NEXT GEN

บางจากฯ x บีบีจีไอ x ธนโชค ออยล์ ไลท์ พร้อมส่งนำ้มันหลังทำอาหาร เป็นส่วนหนึ่งเชื้อเพลิงอากาศยาน (SAF) ตามกฎใหม่ของโลก

11 กันยายน 2565… การร่วมกันทำให้เกิด บริษัท BSGF และน้ำมัน SAF รายแรกและรายเดียวในไทยพร้อมให้บริการธุรกิจการบินทั้งในและต่างประเทศ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางและขนส่งทางอากาศ

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)และ ธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด ร่วมกันอธิบายถึงความร่วมมือในโครงการผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย เตรียมจัดตั้งหน่วยผลิต SAF ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน คาดว่าจะพร้อมให้บริการอุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศในไตรมาส 4 ของปี 2567 (ค.ศ. 2024) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการเดินทางและขนส่งทางอากาศลงได้ราว 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“การให้บริการน้ำมัน SAF ก็เหมือนการเติมน้ำมันเครื่องบินธรรมดา อย่างเครื่องบินที่เราบินกัน สมมติไปลอนดอน ถึงที่หมายน้ำมันจะหมด ต้องเติมน้ำมัน SAFที่ลอนดอนแล้วบินกลับมาเมืองไทย สายการบินอื่นก็เหมือนกันสมมติ ลุฟฮันซ่า ออกจากมิวนิคมาเมืองไทยน้ำมันหมด ต้องเติมน้ำมัน SAF เพื่อบินกลับ ซึ่งจะมีสเปกน้ำมัน SAF จะระบุอยู่แล้ว โดยโรงกลั่นน้ำมันบางจากกลั่นน้ำมัน SAF เพื่อเติมเครื่องบินได้”

ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวคนใช้รถเหมือนกับการเติมน้ำมันดีเซลก็มีบี10 ผสม น้ำมัน SAF ก็เหมือนกัน จะมี SAF ผสมอยู่เริ่มต้นที่ 2% ต่อไปจะเพิ่มเป็น 5% ก็เติมเข้าไปใช้งานได้เลย

“วันนี้มีโรงงานแบบที่เราจะทำไม่กี่โรงในโลกนับนิ้วได้ และขณะนี้กำลังลูกค้ามีความต้องการรออยู่มากมาย เพราะต่อไปจะมีการบังคับเมื่อบินเข้าน่านฟ้ายุโรปแล้ว หากน้ำมันไม่มีส่วนผสม SAF สุดท้ายคุณจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ยุโรปแพงกว่าเมืองไทย 3 พันเท่า โดยคาร์บอนเครดิตที่โน่นประมาณ 80-100 ยูโร/ตัน เมืองไทยประมาณ 1 เหรียญต่อตัน นั่นจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของสายการบิน”

การร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ด้วยงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท ในสัดส่วนการลงทุนโดยบางจากฯ 51% ธนโชค ออยล์ ไลท์ 29% และ บีบีจีไอ 20% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

การร่วมทุนครั้งนี้เป็นการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระหว่างพันธมิตรทั้ง 3 มาร่วมวางรากฐานที่มั่นคงให้กับบริษัท BSGF ทั้งในด้านการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่าย ประสานความแข็งแกร่ง ระหว่าง บริษัท บางจากฯ ผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย เป็นผู้บุกเบิกการรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารในครัวเรือนเพื่อผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยเป็นรายแรก และมีความเชี่ยวชาญในการค้าน้ำมันผ่านบริษัท BCP Trading จำกัด หรือ BCPT ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ค้าน้ำมันอิสระอันดับหนึ่งในตลาดสิงคโปร์ บริษัท บีบีจีไอฯ ผู้นำอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง กิตติพงศ์ ขยายความเพิ่มเติม

“จากความชำนาญ บีบีจีไอฯ ในการปฏิบัติการโรงงานไบโอดีเซล พร้อมด้วยเทคโนโลยี และ feedstock สำหรับการผลิต SAF ทำให้กลุ่มบีบีจีไอ สามารถสนับสนุนวัตถุดิบให้กับ หน่วยผลิต SAF ได้อย่างเพียงพอ ทั้งยังมีหน่วยที่สามารถปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิต SAF เช่น กรดไขมันปาล์มและน้ำมันใช้แล้ว อีกด้วย”

ส่วนบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ฯ ผู้มีประสบการณ์ในการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารมายาวนาน  ธนวัฒน์ กล่าวว่า ธนโชคดูแลการจัดการน้ำมันใช้แล้วทั้งระบบในประเทศไทย ทำงานกับบางจากฯ มานาน  อีกทั้งรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงรณรงค์ไม่ให้น้ำมันพืชที่ใช้แล้วนำกลับไปใช้อีก และไม่ให้เอาน้ำมันพืชไปเทลงท่อน้ำทิ้ง

“เราดูแลแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดส์ทั่วประเทศไทย 100 % ดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออก 98% และเราดูแลรับซื้อน้ำมันจากผู้บริโภคครอบคลุมทุกจังหวัด ดังนั้นปริมาณวัตถุดิบน้ำมันใช้แล้วจากอาหารมีมากพอที่เข้าสู่ระบบของบริษัทBSGF เพื่อกลั่นเป็นน้ำมัน SAF”

ชัยวัฒน์กล่าวถึงอนาคต BSGF พร้อมขยายเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้น้ำมัน SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรปที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จากการลงมติของสมาชิกสภายุโรป เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กำหนดไว้ที่ 2% ในปีค.ศ. 2025 และเพิ่มขึ้นเป็น 6%, 37% และ 85% ในปีค.ศ. 2030, 2040 และ 2050 ตามลำดับ) และสอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่ให้การสนับสนุน เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

“การร่วมทุนก่อตั้งบริษัท BSGF และหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยนี้ ถือว่าเป็นบทใหม่สำหรับวงการพลังงานของประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมพลังงานสีเขียว และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญตามแผน BCP 316 NET ของกลุ่มบางจาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ 
หรือ Net Zero ภายในปีค.ศ. 2050 และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้า Net Zero ในปีค.ศ. 2065” ชัยวัฒน์กล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like

No Comments

Leave a Reply