NEXT GEN

Sustainability Direction 2023 @ เนสท์เล่ ประเทศไทย 130 ปี

21 มีนาคม 2566… มุ่งขับเคลื่อนงาน 4 ด้านในหลักการ ESG สู่เป้าหมาย Net Zero 2050 บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก การดูแลจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องปรัชญาการทำงาน Good food, Good life

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเนสท์เล่ อินโดไชน่า เจนิกา คอนเด ครูซ ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมองค์กรและความยั่งยืน และทาธฤษ กุณาศล ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกันกล่าวถึงภารกิจที่กำลังทำภายใต้ Sustainability Direction 2023

วิคเตอร์ เซียห์ เริ่มกล่าวถึงการเคลื่อนงาน 4 ด้านของ เนสท์เล่ ประเทศไทย 130 ปี เริ่มต้นที่

บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ต้องไม่มีบรรจุภัณฑ์ เนสท์เล่ไปสู่บ่อฝังกลบ ซึ่งเนสท์เล่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ลดการใช้วัสดุใหม่ 1 ใน 3 บรรจุภัณฑ์เนสท์เล่ ประเทศไทย 95% ได้รับการออกแบบให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และอีกไม่นานก็จะถึงเวลาการใช้ขวด rPET ในประเทศไทย นอกจากนี้เนสท์เล่ยังเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่ใช้นวัตกรรมหลอดกระดาษโค้งงอกับเครื่องดื่มไมโล นมกล่องเนสท์เล่ เป็นต้น

การดูแลจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โรงงานน้ำดื่มเนสท์เล่ ประเทศไทยในจังหวัดอยุธยาสามารถทดแทนน้ำ ปรับปรุงน้ำในคลองขนมจีนกลับคืนสู่ธรรมชาติและชุมชนได้เท่ากับที่ใช้ไปในโรงงานน้ำดื่มของบริษัท 100%

เจนิกา ขยายภาพในเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องทำงานผ่านกลยุทธ์ CSR ที่เป็นโนฮาวของเนสท์เล่ ในการร่วมมือกับชุมชน ครู นักเรียนดูแลสายน้ำ โครงการแรกเป็นโครงการเกี่ยวกับการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อชดเชยน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติและชุมชน เนสท์เล่ได้ต่อยอดความสำเร็จจาก “โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ”ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สู่พื้นที่ชุ่มน้ำหนองทุ่งทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งอีกแห่งของโรงงานผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่

“โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นการให้ความรู้ รวมทั้งร่วมมือกับชุมชนและโรงเรียนในการหาแนวทางแก้ไขให้เหมาะกับความต้องการและปัญหาของแต่ละชุมชนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองทุ่งทอง นอกจากนั้น เนสท์เล่มุ่งมั่นที่จะทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำหนองทุ่งทองเป็นแรมซาร์ไซต์ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญและได้รับการยอมรับในระดับสากลภายใน 5 ปี ผ่านการแต่งตั้งตามอนุสัญญาแรมซาร์”

การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน มีการใช้เมล็ดกาแฟที่มีการจัดหาอย่างยั่งยืน 100%ทั้งกาแฟโรบัสต้า และอาราบิก้า เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรปลูกกาแฟถึง 88 % พร้อมกันนี้ยังมีโครงการคือ การปลูกป่าในไร่กาแฟ โดยการจับมือกับ PUR Projet เพื่อปลูกและดูแลต้นไม้ในพื้นที่ไร่กาแฟในจังหวัดระยอง

เจนิกา ขยายความต่อเนื่อง เนสท์เล่ระดับโลกมีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ให้ได้ 200 ล้านต้นภายในปี 2030 ในประเทศไทยได้ร่วมมือกับ PUR Projet เพื่อปลูกต้นไม้ 800,000 ต้น ในไร่กาแฟที่จังหวัดระนองและชุมพร ในปีที่ผ่านมา ได้เริ่มปลูกต้นไม้ไปแล้ว 50,000 ต้น และจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2026 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประมาณ 200,000 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ปิยนุช ยุดกระโทก เกษตรกรฟาร์มโคนม จังหวัดนครราชสีมา ที่ร่วมงานกับเนสท์เล่ครั้งแรกในปี 2018 ในการฝึกอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือโครงการ Nestlé’s AI Training Program for Young Dairy Farmers ให้มีความรู้เกี่ยวกับวิธีต่าง ๆ ในการบริหารจัดการทำฟาร์มโคนม ได้บอกเล่าประสบการณ์ว่า
“ตั้งแต่เรียนจบมาก็กลับมาช่วยแม่ทำฟาร์มโคนมที่บ้านด้วยวิธีที่แม่ทำมาโดยตลอด แต่พอได้ความรู้และคำแนะนำจากเนสท์เล่ที่เข้มข้นและต่อเนื่อง ทำให้เราได้รับความรู้มาปรับใช้ในฟาร์ม รวมทั้งทฤษฎีเกษตรฟื้นฟูที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และยังให้ผลผลิตดีขึ้นด้วย ปัจจุบันสามารถผสมพันธุ์วัวเองได้ รู้สึกภูมิใจมากที่ฟาร์มของเราได้เป็นต้นแบบให้เกษตรกรโคนมรายอื่น และอาชีพของเราสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองและสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลก”

ที่ฟาร์มโคนมดังกล่าว มีผู้เลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น 180 ราย ที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมให้มากขึ้นด้วยองค์ความรู้ใหม่ในการบริหารจัดการ ทาธฤษกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการด้านความยั่งยืนกับเกษตรกรฟาร์มโคนมว่า

“เนสท์เล่เข้าไปส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการจัดการฟาร์มโคนมตามทฤษฎีเกษตรฟื้นฟูใน 3 ด้านหลักคือ ระบบโภชนะวัว การจัดการของเสีย และให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อใช้พลังงานทดแทนในฟาร์ม เรายังได้เข้าไปแนะนำ ส่งเสริมวิธีการทำปศุสัตว์ที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร และผลักดันให้เกษตรกรโคนมทุกรายที่ส่งน้ำนมดิบให้เนสท์เล่ผ่านมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีจากกรมปศุสัตว์ แล้วทั้งหมด 100%”

การจัดการฟาร์มโคนมตามทฤษฎีเกษตรฟื้นฟูในด้านระบบโภชนะวัว หรือเรื่องอาหารที่ใช้เลี้ยงวัว คือการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อโภชนาการที่สูงกว่าการกินฟางแห้ง ๆ เพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรด้วย ถัดมา คือการจัดการของเสีย มูลวัวที่เกิดขึ้นถือเป็นการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ เนสท์เล่จึงส่งเสริมการจัดการมูลวัวอย่างเป็นระบบด้วยการติดตั้งเครื่องแยกกากจากมูลวัว และเครื่องไบโอแก๊ส เพื่อนำของเสียเหล่านี้ไปใช้เป็นพลังงาน และด้านสุดท้าย การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อใช้พลังงานทดแทนในฟาร์ม โดยเนสท์เล่ได้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในฟาร์ม

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 20% ตามเป้าหมาย 2050 ซึ่ง กลุ่มธุรกิจไอศกรีมของเนสท์เล่ เป็นธุรกิจแรกในกลุ่ม FMCG ของไทยที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ในกระบวนการผลิต ผ่านการร่วมมือกับ กฟผ.ในรูปแบบการซื้อขายพลังงานทดแทนแบบเจาะจงแหล่งที่มา และปัจจุบันโรงงานทั้ง 6 แห่งกำลังเปลี่ยนใช้พลังงานโซลาร์

ทั้งนี้ แคมเปญทางการตลาด มีกิจกรรมการให้ความรู้ในปี 2023 อย่างต่อเนื่อง เช่น เนสท์เล่คาราวานครอบครัวแข็งแรง และ โครงการสาสุขอุ่นใจ โดยการให้ความรู้แก่ชาวไทย 300,000 คนทั่วประเทศ ด้านการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม เสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและมีความสุข

วิคเตอร์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า ผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 45 ปี เริ่มตระหนักถึงความยั่งยืนมากขึ้น คนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ต้องการสนับสนุนแบรนด์ที่มีแนวทางด้านความยั่งยืน และคาดหวังมากขึ้นว่า แบรนด์จะทําหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความโปร่งใสมากขึ้น สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์รักษ์โลก ผู้บริโภคใส่ใจว่า ผลิตภัณฑ์มีที่มาจากไหนและผลิตมาอย่างไร ทุกวันนี้ คนไทย 62% ระบุว่า ได้นําแนวการบริโภคอย่างยั่งยืนมาใช้ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ (ที่มา…เทรนด์ผู้บริโภคเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์รักษ์โลก มีที่มาจากงานวิจัยโดยมินเทลในปี 2022)

 

You Might Also Like