25 สิงหาคม 2566…ไทยถูกจัดอันดับความเสี่ยงในอันดับที่ 4 ของโลกที่มีแนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจาก 32.1 องศาเซสเซียส ในปี 2524 เป็น 33.7 องศาเซลเซียส ในปี 2563 ส่งผลต่อพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างกรุงเทพ พื้นที่ทางการเกษตร ตลอดจนชุมชนริมน้ำ และริมชายฝั่ง ล่าสุดองค์การสหประชาชาติได้ประกาศเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่อุณหภูมิโลกและมหาสมุทรสูงสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติ เป็นสัญญาณเตือนว่าโลกได้ผ่านยุค Global Warming ไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า Global Boiling
นอกจากสร้างการตระหนักรู้ และรณรงค์ให้ทุกคนปรับพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว เราต้องยอมรับว่า “เงินทุน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีลดโลกร้อน และแรงหนุนให้เกิดการปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านนี้โดยตรง ได้แสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำเงินทุนมาพัฒนาโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนของประเทศ
เถิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนารูปแบบการดำเนินการและสร้างกลไกทางการเงินของภาครัฐ ด้วยการจัดหาจัดสรรงบประมาณภายในประเทศสำหรับการขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ได้บอกไว้กับประชาคมโลก
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลโดยตรง ริเริ่มกำหนดกรอบโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโดยเฉพาะภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้เปิดตัว “กองทุน ThaiCI ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (BMWK) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี จำนวน 6.5 ล้านยูโรหรือ 234 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี นับจากปีนี้ถึงปี 2570
“กลไกทางการเงินของรัฐและการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นความร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมันในการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศขอไงทย หรือกองทุน ThaiCI ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญอันจะนำไปสู่ผลสำเร็จในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากล”
ทั้งนี้ กองทุน ThaiCI ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นกองทุนสนับสนุนด้านวิชาการ และเงินอุดหนุนแบบให้เปล่ากับโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุม 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน คมนาคมขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย และภาคเกษตร ผ่านการเปิดรับข้อเสนอโครงการตามหัวข้อโครงการที่กำหนด และโครงการแบบเฉพาะกิจ ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนงบประมาณจากผู้ดำเนินโครงการแตกต่างกันไป ตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมหาชน สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน
“วัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับกองทุนให้เป็นกลไกด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการปกป้องสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล และมุ่งเน้นให้เงินอุดหนุนโครงการทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือกนระจกและปรับตัวต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างศัยภาพของผู้พัฒนาโครงการ และแลกเปลี่ยนระหว่างโครงการ สร้างโอกาสในการเรียนรู้ และร่วมทุนจากภาคเอกชนในการศึกษาวิจัย ปรับเปลี่ยนกระบวนการ และต่อยอดองค์ความรู้ สู่การเป็นชุมชนต้นแบบ”
พิรุณ สัยยะสิทธิ์พาณิช เลขาธิการสำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า ThaiCI จะสนับสนุนเงินให้กับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม (NGOs) ภาคเอกชน ในรูปแบบการเปิดรับข้อเสนอสำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าจะเปิดรับข้อเสนอโครงการภายในสิ้นปีนี้ และกองทุน ThaiCI จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถป็นพันธมิตรกับแหล่งทุนอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม
นอกจากนี้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดโดยรับผิดชอบการจัดทำรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อมูลความเสี่ยงในระดับพื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการลดกาซเรือนกระจกของจังหวัด ทำให้ทราบว่าพื้นที่ในแต่ละจังหวัดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าไหร่ และมีแผนการจัดการอย่างไร เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 ตามการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26