NEXT GEN

SCGC ร่วมมือ 2 บริษัทชั้นนำเร่งสปีดลด CO2 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

7 กรกฎาคม 2566…ผนึก Avantium เนเธอร์แลนด์ นำก๊าซ COมาผลิตพอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบพร้อมเตรียมพัฒนาโรงงานนำร่อง ป้อนตลาดโลก และ จับมือบริษัทญี่ปุ่น IHI เล็งสร้างโรงงานต้นแบบ ทดลองเทคโนโลยีดักจับ CO2เพื่อเปลี่ยนเป็นโอเลฟินส์เบา

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยว่า

“SCGC มีแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) รวมไปถึงการพัฒนา นวัตกรรมรักษ์โลก (Green Innovation) เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้แบรนด์ SCGC Green Polymer และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) และเทคโนโลยีในการลดคาร์บอน (Decarbonization) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ของปีฐาน 2564 ภายในปี 2573 และมุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งนี้ SCGC ได้เร่งพัฒนานวัตกรรมร่วมกับองค์กรและสถาบันชั้นนำต่าง ๆ ของโลก”

การศึกษาพัฒนาพอลิเมอร์จาก CO2 จากความร่วมมือของ SCGC และ Avantium

ล่าสุด SCGC ได้ร่วมกับ Avantium จากเนเธอร์แลนด์ พัฒนาพอลิเมอร์ PLGA (polylactic-co-glycolic acid: PLGA) หรือ พอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ (carbon-negative plastic) โดยนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นสารตั้งต้น รวมทั้งไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังพบว่า พอลิเมอร์ PLGA ซึ่งมีส่วนผสมของกรดแลคติกและไกลโคลิค นอกจากจะมีประสิทธิภาพที่ดีมีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันออกซิเจน ความชื้น และรีไซเคิลได้นั้น ยังสามารถย่อยสลายได้ทั้งในสภาวะธรรมชาติ และในทะเลอีกด้วย ซึ่งตอบโจทย์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“SCGC เป็นองค์กรนวัตกรรมที่ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้สำเร็จ การร่วมมือในครั้งนี้เสริมให้การพัฒนาพอลิเมอร์ PLGA เป็นไปได้ในอนาคต โดยมีเทคโนโลยี Volta ที่สามารถเปลี่ยน COให้เป็นพอลิเมอร์ด้วยการใช้กระแสไฟฟ้า มีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันออกซิเจนและความชื้น สามารถรีไซเคิลได้ พร้อมนำไปเป็นวัตถุดิบในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต่อไป คาดว่าจะมีลูกค้าที่สนใจในเรื่องนี้มาร่วมเป็นพันธมิตรมากขึ้น” Tom van Aken, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Avantium กล่าว

คุณสมบัติพิเศษของพอลิเมอร์ PLGA

SCGC และ Avantium ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตเคมีภัณฑ์ และสารตั้งต้นจากวัตถุดิบที่ยั่งยืน เช่น คาร์บอนจากพืช และคาร์บอนจากอากาศ โดยร่วมกันพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ PLGA หรือ พอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ และได้ทำการทดสอบการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ โดย Norner AS ศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ประเทศนอร์เวย์

ขณะเดียวกัน SCGC ร่วมกับ ไอเอชไอ (IHI) บริษัทชั้นนำประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและก่อสร้างขนาดใหญ่ ศึกษาและสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) เพื่อทดสอบเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Dioxide Capture and Utilization (CCU) เพื่อเปลี่ยนเป็นโอเลฟินส์เบา บรรเทาปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) สะท้อนการดำเนินธุรกิจด้วย ESG (Environmental, Social and Governance) อย่างเป็นรูปธรรม

เทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Dioxide Capture and Utilization (CCU)

ความร่วมมือในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (New Energy and Industrial Technology Development Organization: NEDO) หน่วยงานภาครัฐบาล ทดสอบเทคโนโลยี CCU เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกระบวนการผลิต มาทำปฏิกิริยาเคมีกับไฮโดรเจน จนได้มาเป็นโอเลฟินส์ตัวเบา และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ ให้สามารถหมุนเวียนนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และช่วยลดปริมาณการใช้วัตถุดิบแนฟทาได้อีกทางหนึ่ง ช่วยลดการปล่อย CO2ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่ง SCGC สามารถใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกในอนาคตต่อไป โดยจะทำการศึกษาความเป็นไปได้และเชื่อมต่อระบบกับโรงงานผลิตโอเลฟินส์ปัจจุบันในกลุ่มธุรกิจ SCGC ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 และทำการทดสอบจนถึงปี 2569

SCGC พัฒนาอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2564 ภายในปี 2573 และตั้งเป้าปริมาณการขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ SCGC Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่ง SCGC ดำเนินงานด้วยแนวทาง “Low Carbon Low Waste” ได้แก่ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น การใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (carbon offset) เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ลักษณะต่าง ๆ รวมถึงป่าชายเลน

 

You Might Also Like