NEXT GEN

ถึงเวลาเอาจริงช่วยกันลดคาร์บอนฯ เพื่อเราและคนรุ่นต่อไป

21 พฤศจิกายน 2565…องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาภัยพิบัติทางสภาพอากาศ อาทิ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เกิดเพิ่มขึ้น 5 เท่า และสร้างความเสียหายมากขึ้น 7 เท่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 2 ล้านคน และสร้างความเสียหายรวมทั้งหมด 3.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ที่ผ่านมาเราจึงเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นเหตุน้ำท่วมเกาหลีใต้อย่างหนัก กระจายเป็นวงกว้างหลายพื้นที่ในกรุงโซลครั้งใหญ่สุดในรอบ 80 ปีเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปากีสถานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอันเป็นผลมาจากฝนในฤดูมรสุมตกหนักเป็นประวัติการณ์จนพื้นที่ประสบอุทกภัยขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ มาถึงพายุซูเปอร์ใต้ฝุ่นโนรูที่มีกำลังลมแรงถึง 240 กม./ชม. ส่งผลให้เกิดดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน และแนวคลื่นขนาดใหญ่หรือสตอร์มเซิร์จ และเฮอริเคนเอียนหนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มเม็กซิโกและสหรัฐโดยมีความเร็วลมสูงสุดที่เกือบ 250 กม./ชม. ใกล้เคียงกับการเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับความแรงสูงสุดของมาตรวัดเฮอร์ริเคน

ตัดภาพกลับมาที่จีน แม่น้ำแยงซีเส้นเลือดหลักของประเทศแห้งขอดเป็นประวัติการณ์จนเห็นพื้นน้ำจากปริมาณฝนที่ตกบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีต่ำสุดนับแต่มีการเริ่มบันทึกในปี 1961 ฝนขาดช่วงนานถึง 2 เดือน บวกกับระดับอุณหภูมิในประเทศสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ในขณะที่ยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนหนักที่สุดในรอบ 500 ปี

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่โลกมีต่อมนุษย์ซึ่งเราจะเห็นสภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และแนวโน้มเชิงลบนี้ดำเนินต่อไปจนถึงศตวรรษหน้า

คลิกที่รูป ที่มาภาพ

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์  เคยให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  หรือ Climate Change  ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว  หรือ Extreme Weather  เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น กลายเป็นคำตอบว่าทำไมพายุถึงหนักขึ้นทั่วโลก และแล้งหนักทั่วโลกเช่นกัน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนทั่วโลกต้องจับมือกันเรื่องการลดคาร์บอนฯ ไม่เช่นนั้นเราและโลกคงถึงจุดจบในไม่ช้า เพราะคาร์บอนฯ คือต้นเหตุของการสร้างภาวะก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิด Climate Change นั่นเอง

SD Perspectives มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะโลกรวนอย่างสุดขั้วแบบปัจจุบัน เพราะมีการปล่อยคาร์บอนฯไดอ๊อกไซด์ สะสมเป็นก๊าซเรือนกระจกมากเกินกว่าที่โลกรับได้ ดังนั้นผู้นำทั่วโลกพยายามระดมสมองเพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฯ และภาพยิ่งชัดเจนมากขึ้นหลังการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ครั้งล่าสุด ที่เข้าไปกระตุ้นให้ทุกฝ่ายออกตัวแรงขึ้นกว่าเดิม

“แม้ประเทศไทยจะปล่อยคาร์บอนฯในปริมาณที่น้อยถ้าเทียบกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ จีน และอินเดียก็ตาม แต่ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินไป ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยคาร์บอนฯอยู่ดี ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมาย Net Zero และค่าความเป็นกลางทางคาร์บอนฯซึ่งเป็น Requirement ของโลก”

ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นพัฒนาการจากหลายภาคส่วน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนเริ่มขยับตัวอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยทำเพียงกิจกรรมเพื่อสังคมหรือCSR ก็หันมาลงลึกเรื่องความยั่งยืนด้วยแนวทาง ESG (Environment,Social,Governance) ในระดับกระบวนการผลิต โครงสร้างการทำงานปรับสัดส่วนการลงทุน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฯอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่เราจะเห็นได้จากองค์กรขนาดใหญ่อย่าง บุญรอดบริวเวอรี่ , พีทีทีจีซี ฯลฯ ในเวลาเดียวกันในสถาบันการศึกษาได้ให้ความสำคัญมาสักระยะแล้ว ในการทำมหาวิทยาลัยสีเขียว รวมถึงภาครัฐก็ได้ประกาศแนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย SDGs นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่แสดงว่าแรงขับเคลื่อนกำลังจะไปกันทั้งองคาพยพ

หันกลับมามองความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในบริษัทขนาดเล็กกันบ้าง คงต้องยอมรับว่าหากไม่ใช่ Sustainable Enterprise เราจะเห็นการขยับตัวในกลุ่มนี้น้อยมาก ดร.ว่าน กล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทขนาดเล็กยังขาดความรู้ความเข้าใจ และการส่งเสริมจากภาครัฐส่วนตัวจึงคิดว่ารัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาส่งเสริมในเรื่อง ESG โดยเฉพาะ และต้องมีผู้รู้จริงในระดับสากล เพื่อเป็นพี่เลี้ยง หรือ Mentor ให้กับบริษัทเหล่านั้น

“อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ องค์กรขนาดใหญ่ที่เขาทำด้านนี้อยู่แล้วสามารถเข้ามาเป็น Mentor ให้กับบริษัทขนาดเล็กได้ด้วย โดยนำเอา Best Practice ต่างๆ มาถ่ายทอด หรือนักวิชาการตามสถาบันต่างๆ ก็ต้องทำเรื่อง ESG, SDGs ,BCG เพื่อจะได้มีความรู้ประสบการณ์ในการให้คำปรึกษากับบริษัทต่างๆ อีกที หากทุกคนหาทางช่วยกัน ร่วมมือกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ แล้วไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด จะส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับประเทศได้ด้วย ถ้าภาครัฐและเอกชนสร้างการตระหนักรู้ได้ดีในวงกว้าง ผมเชื่ออีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพการขับเคลื่อนในเรื่องนี้เยอะมากขึ้น เพราะเพียง 2565 ปีเดียว มหาวิทยาลัยของเราได้รับการติดต่อจากบริษัทต่างๆ เข้ามาขอคำปรึกษาหรือใช้งบทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมและชุมชนภายใต้แนวทาง ESG มากขึ้นชี้ได้ว่าเกิดการเคลื่อนทัพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา”

และนี่คือตัวอย่างภาคเอกชนที่ใช้ความถนัด ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร ตลอดจนเครือข่ายที่ตัวเองมีอยู่นำมาประยุกต์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น ทรู นำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไปคำนวณผลคาดการณ์ค่าต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับไอบีเอ็ม ที่มีเทคโนโลยี AI อยู่แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือตรวจวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนฯของต้นไม้ให้มีความเที่ยงตรงมากขึ้น รวมถึงนำมาใช้เพื่อสำรวจสภาวะของมหาสมุทรเพื่อนำเป็นข้อมูลในการวางแผนและหาทางออกให้กับวิกฤตทางทะเล ด้านเอสซีจี คิดค้นนวัตกรรมพลาสติก SCGC GREEN POLYMER™ บรรจุภัณฑ์กระดาษ รีไซเคิลช่วยลดใช้ทรัพยากร ลดโลกร้อน CPAC 3D Printing Solution เทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นรูปแบบ 3 มิติ ที่ออกแบบได้หลากหลาย รวดเร็วและลดวัสดุเหลือทิ้ง

ส่วนสถาบันการเงินอย่างกรุงศรี มีการต่อยอดความเชี่ยวชาญของ Zeroboard สู่ลูกค้าธุรกิจในการให้บริการการคำนวณและแสดงผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราการใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงานในสายการผลิต การจัดการของเสียและ Supply Chain

อีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด รวมทั้งบริษัทภายในเครือ ซึ่งที่ผ่านมา บุญรอดฯ​ ให้ความสำคัญกับความสามารถในการส่งมอบคุณค่าจากการดำเนินธุรกิจไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งห่วงโซ่​ รวมทั้งการสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ​​​นำมาซึ่งความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างสมดุลจากทั้ง 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามกรอบ ESG ​(Environment, Social, Governance) ภายใต้แนวคิด “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” ​

โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนมาจากภายในองค์กรตัวเองก่อน ​ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพจากกระบวนการ หรือเครื่องมือในการทำงาน รวมถึงการลงทุนนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับองค์กรแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมกันด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานสะอาดภายในกระบวนการผลิตและโรงงานในเครือ เช่น การเปลี่ยนมาใช้รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าสำหรับการใช้งานภายในโรงงาน แทนการใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงแบบเดิม เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ รวมทั้งไม่เกิดไอความร้อนจากการเผาไหม้ จึงช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงงาน และช่วยประหยัดการใช้พลังงานในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง ประกอบกับการติดตั้งระบบแผงโซลาร์ เพื่อนำพลังงานหมุนเวียนที่ได้มาใช้ภายในโรงงานเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่การติดตั้งระบบ Automation Warehouse Smart Lighting เพื่อบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการสิ้นเปลืองได้มากขึ้น

ด้านระบบการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มของบรรจุภัณฑ์​ ทางบุญรอดฯ พยายามเพิ่มปริมาณวัสดุที่มาจากกระบวนการรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้น้อยลง​เมื่อเทียบกับการนำทรัพยากรใหม่มาผลิตทั้งหมด รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการผลิตบรรจุภัณฑ์ขั้นต้น เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง ทั้งจากฉลากหรือตัวบรรจุภัณฑ์เองที่อาจทำให้บางลงกว่าเดิม รวมทั้งการแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตในมิติของความพยายามเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด ​

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม จึงเชื่อมโยงมาสู่การดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ทั้งการลดปริมาณการใช้น้ำในระบบให้น้อยลง รวมทั้งการใช้อย่างมีคุณค่าและสร้างให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด อย่างเช่นที่โรงงานบางเลน โรงงานขอนแก่น และโรงงานปทุมธานี มีการสร้างระบบ​ Biogas Storage เพื่อกักเก็บก๊าซที่เกิดจากระบบการบำบัดน้ำเพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยมลภาวะและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเทียบเท่าการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ใหญ่ 7.3 ล้านต้นต่อปี และการมีโครงการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทางจากป่าต้นน้ำ มาสู่กลางน้ำอย่างแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ ไปจนถึงปลายทางคือการสร้างความยั่งยืนให้แก่ทะเลไทย

การขับเคลื่อนมิติต่างๆ เหล่านี้ของบุญรอด ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบ​ต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อวิกฤตสภาพอากาศที่เป็นความกังวลของผู้คนทั่วโลก ซึ่งบริษัทฯ​ ได้วางเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การขับเคลื่อนธุรกิจสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้น้อยที่สุด โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้น-ระยะยาว จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงอย่างต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนในมิติต่างๆ ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานโดยตรงให้น้อยลง ​รวมทั้งการปรับกระบวนการในการผลิตบรรจุภัณฑ์​ เป็นต้น

 

นอกจากขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการภายในธุรกิจแล้ว บุญรอดฯ ยังคำนึงถึงมิติในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่พร้อมเข้าไปสนับสนุนและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับแต่ละพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในชุมชน เช่น การให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาป่าในพื้นที่ภาคเหนือของโรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงในการเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง นำมาทั้งการสูญเสียพื้นที่ป่าโดยรวม รวมทั้งเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบทั้งต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสุขภาพของผู้คนในชุมชนอีกด้วย

สิ่งที่บุญรอดขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนในพื้นที่คือ การให้ความสำคัญกับการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การปลูกทิ้งไว้ แต่ต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่คัดเลือกพันธุ์ไม้มาปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ลักษณะของดิน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดให้มากขึ้น และมีการขับเคลื่อนดูแลร่วมกันจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาควิชาการ เอกชน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำ รวมทั้งความร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คนในชุมชนนั้นๆ
เมื่อสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งต้นน้ำ เป็นการสร้างแนวกันไฟได้ตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียเมื่อเกิดไฟป่า รวมทั้งยังสามารถฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กลับมาสมบูรณ์ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ต้นไม้ต่างๆ เมื่อโตเต็มที่ก็จะให้พืชผลตามธรรมชาติ รวมทั้งการมีพื้นที่ป่าอุดสมบูรณ์ก็ช่วยเพิ่มทรัพยากรให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถนำมาเลี้ยงปากท้องได้ตามวิถีชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ดร.ว่านขยายความเพิ่มเติมถึง บุญรอดบริวเวอรี่ ว่าทำโครงการหลากหลายมากเกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งปลูกต้นไม้ทดแทน ห้องเรียนปลอดฝุ่น สร้างแนวกันไฟป่า และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากไฟป่า การควบคุม การป้องกันไฟป่าอย่างถูกต้องปลอดภัยให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่

“อย่างที่บอกไปว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโลกร้อน ซึ่งถ้าเราพูดถึงคาร์บอนฯ ไม่ได้มีแค่ CO2แต่ยังมีก๊าซมีเทน และคาร์บอนฯแบล็ค เรียกอีกอย่างว่า BC เป็นส่วนประกอบของฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศจากควันเขม่า และไฟป่า ถ้าเราลดฝุ่นควันตรงนี้ได้ นอกจากจะลดอุณหภูมิให้กับโลกแล้ว ยังลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชากร คนเข้าโรงพยาบาลน้อยลง ลดความจำเป็นในการเดินทาง ทุกอย่างเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันไปหมด”

การแสวงหาความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่เขาอยู่หรือเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะปลูกฝังจิตสำนึกในวงกว้างแล้ว ยังทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน จากตัวอย่างของบุญรอดบริวเวอรี่ ใช้พลังของสิงห์อาสา ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของเยาวชนจากสถาบันต่างๆ มาลงพื้นที่ช่วยสังคมร่วมกับคนในชุมชน

“สิงห์อาสาเป็นเครือข่ายที่กว้างมาก และเป็นแหล่งรวมของเยาวชนจิตอาสาจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ และมีส่วนในการสร้างค่านิยมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กรุ่นใหม่ สังเกตได้จากเวลาสิงห์อาสามีกิจกรรมในต่างจังหวัดมักได้รับความร่วมมือกับนิสิตนักศึกษาเป็นอย่างดี แม้พื้นที่จัดกิจกรรมจะไกล เดินทางลำบาก หรือภูเขาสูงขนาดไหน เขาไม่เคยเข็ดและพร้อมที่จะไปร่วมทุกทริป เท่าที่ผมเห็นจะเป็นเด็กกลุ่มเดิมๆ และเขายังพาเพื่อนใหม่ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมอีก ทำให้เครือข่ายสิงห์อาสาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาสัมผัสได้ว่าช่วยสังคมได้จริง”

สุดท้ายแล้ว ภาครัฐและเอกชนฝ่ายเดียวคงไม่สามารถกอบกู้โลกได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในประเทศไทยช่วยกันออกแรง หรือไม่ก็เปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด

เพราะนี่คือ “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก”

 

You Might Also Like