NEXT GEN

ESG เกมเปลี่ยนธุรกิจ ทางรอดที่ไม่ใช่ทางเลือกของสตาร์ทอัพ

28 สิงหาคม 2566… นับตั้งแต่วันที่ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจบนหลักการแห่งความยั่งยืนที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและระบบนิเวศของเศรษฐกิจไทย Beacon VC ซึ่งเป็น Corporate Venture Capital Fund ของธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดตัวกองทุน “Beacon Impact Fund” ที่มุ่งเน้นการลงทุนในด้าน ESG โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก กองทุนที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่นำแนวคิดด้าน ESG มาพัฒนาบริการ และโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติต่างๆ ของ ESG และมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถวัดผลได้ และมีศักยภาพที่จะขยายผลไปในวงกว้าง

ธนพงษ์ ณ ระนอง Managing Director, Beacon VC เริ่มเล่าถึงความสำคัญของ ESG ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับสตาร์ทอัพอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าองค์กร เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ภาคธุรกิจดังกล่าว หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และมีการเลือกใช้บริการหรือ โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ดังกล่าว รวมถึง กลุ่มนักลงทุนเอง หันมาใส่เม็ดเงินลงทุนกับธุรกิจและกลุ่มสตาร์ทอัพที่ทำเรื่อง ESG เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงโอกาสอีกมหาศาลสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ

แต่อย่างไรก็ตามมีข้อเท็จจริงอยู่ว่าสตาร์ทอัพ ยังมีความเข้าใจเรื่องของ ESG อยู่ค่อนข้างน้อย และอาจจะไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาหรือหาข้อมูลเรื่องนี้ได้จากที่ใด ซึ่งทางโครงการ KATALYST by Kbank ภายใต้การดูแลของ Beacon VC ได้เห็นถึงปัญหานี้ จึงจัด Meetup : ESG A Lasting Game Changer และชวนชาวสตาร์ทอัพมาฟังถึงการทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์เกี่ยวกับ ESG เช่น

-มีธุรกิจอยู่แล้ว จะเข้ามาทำ ESG ต้องเริ่มอย่างไร
-ESG สำคัญกับชาวสตาร์ทอัพอย่างไร
-อะไรคือโอกาส และความท้าทายของ ESG ในสตาร์ทอัพ

ธนพงษ์ (กลาง) กล่าวถึงที่มาโครงการ

ESG101: Opportunities & Challenges โดยชยุตม์ สกุลคู CEO, Tact Social Consulting ชี้ให้เห็นความสำคัญESG ซึ่งปัจจุบันเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” ที่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับ Stakeholderที่เกี่ยวข้องและสามารถสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้จริง และไม่ใช่งานมูลนิธิหรืองานไม่สร้างผลกำไร

“จากตัวการลงทุน กว่า 90% ของบริษัทที่อยู่ใน S&P 500 ตอนนี้มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนแล้วและตัวของ Global ESG Assets มีการวางแผนเกิน 53trillionUS Dollar ในปี 2025 นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่าเม็ดเงินในโลกมีการไหลเข้ามาอยู่ในเรื่องของการลงทุน ESG มากขึ้นจริงๆเมื่อกองทุนใหญ่ระดับโลกประกาศลงทุนเรื่อง ESG จึงกระทบกับธุรกิจโดยตรง ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ถูกกดดันจากผู้ถือหุ้น นักลงทุน และต้องย้อนกลับไปถามซัพพลายเออร์ถึงที่มาของวัตถุดิบที่ส่งให้เขาว่ามีที่มาจากไหน ปล่อยคาร์บอนมากเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากซัพพลายเชนใหญ่ เช่น ที่อเมริกา ยุโรป ที่เริ่มต้องทำเรื่องของ Procurement หรือการตรวจสอบStandard ต่างๆซึ่งต่อไปมีมีกฎเกณฑ์อีกมากมายตามมา”

ชยุตม์กล่าวต่อเนื่อง หากถามถึงบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ได้เตรียมพร้อมแนวทางการทำงานด้วย ESG อย่างเข้มข้น เตรียมรับมือกับกฎเกณฑ์การค้าโลกใหม่เช่น CBAM ไว้ แม้ว่าจะยังไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมชุดแรกที่จะถูกภาษีนี้ก็ตาม ขณะเดียวกันบริษัทใหญ่ก็ต้องทำงานอย่างหนักกับซัพพลายเชนของตัวเองเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนธนาคารมีบทบาท ปล่อยสินเชื่อ Green Finance ให้บริษัทที่มุ่ง ESG ทั้งนี้ประโยชน์จากการที่องค์กรทำเรื่อง ESG จาก Research ของ McKinsey&Company ไว้ 5 ข้อว่า

1.Top-Line Growthการทำ ESG จะช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ เช่น ยุโรป ซึ่งกำลังตามหา Sustainability Index หากเรา ทำเรื่อง ESG จนได้รับการรับรองตามมาตรฐานแล้ว ก็จะเป็นโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ หรือหากเราลงทุนก่อนคนอื่น จับตลาดใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ก็จะได้เรื่องของ Top-LineGrowth

2.Cost Reduction ข้อนี้หลายคนชอบมาก เพราะการทำเรื่องของ ESG ช่วยลดในเรื่องของต้นทุนในการผลิตได้ เช่น การใช้พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวได้ เช่นโรงงาน SIG ทำธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์หลากหลาย เป็นบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อ ตลอด 25 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของ SIG คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % ในกระบวนการทำงาน ซึ่งในปี 2561 ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ในโรงงาน ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 12,871 ตันเทียบเท่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 เทียบเท่ากับการชดเชยการปล่อย COด้วยต้นไม้กว่า 280 ถึง 415 ต้น หรือเทียบเท่าผืนป่าขนาด 10,000 ตรม ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่มุมอื่นๆ ที่สามารถนำไปใส่ในรายงานความยั่งยืนของเราได้ด้วย

 

ชยุตม์ ปูพื้นความสำคัญ ESG

3.Regulatory and Legal Interventions การโดนแบน หรือโดนลงโทษจากกฎหมายประเทศต่างๆ กฎเกณฑ์เหล่านี้จะได้รับการพัฒนาและถูกกำหนดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเช่น เรื่อง Carbon อย่างที่เห็นอยู่กันในปัจจุบัน และอาจมีกฎตัวใหม่ เช่น เรื่องของBiodiversity (ความหลากหลายทางชีวภาพ) ที่กำลังจะเป็นข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นมาในอนาคต เราอาจจะต้องรายงานเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ดังนั้นเราในฐานะคนทำธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าตลาดไหนเขาจะใส่ใจกับเรื่องใดเพิ่มขึ้น

4.Productivity Uplift คนรุ่นใหม่หลายคนให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมากๆ และต้องการทำงานในองค์กรที่ทำมากกว่าการหากำไร บริษัทที่ทำเรื่อง ESG ได้ดี ก็จะสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้มากขึ้น หรือพนักงานในองค์กรเองก็จะภูมิใจที่องค์กรจัดการกับประเด็นเหล่านี้ได้ดี

5.Investment and Asset Optimization หากบริษัทมีความคำนึงถึงเรื่อง ESG บริษัทอาจจะเลือกลงทุนกับเรื่องที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกในระยะยาวได้ เช่น การลงทุนในพลังงานสะอาด หรืออื่นๆ ซึ่งบริษัทไม่เคยนึกถึงมาก่อนเพราะมองแค่การทำกำไรในระยะสั้น ดังนั้น การเลือกทำ ESG อาจจะเปลี่ยนเกมการแข่งขันธุรกิจในระยะยาวได้

“สุดท้ายการทำเรื่องSustain จำเป็นต้องร่วมมือกันทำ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้คนเดียวการจะดึงให้คนที่ยังไม่สนใจทำเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีการรวมกลุ่มกัน อยู่ที่ว่าใครจะเริ่มก่อน Sustainability เป็นเรื่องที่ยากจำเป็นต้องมีคนกลางมาช่วยกำกับดูแล เพื่อให้เอกชนที่อาจจะไม่ได้สนใจทำเรื่องนี้ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎเกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นและกระทบต่อผลกำไรของเขา ต้องสร้างบรรยากาศที่ ให้เขารู้ว่าทำเรื่องยั่งยืนแล้วเขาจะรวยขึ้น ลดต้นทุน ไม่โดนปรับ และมีกำไรเพิ่มขึ้นต้องมีวิธีทำให้ทุกคนสามารถกลุ่มแล้วรู้หน้าค่าตากัน เพื่อจับให้ได้ว่ามีใครไม่ทำ ต้องสร้างเครื่องมือแบบนี้ขึ้นมาเพื่อควบคุมเอกชนที่ไม่ทำ ให้หันมาดำเนินธุรกิจภายใต้กติกาของ ESG”

วิทยากรฉายภาพ ESG

ธนพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมในมุมของ Venture Capital ว่าในภาพรวมนั้น นักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับบริษัทที่ทำเรื่อง ESG แต่อยากทำความเข้าใจกับบริษัทที่ทำ ESG ชัดๆว่า การลงทุนนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น กองใหญ่ๆอาจจะลงไปที่ Green Fund หรือกองทุนที่จะไม่มีการลงทุนในบริษัทที่มีแบล็กลิสต์ เช่นบริษัทที่ใช้ฟอลซิล บางกองทุนอาจจะมองหรือเน้นการลงทุนกับสตาร์ทอัพที่สร้างหรือมีธุรกิจเกี่ยวกับคาร์บอน เครดิต และอีกกลุ่มที่เป็น VC ที่เน้นลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพมาก่อนก็จะเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่สร้าง Positive Impact ซึ่งหมายถึงสตาร์ทอัพที่สร้างแพลตฟอร์ม หรือเครื่องมือเพื่อสนับสนุนให้คนอื่นทำ ESG ได้ดีขึ้น

“ดังนั้นสตาร์ทอัพอาจจะต้องหาตัวเองก่อนว่าเราอยากเป็นประเภทไหน เราอาจจะเป็นสตาร์ทอัพแบบเดิมที่ทำเรื่อง E-commerce ก็ได้ แต่เราทำ สโคป 1 ก็เป็นสตาร์อัพที่ทำเรื่อง ESG แต่ถ้าอยากได้เงินลงทุนจาก VC ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการลงทุนตรงนี้เพิ่มขึ้น คุณต้องสร้างเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่เข้าไปสนับสนุนให้คนอื่นเป็น Positive Impact มากขึ้น ซึ่งบริษัทในประเทศไทยที่ต้องการเรื่องเหล่านี้มีจำนวนมาก เราถึงพยายามสร้างอีโคซิสเต็มขึ้นมาเพื่อทำให้คนไทยมา Capture เนื่องจากเรามองว่ามีโอกาสตรงนี้อยู่”

ธนพงษ์กล่าวต่อว่าการทำงานขององค์กรใหญ่ กับ สตาร์ทอัพในมุมของ ESG มีความท้าทายที่แตกต่างกัน เราเป็น VC ที่เป็นลูกของธนาคาร ที่ผ่านมาเราพยายามลงทุนเพื่อหาสตาร์ทอัพเข้ามาทำงานร่วมกับธนาคาร เราจะรู้ทั้งวิธีการทำงาน และปัญหาในการทำงานระหว่างสตาร์ทอัพกับองค์กรใหญ่มาตลอด เมื่อเป็นเรื่องของ ESG จะมีความแตกต่างเพิ่มมากขึ้น เพราะใน องค์กรใหญ่ ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้มากนักต้องอาศัยบริษัทข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพทั้งในไทย ต่างประเทศ หากเป็นรูปแบบของสโคป 1 หรือ สโคป 2 คือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตัวเองเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การเปลี่ยนรถยนต์ในองค์กรเป็นรถไฟฟ้า ส่วนมากในสโคปนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับ ผู้ขาย ผู้ซื้อ มากกว่า น้องๆสตาร์ทอัพที่จะไปขายของให้องค์กรใหญ่หรือองค์กรที่เน้นสโคป 1ต้องมีผลิตภัณฑ์หรือบริการให้พร้อม หากยังไม่พร้อมอาจจะยากอยู่บ้าง ส่วนองค์กรที่เน้นสโคป 2 ก็จะคล้ายกัน หากเราทำเครื่องมือบางอย่างไปสนับสนุนองค์กรให้เขาสามารถวัดคาร์บอนได้มากขึ้น อาจจะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน แต่รูปแบบก็ยังคงเป็นผู้ขาย ผู้ซื้อ ถ้าสินค้าของเรายังทำการค้าไม่ดีโอกาสที่จะเข้าถึงองค์กรใหญ่ได้ยาก

การมารวมตัวกันใน Climate Tech Club จะช่วยกันได้หลายด้าน

“สิ่งที่จะสร้างโอกาสมาก ๆ คือการทำงานขององค์กรใหญ่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทางอ้อม หรือสโคปที่ 3 เพราะเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากสิ่งที่องค์กรใหญ่ ทำเอง ต้องให้คนที่ 3 เข้ามาช่วย จึงมองว่าเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพถ้าอยากเตรียมตัวเข้ามาทำเรื่องของ ESGโดยเฉพาะการนำเสนอเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์เรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสโคป 3 ของภาคธุรกิจต่าง ๆ”

ธนพงษ์ย้ำในตอนท้ายว่า เรื่องของ ESG เป็นสิ่งที่กำลังมาและมีความสำคัญจริงๆ ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเรื่องของสตาร์ทอัพใหม่ ๆ บางครั้งคนอาจจะกลัวว่าเป็นแค่คำพูดเท่ ๆ มีการพูดถึงมากๆ แต่มาไม่นานแล้วก็หายไปคนกลัวว่า ESG จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แต่จากที่ได้ไปงานสัมนาด้าน ESG ต่างๆ ถ้าเราเข้าไปดูในฝั่งนักลงทุน จะเห็นว่านักลงทุนที่มาในงาน ESG จะเป็นนักลงทุนจากสถาบันที่มีการก่อตั้งมานานแล้ว และมีความที่จริงจังในการลงทุนมาก เชื่อได้ว่าเรื่อง ESG จะเป็นการลงทุนที่เป็นLong Term Investment มากๆแต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เรื่อง ESG ยังเป็นเรื่องใหม่มากๆ ดังนั้น กฎ ระเบียบต่างๆและด้านตลาด ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มากๆ ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องทั้งหมดดีพอ เราจะเข้าไปจับโอกาสนั้นได้ยากดังนั้นจึงต้องร่วมมือกันเราจึงคิดว่าการมารวมตัวกันใน Climate Tech Club จะช่วยให้มีการแชร์ข้อมูล ความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ Startup มีความพร้อมที่จะรับโอกาสในธุรกิจด้าน ESG ที่กำลังเติบโตขึ้น

 

You Might Also Like