NEXT GEN

ตามเป้าหมาย SDGs ไทยจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มประมาณ 1.27 ล้านล้านบาทในปี 2563-2573

16 สิงหาคม 2566…มากกว่าครึ่งหนึ่งในแนวโน้มโอกาสด้านการลงทุน (IOAs) ของธุรกิจที่ได้รับการแนะนำบนแพลตฟอร์ม เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึง และเกือบทั้งหมดให้ความสำคัญกับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนปัจจัยจำเป็นพื้นฐาน

 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน เปิดเผยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ครอบคลุมประเด็นด้านความยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นความมุ่งมั่นที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญในฐานะเป็นกรอบที่ช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนา และเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันขจัดความยากจน ปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้ทุกคนบนโลกสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและมั่งคั่งภายในปี พ.ศ. 2573

ทั้งนี้ ภาคเอกชนทั่วโลกมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการใช้นวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนในโครงการเพื่อความยั่งยืน โดยมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 360 ล้านล้านบาทต่อปี(1)  จากการลงทุนในภาคการเกษตรและอาหาร โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การแปรรูปทรัพยากร และการบริการด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนและค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการจัดการผลกระทบของโรคโควิด-19 ของทุกภาคส่วนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้การลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลกต้องการเงินลงทุนเพิ่มเติมสูงถึง 75 ล้านล้านบาท และอาจสูงขึ้นถึง 126 ล้านล้านบาท(2)

UNESCAP  (2019) (3) คาดการณ์เมื่อปี 2562 ว่า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท หรือ 40.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2573 ซึ่งคิดเป็นเงิน 50 บาทต่อคนต่อวัน

ด้วยเหตุนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของประเทศไทยฉบับที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2566 – 2570 จึงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเท่าเทียมกัน ให้คนไทยมีวิถีชีวิตที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

คลิกภาพขยาย

SDG Investor Map
คืออะไร?

เพื่อเร่งกระตุ้นการลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเอกชน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)(4) ดำเนินโครงการ “แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG Investor Map)(5) โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Investor Platform) (6) เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการนำเสนอโอกาสด้านการลงทุน (Investment Opportunity Areas: IOAs) ในธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ด้วยการนำเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่าง ๆ  เช่น โอกาสทางการตลาด ผลตอบแทนจากการลงทุน ผลประโยชน์ด้านความยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง SDG Investor Map นี้จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งทำให้ธุรกิจและโครงการเพื่อความยั่งยืนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกง่ายดายขึ้น

SDG Investor Map
เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร?

แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยจะปรากฎอยู่บน SDG Investor Platform ร่วมกับอีก 19 ประเทศ ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลมาจากงานวิจัยและการรับฟังความคิดเห็นจากบทสัมภาษณ์กว่า 30 ครั้ง โดยแผนที่ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการข้อมูลของผู้ลงทุนที่มีต่อโอกาสการลงทุนในภาพรวม และในกลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ในขณะเดียวกันแผนที่ดังกล่าวยังแนะนำโมเดลการประกอบธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ โดยพิจารณาจากยุทธศาสตร์ของประเทศแล้วเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ (strategic sector) ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศจึงมีแนวโน้มความสำเร็จค่อนข้างมาก

แผนที่การลงทุนของประเทศไทย ได้ระบุโอกาสด้านการลงทุนที่น่าสนใจ ในปี 2566 รวม 15 ด้าน พร้อมตัวอย่างบริษัท 31 แห่งจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ในลำดับความสำคัญต่อเป้าหมาย SDG อันจะช่วยส่งเสริมการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

-อาหารและเครื่องดื่ม
-ทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก
-บริการด้านสุขภาพ
-การขนส่ง
-การเงิน
-โครงสร้างพื้นฐาน
-การบริการ
-การศึกษา

บริษัทที่อยู่บน SDG Investor Map ประกอบไปด้วยธุรกิจทุกขนาด  และ StartUp เช่น บริษัท เก้าไร่ บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด ธุรกิจให้บริการ บริหารจัดการ และพัฒนาระบบจัดการทางการเกษตร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน เและบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

คลิกภาพขยาย

ทั้งนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของแนวโน้มของโอกาสด้านการลงทุน (IOAs) ของธุรกิจที่ได้รับการแนะนำบนแพลตฟอร์ม เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึง และเกือบทั้งหมดให้ความสำคัญกับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนปัจจัยจำเป็นพื้นฐาน โดยในแต่ละ IOA จะมีข้อมูลสำคัญ อาทิ การคาดการณ์ด้านประสิทธิภาพ ขนาดการลงทุน ระยะเวลาคืนทุน ผลตอบแทนที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ผู้ได้รับผลประโยชน์ ผลลัพธ์ และความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ทำให้ภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนอย่างยั่งยืนสามารถใช้แผนที่เป็นเครื่องมือในการสำรวจรูปแบบ การลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของ SDGs ในประเทศไทย และการพัฒนาของภาครัฐได้

SDG Investor Map
มีประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร?

สำนักงาน ก.ล.ต. และ UNDP หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนที่ Thailand SDG Investor Map จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ และได้รับความสนใจจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะมีบทบาทสำคัญในแพลตฟอร์มดังกล่าว(7) ทั้งในฐานะผู้ต้องการเงินทุน (Supply) ผู้ที่ต้องการลงทุน (Demand) ด้านความยั่งยืน และผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่ ตลอดจนผู้ลงทุนรายย่อย ที่ร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพในการมองเห็น (Visibility) แหล่งการลงทุนด้านความยั่งยืนของประเทศไทยต่อชาวโลก และช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนกลไกการเงินอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance) สร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อต่อยอดไปสู่การผลักดันระบบนิเวศต่าง ๆ ที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป

อ้างอิง

(1) Business and Sustainable Development Commission. (2017). Valuing the SDG Prize: Unlocking Business Opportunities to Accelerate Sustainable and Inclusive Growth
(2) OECD. (2020). Global Outlook on Financing for Sustainable Development 2021
(3) UNESCAP (United Nation’s Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) หรือคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นหน่วยงานพัฒนาระดับภูมิภาคของสหประชาชาติในเอเชียและแปซิฟิก ทำหน้าที่เป็นเวทีระดับภูมิภาคระหว่างรัฐบาลสูงสุดในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมและยั่งยืน
(4) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นหน่วยงานการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติซึ่งทำงานเพื่อสนับสนุนงานของประเทศต่างๆในการบรรลุเป้าหมาการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ในประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ภาคประชาสังคม พันธมิตรระดับประเทศและประชาชนไทยเพื่อหาแนวทางแก้ไขความท้าทายในการพัฒนาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
(5) รายงานแผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ปี 2565 (SDG Investor Map Thailand 2022) https://www.sec.or.th/TH/Documents/Seminars/seminar-060765-08-th.pdf
(6) SDG Investor Map Platform https://sdginvestorplatform.undp.org/
(7) ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่รายงานแผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ปี 2565 (SDG Investor Map Thailand 2022) https://www.sec.or.th/TH/Documents/Seminars/seminar-060765-08-th.pdf และ SDG Investor Map Platform https://sdginvestorplatform.undp.org/ หรือติดต่อสอบถาม UNDP ทางอีเมล aphinya.siranart@undp.org

 

You Might Also Like