20 มิถุนายน 2566… จากภารกิจหลักของ AIS อุ่นใจ CYBER ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ด้วยทักษะด้านดิจิทัล พัฒนาบริการ-คัดสรรโซลูชันดิจิทัล และวันนี้ได้ยกระดับการทำงานขึ้นไปอีกขั้นด้วยการสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยกับ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) และเปิดเผยข้อมูลให้ผู้สนใจนำไปใช้ เพื่อร่วมกันการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
บทบาท AIS ตั้งใจและมุ่งมั่นในการเป็น Digital Life Service Provider ขับเคลื่อนให้ทุกคนได้ใช้เทคโนโลยีอย่างดีที่สุด ด้วยแนวทาง ESG ซึ่งภายใต้บทบาทดังกล่าว นอกจากธุรกิจแล้ว บริษัทจะต้องคำนึงถึง Stakeholder อื่น ๆ โดยเฉพาะในภาคสังคมที่ไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังรวมถึงการป้องกันภัยไซเบอร์อีกทางหนึ่ง
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ขยายความถึงบทบาท AIS จากปี 2019 ที่ AIS ประกาศภารกิจ อุ่นใจ CYBER การใช้ดิจิทัลที่ถูกต้องที่ดีเริ่มจากเยาวชนต้องเป็นอย่างไรนั้นประกอบด้วย
“เราเริ่มสร้าง Awareness เพื่อให้คนรู้ว่า การใช้ดิจิทัลอยู่ที่มือเราเองจะทำให้เกิดผลบวกหรือลบ จึงต้องมีความตระหนักรู้ ขณะเดียวกัน AIS ทำสินค้าและบริการให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้นเช่นการเปิดตัว AIS Secure Net , Family Link เราทำงานกับ Google เรามีโปรแกรมการันตีว่า เมื่อใช้งานของเราแล้ว จะไม่ถูกแฮกเกอร์เข้ามาได้ง่าย ๆ หรือถูกบูลลี่ง่าย ๆ สิ่งเหล่านี้เราทำมาตลอด รวมถึงการที่เรามีหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ตั้งแต่ปี 2019 ร่วมกับสิงคโปร์ในหลักสูตร DQ หรือ Digital Quotient ความฉลาดทางดิจิทัล ให้องค์ความรู้ และป้องกันความเสี่ยงให้กับเยาวชน จนกระทั่งปี 2021 หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับกับบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทยก็เกิดขึ้น”
AIS ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เป็นของคนไทย เริ่มใช้ปี 2022 พร้อมทั้งเปิดอบรมครู และนำไปสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 250,000 คน ที่ผ่านหลักสูตรนี้
“AIS เดินหน้าบทบาทนี้ และขยายเครือข่ายมากขึ้น จากวันนี้จะก้าวต่อไปเป็นการพัฒนา การร่วมมือกับมจธ.ทำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ว่าการใช้งานดิจิทัลของคนไทยเป็นอย่างไร มาตรวัดดัชนีดังกล่าวนี้เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้เพื่อร่วมกันการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
สมชัยอธิบายต่อเนื่องว่า สถิติส่วนหนึ่งบอกให้รู้ว่าคนไทยใช้งานบนมือถือ 7-8 ชั่วโมงบางคนใช้มาก 10 ชั่วโมง วันหนึ่งเรามี 24 ชั่วโมง นอกจากนี้การใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเอเชียแปซิฟิกมีคนใช้งานดิจิทัล 1,200 ล้านคน และอีก 3 ปี ข้างหน้าคือ 2025 จะมีการใช้งานถึง 1,500 ล้านคน หมายถึงว่า ดิจิทัลแทรกซึมเข้าไปทุกคนเป็นที่เรียบร้อย สมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือเราทรงพลังมาก เสมือนคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ ๆ ในมือถือ ทำอะไรก็ได้ทุกที่ทุกเวลา ง่ายสะดวก
“AIS อยากทำ Digital for THAI ตามที่เคยมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้ แต่วันนี้ไม่พอแล้ว เพราะทุกคนมีดิจิทัลหมด ในเมืองไทยดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ เราอยากจะพูดถึง Cyber Wellness for THAI ทำอย่างไรให้คนไทยรู้จักการใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ ซึ่งก็มีพร์ทเนอร์จำนวนมากที่ได้ให้ความร่วมมือใน ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)”
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. กล่าวถึงการทำงานกับ AIS อุ่นใจ CYBER มาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิด “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index”ตามหลักมาตรฐานของการวิจัย มีความถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ นับเป็นครั้งแรกของการทำงานวิจัยที่ครอบคลุมทุกมิติทั่วประเทศ จากปกติจะทำเป็นเรื่อง ๆ ของภัยไซเบอร์ เช่นการบูลลี่ หรือเรื่องอื่น ๆ
ส่วนรูปแบบการทำงาน มีการประสานงานเครือข่ายคุณครูในโรงเรียนของสพฐ.ทั่วประเทศ สำรวจนักเรียนอายุ 10 ขวบขึ้นไป รวมถึงคุณครูเอง บุคลากรในโรงเรียน และพ่อแม่ของนักเรียน นอกจากนี้บางจังหวัดจะมีการประสานไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในกทม.จะมีกลุ่มผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย ซึ่งใน 1 จังหวัดจะใช้คนค่อนข้างมาก โดยกลุ่มตัวอย่างแต่ละช่วงอายุจะใกล้เคียงกัน งานวิจัยดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลจะทำขึ้นปีต่อปี เริ่มในปี 2023 ถึงปี 2024 ก็จะมีการเปรียบเทียบจากกลุ่มตัวอย่างเดิม
ในการออกแบบระเบียบวิธีวิจัย กรอบแนวคิด จนสามารถพัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยออกมาได้ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับ Advanced ระดับ Basic และระดับ Improvement ที่จะบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของประชาชนไทยแต่ละกลุ่ม ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มีขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย
-ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use)
-ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)
-ทักษะ ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
-ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
-ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)
-ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
-ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)
“ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น” รศ.ดร.สุวิทย์กล่าว
จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น และตาม SDGs เป้าหมาย 14 เรื่องสร้างหลักประกันว่า คนทุกมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมเท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ดัชนีฉบับนี้เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้พวกเรามองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง” สมชัยกล่าวในท้ายที่สุด
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อมาได้ที่ aissustainability@ais.co.th