24 พฤษภาคม 2566….กสิกรไทย ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ฉายภาพการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวทาง ESG ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้อย่าช้า ซึ่งไม่ได้เพียงเปลี่ยน Mindset ในการทำธุรกิจ แต่เปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน ย้ำเรื่องนี้ “ไม่ใช่ทางเลือก” แต่เป็นทางรอดทางเดียวที่พวกเราจะไปต่อ และทุกคนต้องร่วมมือกัน จึงชวนธุรกิจก้าวกระโดดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ชี้ธุรกิจมีโอกาสโตกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปยอมจ่ายเพื่อสินค้ารักษ์โลก
3 สิ่งต่อไปนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องครบถ้วน น้ำท่วม คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง ล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เกิดเพิ่มขึ้น 5 เท่า และสร้างความเสียหายมากขึ้น 7 เท่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 2 ล้านคน และสร้างความเสียหายรวมทั้งหมด 3.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลภัยพิบัติทางสภาพอากาศจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนที่โลกมีต่อมนุษย์ ซึ่งเราจะเห็นภาวะโลกรวน ที่สภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และหากไม่ลงมือทำอะไรเลยแนวโน้มเชิงลบนี้ดำเนินต่อไปจนถึงศตวรรษหน้า
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมีความตั้งใจสื่อสาร โลกของเราที่เกิดภาวะโลกรวน ขณะนี้ส่งผลกระทบมากมาย จำเป็นต้องร่วมกันแก้ปัญหาจะต้องก้าวกระโดดไป เพราะว่าเวลาไม่รอเราแล้ว
“เราจะก้าวกระโดดเรื่อง Sustainability และ ESG เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้ได้คอนเฟิร์มความรู้สึกของเราว่ามีความสำคัญ เพราะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดทางเดียวที่พวกเราจะไปต่อ และทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยจะเปลี่ยน Mindset การทำธุรกิจของเรา และยังเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตการดำเนินธุรกิจของเราด้วย เพื่อเดินทางร่วมกันสู่เป้าหมาย net Zero นี่คือโอกาสทางธุรกิจ แต่ระหว่างทางจะต้องเจอเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับเป็นความท้าทาย”
ขัตติยาขยายความถึงการลงมือทำงานด้วยแนวทาง ESG คือ Environment, Social และ Governance โดยจะต้องทำทั้ง 3 เรื่องพร้อมกัน ไม่สามารถเลือกทำเฉพาะตัวใดตัวหนึ่ง เพราะ Environment คือเรื่องสิ่งแวดล้อม Biodiversity ส่วน Social การดูแลพนักงาน การดูแลสุขภาพของพนักงาน และพัฒนาให้พวกเขาเก่งขึ้นไป รวมถึงการดูแลสังคม การสร้างความเท่าเทียม การเข้าถึงทางการเงิน สุดท้าย Governance เมื่อมีความตั้งใจต้องตั้งเป้า ติดตามความก้าวหน้า ESG
“ธนาคารตั้งเป้าเรื่องนี้ 3 ปี เตรียมงบสินเชื่อ 1-2 แสนล้านบาทในการช่วยลูกค้าปรับเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงไม่ใช่คอนเซ็ปต์ จากรายงานของ McKinsey พบว่ามีกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน จำนวน 11 กลุ่ม เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจเกษตร และธุรกิจน้ำมันและก๊าซ สามารถสร้างรายได้รวมกันมากกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ภายในปี 2030 โดยกสิกรไทยจะเริ่มที่กลุ่มน้ำมัน ถ่านหิน เหมืองแร่ พลังงาน เพราะเมื่อทำไปแล้วจะช่วยเรื่องการลดอุณหภูมิของโลกได้มากที่สุด ต้องเริ่มทำกลุ่มนี้ก่อน”
การเริ่มโฟกัสกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ส่วนหนึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยร่วมกับกับธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์เรื่อง NET ZERO ขั้นตอนต่อไปจะมี หนังสือคู่มืออ้างอิงข้อมูลทางการเงิน กฎระเบียบต่าง ๆ ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภาวะโลกรวน และจะเริ่มพูดคุยกับลูกค้าที่มีความเร่งด่วนก่อนที่ธนาคารจะเข้าไปช่วยแนะนำแก้ไข และให้สินเชื่อพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดว่าเรื่อง Sustainability และ ESG ยังอีกไกลจากธุรกิจที่ทำอยู่ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะคู่ค้าไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ จะถามถึงข้อมูลเหล่านี้ นอกจากนี้ อาจจะเจอความเสี่ยงจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม จะกลายเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันทางธุรกิจ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ธุรกิจจะได้จาก ESG คือ
1.เพิ่มโอกาสและรายได้
2.ลดต้นทุน
3.ลดความเสี่ยง
4.สร้างความภูมิใจให้พนักงาน
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทต้องทำธุรกิจยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของทุกตลาดเงินทุน สร้าง Brand Purpose รวมไปถึงคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เท่าทันการแข่งขัน
“วันนี้ Sustainability ถือเป็น License to Grow หรือใบอนุญาตสำคัญให้ธุรกิจมีสิทธิเติบโตในระยะยาวอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเติบโตที่ทุกคนต้องการและมีคุณภาพมากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน”
วราวุธ ศิลปอาชา รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงปัญหาภาวะโลกรวน โดย ทส.ได้ยกระดับการทำงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย NDC (ปี 2030) ในภาคพลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคของเสีย และภาคเกษตร พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน
“กระทรวงอยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับจาก Voluntary เป็น Mandatory เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาคาร์บอน และกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต และเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ที่จะไปสู่ Net Zero”
ขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาลทั้งจากนักลงทุนทั่วไป Venture Capital ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่ในอนาคตจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้ธุรกิจสีเขียวเหล่านี้เติบโตได้เต็มศักยภาพ
“การแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นความร่วมมือ ทุกฝ่ายล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้โลกใบนี้เปลี่ยนผ่านไปได้ จากงานสัมมนา EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth ตลอดทั้งวัน จำนวนกว่า 2,000 คน ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรม JUMP Startup Clinic เพื่อให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพที่มองหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ โดยมีธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ารับคำปรึกษาในงานกว่า 100 ราย นับจากนี้ต่อไป อยากเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจังเพราะ Sustainability เป็นเรื่องของทุกคน หากเราทำสำเร็จเราจะพบดินแดนใหม่ที่สดใสอย่างแน่นอน” ขัตติยากล่าวในท้ายที่สุด