NEXT GEN

เผย 3 เป้าหมายหลัก 3 ขั้นตอน การลงทุนอย่างยั่งยืนคือ “ทางรอด”

28 สิงหาคม 2565…KBank Private Banking ผนึก Lombard Odier ชี้การลงทุนอย่างยั่งยืนคือ “ทางรอด” จับมือ GC ตอกย้ำแนวคิด Net Zero สร้างความเติบโตให้ทั้งธุรกิจและพอร์ตลงทุน

นับเป็นเวทีที่ย้ำความยั่งยืนของโลก สามารถสร้างการเติบโตที่มั่นคงให้กับทั้งธุรกิจและการลงทุนในระยะยาว โชว์ผลตอบแทน 3 ปี ของกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี พร้อมแนะนักลงทุนปรับพอร์ตเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงผ่าน 3 ขั้นตอน ได้แก่ ปรับแนวคิดการลงทุนมุ่งสู่ Net Zero พิจารณาพอร์ตการลงทุนใหม่ และเสริมพอร์ตด้วยกองทุนเปลี่ยนโลก

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย แม็กซีม เพอเคอ Head of Sustainable Investment, Lombard Odier Investment Managers และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร GC ชวนสังคมเปลี่ยนมุมมองไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) ร่วมเวทีเสวนา “การลงทุนเพื่อความยั่งยืน: “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก” (Investment for Sustainability: Transition or Extinction)”

จิรวัฒน์ เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ รวมถึงสร้างความเสี่ยงแก่ภาคธุรกิจและการลงทุนอย่างมหาศาล

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์

“ในฐานะผู้นำด้านบริการบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารเชื่อว่า การลงทุนจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดประตูทางออกสำหรับวิกฤตินี้ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง ผ่านการสนับสนุนธุรกิจที่ปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอนาคต และกลายเป็นธุรกิจผู้ชนะในที่สุด”

หากดูจากผลตอบแทนของกองทุนเพื่อความยั่งยืนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานเหนือกว่าดัชนีชี้วัด ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าการลงทุนเปลี่ยนโลกไม่ใช่การเสียสละ หรือเป็น ‘ทางเลือก’ ที่มีต้นทุนสูงกว่าราคาเฉลี่ย แต่เป็นการสร้าง ‘ทางรอด’ ให้กับพอร์ตการลงทุนในอนาคต

แม็กซีม เสริมว่าการบริหารพอร์ตการลงทุนเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนบนกรอบแนวคิด ESG อาจไม่เพียงพอที่จะเฟ้นหาธุรกิจที่จะเป็นผู้ชนะได้ เนื่องจากมาตรวัด ESG คำนึงถึงบทบาทของบริษัทในฐานะพลเมืองของสังคม หรือ Corporate Citizenship เช่น การปฎิบัติต่อพนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนท้องถิ่น แต่การลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยเกณฑ์ในการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต (Forward-looking Metrics) ในระบบเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาคาร์บอนไดออกไซด์ลง

“เราต้องคำนึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ความสามารถของบริษัทในการบริหารจัดการต้นทุน การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และการใช้ประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่มี กล่าวคือ เราต้องให้ความสำคัญกับโมเดลธุรกิจของบริษัทที่จะขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต ควบคู่ไปกับแนวปฏิบัติ ของบริษัทในปัจจุบัน”

CR.freepik

หนึ่งในธีมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่ Lombard Odier ให้ความสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition) ซึ่งมีธุรกิจเป้าหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.Solution Providers – กลุ่มธุรกิจที่นำเสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น TSMC ผู้ผลิตชิปที่ล้ำสมัยที่สุด ซึ่งกำลังขยายกำลังการผลิตชิปสำหรับรถยนต์ประเภท EV/HEV และตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานทดแทนสำหรับฐานการผลิตทั้งหมดในปี 2573

2.Transition Candidates – กลุ่มธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และ/หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เช่น Cummins ผู้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายระบบส่งกำลังและเครื่องยนต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้นำการผลิตระบบส่งกำลังพลังงานไฮโดรเจนในรถไฟ ซึ่งสำเร็จไปแล้ว 2 ขบวนแรกในโลก และมีแผนจะเพิ่มอีก 40 ขบวนทั่วโลก

3.Adaptation Opportunities – กลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ/หรือ กระบวนการปรับธุรกิจเพื่อเข้ามุ่งสู่ Net Zero เช่น American Water บริษัทบริหารจัดการน้ำและบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการขจัดสารปนเปื้อนและฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมถึงการวางระบบการป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย

ทั้งนี้ KBank Private Banking ได้นำเสนอโอกาสในการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ผ่านกองทุน K-CLIMATE เป็นครั้งแรกในปี 2563 ซึ่งกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 10% อีกทั้งยังมีความผันผวนที่ต่ำกว่าดัชนีตัวชี้วัด นอกจากนี้ กองทุนหลักยังได้รับการรับรองเป็น Article 9 Fund โดย EU Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR) ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดของกองทุนเพื่อความยั่งยืนที่ต้องมีเป้าหมายและดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืนโดยตรงอีกด้วย

หนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่มุ่งผลักดันเรื่อง Net Zero อย่างจริงจัง คือ  GC โดย ดร.ชญาน์ กล่าวว่า  ด้วยบทบาทของผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล GC สานต่อการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่ เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

“เราให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจเดิม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันก็ได้ปรับโครงสร้างของธุรกิจ ด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น พลาสติกชีวภาพ พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง และเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง จากการเข้าซื้อกิจการ allnex ผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิว (Coating Resins) และสารเติมแต่งสำหรับงานอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายสำหรับใช้กับวัสดุ ทุกประเภท”

ดร.ชญาน์ จันทวสุ

ทั้งนี้ GC คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนสามารถสร้างผลตอบแทนในเชิงธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

จิรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มีแนวทางการผลิตและบริโภคที่สร้างความเสียหายแก่โลก สู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น หรือ CLIC Economy ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Circular) ใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและไม่ผลิตของเสียในกระบวนการ (Lean) มีความเท่าเทียมและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม (Inclusive) และไม่ส่งผลกระทบหรือทำลายสิ่งแวดล้อม (Clean) การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญของนักลงทุน โดยสามารถเริ่มต้นด้วยการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนผ่าน 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.ปรับแนวคิดในการลงทุนมุ่งสู่ Net Zero และมองความยั่งยืนในฐานะแหล่งที่มาของผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว

2.พิจารณาพอร์ตการลงทุนว่า มีสัดส่วนการลงทุนหรือกลไกด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนหรือไม่ และที่ปรึกษาด้านการลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

3.เสริมพอร์ตให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยการลงทุนในกองทุนเปลี่ยนโลกที่สนับสนุนธุรกิจผู้ชนะโดยตรง

“KBank Private Banking หวังว่างานเสวนาในครั้งนี้จะจุดประกายให้นักลงทุนหันกลับมามองเรื่องความยั่งยืนในมุมใหม่ที่มุ่งสู่ Net Zero เพราะนี่ไม่ใช่เพียง ‘ทางเลือก’ แต่คือ ‘ทางรอด’ ทางเดียวของทั้งการลงทุน ธุรกิจ เศรษฐกิจ และโลกของเรา” จิรวัฒน์ กล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like