29-30 กรกฎาคม 2566…ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่าธนาคารไม่ได้ต้องการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทาง ESG แค่เป็นเปลือก แต่ต้องการให้ ESG เป็นแก่นของธุรกิจ เกิด B+ESG ทำลูกค้าทีทีบีมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น รับมือกติกาใหม่ของโลกด้วยองค์ความรู้และโซลูชันต่าง ๆ และทำสิ่งที่ดีให้กับสังคม ซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่จับต้องได้ทันที
จากแบรนด์ทีเอ็มบีที่มีปรัชญา Make THE Different สู่ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) ยกระดับ เป็น Make REAL Change ต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างแท้จริงและยั่งยืนให้ลูกค้า จึงเป็นที่มาของ B+ESG เป็นการเสริมแกร่งดีเอ็นเอเดิมของธนาคาร
“หลังรวมธนาคาร ฝ่ายจัดการบอกว่าอยากทำสิ่งที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมชีวิตทางการเงินที่ดี หรือ Financial Well-being ให้กับคนไทย โดยได้นำแนวทาง Sustainable Banking เป็นรากฐานในการวางกลยุทธ์ทั่วทั้งองค์กร และให้ความสำคัญในการลงมือทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนไปในทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholders ของธนาคาร และวันนี้ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้นเรื่อย ๆ”
ปิติกล่าวต่อเนื่อง เมื่อธนาคารไม่ได้ต้องการทำ ESG แค่เป็นเปลือก แต่ต้องการให้ ESG เป็นแก่นของเรา จึงขยายมาที่ B หรือ Business เพิ่มเติมเพื่อตอบ Financial Well-being ทั้งลูกค้าส่วนบุคคล และลูกค้าธุรกิจ เช่นเรื่องรถมือสอง เต้นท์รถมือสอง ลูกค้าเองก็อยากได้รถมือสองที่มีคุณภาพ บริษัทเช่ารถของผู้บริหารก็มีให้บริการ ก็มาดูที่แพลทฟอร์ม ส่วนเอสเอ็มอี เป็นเรื่องใหญ่และเหนื่อยขึ้นทุกวันด้วยกฎใหม่ของโลก นี่คือ B ธุรกิจของทีทีบีต้องนำไปสุ่ความยั่งยืน ของลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรลูกค้า
“ผมขอทำในสิ่งที่ผมเห็นผล B+ESG และผมยังอยู่ตรงนี้ดีกว่า ส่วนเรื่อง Net Zero เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาวมาก ส่วนเป้าหมายที่จะไปถึงนั้น ไม่รู้ว่าผมจะอยู่บนโลกใบนี้หรือเปล่า อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารทำมาต่อเนื่อง เช่น เป็นธนาคารแรกที่ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล มูลค่ารวมมากกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินทุนไปสนับสนุนลูกค้าธุรกิจผ่านสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า และปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปแล้วมากกว่า 13,000 ล้านบาท ในปี 2565 และตั้งเป้าจะปล่อยเพิ่มอีกมากกว่า 9,000 ล้านบาทภายในปี 2566 ปัจจุบันธนาคารเป็นผู้นำตลาดด้านการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ EV ราว 6,500 ล้านบาท”
ปัจจุบันสินเชื่อที่เป็น Green หรือ Blue หรือ SLL ของทีทีบี ของลูกค้าธุรกิจมีประมาณ 2% ของพอร์ตสินเชื่อหรือ 13,000 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นต่อไปซึ่งธนาคารเชื่อว่า 5 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนสินเชื่อด้านนี้ประมาณ 10%ของพอร์ต หรือ 50,000-60,000 ล้านบาท ที่ทีทีบีจะช่วยลูกค้าทำธุรกิจที่มีเรื่องเหล่านี้ เป็นเป้าที่ตั้งไว้
ขณะเดียวกันทีทีบีมีหลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb ได้เริ่มนำหัวข้อ ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร โดยที่ผ่านมามีบริษัทเข้าร่วมกว่า 1,700 แห่ง และแบงก์ยังจัดทำศูนย์กลางความรู้เชิงลึกที่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ ภายใต้ชื่อ finbiz by ttb บน website มีผู้เข้าชมกว่า 1 แสนคนต่อปี ทั้งมีการจัดงานสัมมนาให้ความรู้ในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเข้าร่วมงานกว่า 700 บริษัท
ทางด้าน“สังคม” ทีทีบียกตัวอย่าง “โครงการปันบุญ” เป็นพื้นที่ช่วยมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลให้สามารถเข้าถึงฐานผู้บริจาคได้มากขึ้น ผ่านการรับบริจาคเงินบนโลกออนไลน์ สอดคล้องกับ Digital Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ และยังช่วยให้มูลนิธิบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างครบวงจร ทั้งด้านการรับบริจาคและงานเอกสารต่าง ๆ ของมูลนิธิได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของทีทีบี เพราะเป็นผลงานที่ถูกขับเคลื่อนภายใต้แกน Business และ Social ไปพร้อม ๆ กัน และปัจจุบันมีมูลนิธิที่ร่วมอยู่บนปันบุญมากกว่า 270 แห่ง ระดมเงินบริจาคไปแล้วมากกว่า 400 ล้านบาท
ส่วน Corporate Governance & Business Ethics หรือ บรรษัทภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจ ทีทีบีมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่ช่วยชี้แนะและผลักดันให้มีนโยบายที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดทำให้ธนาคารได้รับรางวัล “การเงินที่เป็นธรรม” จาก Fair Finance Thailand คว้าอันดับหนึ่งด้วยคะแนนสูงสุดในกลุ่มธนาคารไทยด้าน ESG ถึง 4 ปีซ้อนเป็นต้น
“เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจ และ ESG จะเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน เราไม่เพียงมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน แต่ยังมุ่งขยายขอบเขตและความยั่งยืนให้เกิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง และนี่คืออีกหนึ่ง Mission หรือ หน้าที่ของธนาคารที่ให้การสนับสนุนลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคมของเราให้สามารถดำเนินชีวิตและธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” ปิติ กล่าวในท้ายที่สุด