14 ตุลาคม 2565…งาน COP27 ที่อียิปต์จัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค (Sharm El-Sheikh) ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเล ระหว่างวันที่ 7-18 พฤศจิกายน โดยเป้าหมายที่จะทําให้ COP27 เป็น “COP ที่ลงมือทำจริง” โดยเรียกร้องให้ลงมือทำในข้อตกลงที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโลกรวนก่อนหน้านี้ทั้งหมด เน้นที่การปกป้องทุกผู้คนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันทีทันใด จากภาวะโลกรวนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เมื่อพูดถึงวิสัยทัศน์ของ COP27 H.E. Sameh Shoukry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของงาน
“เราต้องเร่งลงมือทำเรื่องการแก้ปัญหาโลกรวนจริงจังทุกด้าน รวมถึงการปรับตัว และความช่วยเหลือด้านการเงิน นอกเหนือจากการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบเพื่อให้การทำตามเป้าหมาย 1.5 c เกิดขึ้นจริง ไม่มีคำแก้ตัวสําหรับความล่าช้าในการลงมือทำอีกต่อไป เราต้องลงมือจริงจัง ลงมือทําตั้งแต่ตอนนี้”
วาเอล อาบูลแมกด์ ตัวแทนคณะที่ปรึกษาของประธาน COP27 กล่าวว่า ทุกประเทศไม่สามารถมองข้ามภัยคุกคามที่มนุษยชาติกําลังเผชิญอยู่ ซึ่งเกิดจากภาวะโลกรวน พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 4% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลกอาจสูญสลายไปภายในปี 2050 อันเป็นผลจากภาวะโลกรวน และจะมีประชากร 5 ล้านคนเสียชีวิตทุกปี เนื่องจากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว ยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไหร่ การเสียชีวิตก็จะมากเป็นเงาตามตัว
“ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็คือ งบประมาณ เราจะใช้เงินแก้ปัญหาเรื่องนี้แบบไหนอย่างไร รวมถึงต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการหาแหล่งเงินทุนด้วย”
สิ่งสําคัญที่สุดคือ ต้องทำให้ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งหมายถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายลงเรือลำเดียวกัน ถ้าจะช่วยให้มนุษยชาติดํารงชีวิตยืนยาวต่อไป จะต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกจากรูปแบบไม่ยั่งยืนที่ปฏิบัติตามมานานกว่าสองศตวรรษไปสู่การปล่อยมลพิษต่ำอย่างยั่งยืน ที่สามารถดูแลคนยากจนและผู้ที่ทุกข์ทรมานจากผลกระทบด้านลบของภาวะโลกรวน
การมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจเน้นความยั่งยืนสําคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าของงาน COP27 ข้อตกลงปารีส ยอมรับว่าประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามมีสถานะความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต สิ่งนี้ทําให้ความรับผิดชอบของประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องสนับสนุนงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อช่วยประเทศกําลังพัฒนาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น
คณะผู้จัดงาน COP27 ยังชี้ให้เห็นถึงความจําเป็นในการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงินในปัจจุบันก่อนโดยตั้งเป้าสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งเพิ่มเป็นสองเท่า เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมวงกว้างในระดับโลก และเกิดการลงมือทำ เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นจริง
คณะทำงานยังเห็นด้วยกับการลงมือแก้ปัญหาของสกอตแลนด์ และเดนมาร์กว่าเป็น “การก้าวสู่ทิศทางที่ถูกต้อง” การจัดการกับความสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ปฏิบัติตามแนวทางของพวกเขา
โมฮาเหม็ด นาสร์ ประธานคณะผู้เจรจาและอธิบดีกรมสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ของกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ กล่าวว่า
“คำมั่นสัญญาที่มีในปัจจุบันเป็นแค่ระดับพื้น ๆ ไม่ใช่เพดาน ซึ่งจําเป็นต้องมีมากขึ้น ถ้าเราอยากให้เกิดการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องมนุษยชาติจากภาวะโลกรวน สภาพภูมิอากาศจะไม่หยุดแย่ลงแค่นี้ และเราไม่ควรแค่ฝัน แต่ไม่ลงมือทำ โดยคิดว่าจะจัดการปัญหาได้”
เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ให้เกิดเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย คณะทำงาน COP27 ยังได้นำเสนอ “Act Now” ภาพยนตร์ที่เน้นให้เห็นถึงอันตรายที่แท้จริง และสภาพปัจจุบันของภาวะโลกรวน จุดกําเนิดที่มนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น และโซลูชันที่มนุษย์สร้างเพื่อแก้ปัญหา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีอํานาจตัดสินใจระดับโลกหลีกเลี่ยงการถอยหลัง และปฏิบัติตามคํามั่นสัญญาเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงความจําเป็นในการลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ “เพราะไม่มีเวลาเหลืออีกต่อไปแล้ว” รวมถึงมารวมตัวกันเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริงจังในงานที่ COP27 ใน Sharm El Sheikh
ที่มา…