมมองในการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าให้กับทุกคนจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราออกแบบสินค้าอิเกียมาตั้งแต่เริ่มแรก นอกจากนั้นเรามีวัฒนธรรมที่ไม่สร้างความแตกแยกและยอมรับทุกความต่างไม่ว่าจะเป็นเพศไหน รูปร่างหน้าตาอย่างไร ศาสนา สัญชาติ เชื้อชาติอะไร เราตระหนักดีถึงศักยภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ หรือ Neurodivergent people รวมไปถึงบุคคลที่มีภาวะออทิสซึม ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ พวกเขาสามารถทำงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคนได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เราจะต้องออกแบบสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยคำนึงถึงความหลากหลาย และแตกต่างของผู้ใช้งาน”

วรันธร เตชะคุณากร ผู้จัดการแผนก Inspiration & Communication อิเกีย ประเทศไทย ขยายความต่อเนื่อง ดังนั้นที่อิเกีย เวลาออกแบบสินค้า จะมองหาการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าให้กับทุกคน จากแคมเปญก่อนหน้านี้คือ Make the world everyone’s home คือบ้านที่ทุกคนเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลังจากแคมเปญนี้ก็มาเจอกับ STEPS ที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจคน

“เรามองว่าอิเกียสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหรือทำให้สังคมเราเท่าเทียมกัน เราไม่ได้ออกแบบสินค้าให้มีแค่ความสวยงาม แต่เรามองถึงเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานด้วยเกิดเป็นความร่วมมือในการทำโครงการ Inclusive Office”

แม็กซ์ ซิมป์สัน CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง STEPS Community กล่าวว่า STEPS มุ่งมั่นที่จะสร้าง Inclusive Community หรือชุมชนที่ไม่แบ่งแยก จึงเป็นโอกาสดีที่เราได้ร่วมมือกับอิเกีย องค์กรที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน ในการจัดทำโมเดลต้นแบบออฟฟิศสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความพิการ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ ออฟฟิศต้นแบบของเรามีพื้นที่ 100 ตร.ม. รองรับคนทำงาน 25 คน โดยอิเกียได้ให้การสนับสนุนด้านเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่ง

“เรามองเห็นศักยภาพของคนกลุ่มเปราะบาง เช่นผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ แต่มีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ เราต้องการสร้างการเข้าถึงงานให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ พอได้มาจับมือร่วมกับอิเกียก็ทำให้เห็นถึงมุมมองที่จะนำเอาการปรับออฟฟิศครั้งนี้ส่งต่อให้หลาย ๆ บริษัทสามารถนำไปปรับใช้และนำไปใช้กับคนกลุ่มนี้ได้”

การทำงานกับ STEPS ในครั้งนี้ทำให้อิเกียได้เข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้นทางการรับรู้มากขึ้นจนสามารถถอดรหัส 5 เทคนิคการจัดพื้นที่และออฟฟิศที่ออกแบบสำหรับทุกคน ดังนี้

1. จัดแบ่งพื้นที่ตามกิจกรรมหรือประเภทงานที่ทำ เพื่อช่วยให้คนทำงาน/พนักงาน โฟกัสกับงานที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น อาจหาตู้วางของ หรือตู้หนังสือมาช่วยแบ่งโซน

2. เลือกความสว่างและแสงไฟที่เหมาะสมกับแต่ละคน แสงไฟ หรือความสว่างมีผลต่อการทำงาน ดังนั้นการเลือกใช้ไฟที่สามารถปรับหรือกระจายความสว่าง หรือปรับความสูงได้ ก็จะช่วยให้คนทำงานแต่ละคน สามารถปรับได้ตามความชอบ โดยไม่รบกวนเพื่อนร่วมงานคนอื่น

3.เลือกเก้าอี้ที่เหมาะสมกับแต่ละคน เก้าอี้เป็นอีกหนึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่แต่ละคนมีความถนัดหรือความชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบแบบมีล้อเลื่อน บางคนชอบแบบที่อยู่นิ่ง บางคนชอบแบบมีที่วางแขน รวมถึงความสูงต่ำของพนักพิง ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เลือกเก้าอี้ด้วยตัวเอง แต่สามารถคุมโทนได้โดยการใช้สี หรือวัสดุแบบเดียวกัน

4.เลือกโต๊ะทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละคน ควรเลือกใช้โต๊ะที่สามารถปรับระดับความสูงได้ให้เหมาะกับการใช้งานและสรีระของแต่ละคน นอกจากนี้ พนักงานบางคนชอบที่จะยืนทำงานเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือบางงานจำเป็นจะต้องยืนทำงานเพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวก

5. จัดพื้นที่ให้เป็นระบบ การวางระบบ/แบบแผน (systematic) ไว้ล่วงหน้าว่าอะไรจะต้องอยู่ตรงไหนเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพื่อตอบโจทย์ workflow หรือกระบวนการทำงาน จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่อิเกียเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับ STEPS คือความเข้าใจผู้คน ศักยภาพที่มีไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามซึ่งอาจจะมีการรับรู้ที่แตกต่างกัน การออกแบบสำคัญมากที่จะช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้คนเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นทุกคนไม่ได้มีความแตกต่างในความสามารถการทำงานแต่การออกแบบสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมจะทำให้คนที่มีการรับรู้ที่หลากหลายทำงานได้ดีและมีความสุขมากขึ้น” วรันธร กล่าวปิดท้าย

 

You Might Also Like