30 กันยายน 2566… สยามพิวรรธน์อยู่ในพื้นที่สยามฯมากว่า 60 ปี นับเป็นภาคเอกชนรายแรกที่ร่วมพัฒนาเมืองเป็นเกตเวย์ของกทม. ปัจจุบันกลายเป็นจุดปักหมุดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว รุกทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจรวมภาครัฐ เดินหน้าสู่ Net Positive Impact ตั้งเป้าศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 พร้อมยกระดับย่านปทุมวันสู่แนวคิดการสร้างสรรค์เมืองให้เป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ
นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เดินหน้าผนึกกำลังด้านความยั่งยืนกับพันธมิตรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และเตรียมประกาศลงนามความร่วมมือด้านความยั่งยืนกับแบรนด์ดังระดับโลกในต้นปี 2024
“ สยามพิวรรธน์ไม่ได้ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกเท่านั้น แต่เราเป็นส่วนเชื่อม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม เช่นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้ากับอาคารต่าง ๆ บริเวณสี่แยกปทุมวันที่ได้ทำไว้และส่งมอบให้กทม.แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าธรรมดา หรือผู้ใช้วีลแชร์ก็สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้ เช่นจาก สยามดิสคัฟเวอรี่ไปเอ็มบีเค เป็นต้น ดังนั้นตรงนี้เป็นความภูมิใจที่ทุกสิ่งที่สยามพิวรรธน์สร้างขึ้นเป็นพื้นที่ของทุกคน พร้อมทั้งคำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ มิติ ทั้งการคัดแยกขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มพื้นที่ต้นไม้กับกทม.”
ในขณะที่ในบทบาทสยามพิวรรธน์เป็นผู้พัฒนาโครงการจุดหมายปลายทางระดับโลก คงจะเป็นการกล่าวไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ที่ สยามดิสคัฟเวอรี่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตัดสินใจเปิดพื้นที่ชื่อ ECOTOPIA รวบรวมไลฟ์สไตล์แบบอีโค่แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทั้ง Reuse, Recycle, Upcycling เป็นแห่งแรกของห้างค้าปลีก แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ต้องการขับเคลื่อน ชุมชนและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกระดับ ECOTOPIAในปัจจุบันยังทำหน้าที่อยู่ และมีสินค้าเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เป็นการตอกย้ำว่า สยามพิวรรธน์เป็นภาคเอกชนที่มีแนวปฏิบัติเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม และมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมี รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ที่ปรึกษาด้าน Sustainability ผู้รับผิดชอบคนสำคัญเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนความยั่งยืนของสยามพิวรรธน์มาตลอด
ขณะเดียวกัน สยามพิวรรธน์ เดินหน้าการทำธุรกิจด้วย ESG (Environment ,Social, Governance) อนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น
-การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงาน
-การใช้ระบบ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ตลอดจนขยายผลไปสู่การใช้พลังงานสะอาด
-การนำนวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อปมาติดตั้งที่ไอคอนสยาม สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ต่อปี
-การผสานความร่วมมือกลุ่มบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาและติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) บนพื้นที่สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตร ให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่าปีละ 4,800,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายองค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ให้กับโลกของเราโดยร่วมมือกับพันธมิตรติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการที่ศูนย์การค้า
“สยามพิวรรธน์กำลังศึกษาร่วมกับองค์กรชั้นนำทางด้านพลังสะอาดของประเทศไทยอีกหลายแห่ง อาทิ บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมุ่งเพื่อให้ทุกศูนย์การค้าภายในกลุ่มสยามพิวรรธน์ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy (RE) โดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ ในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่างๆ โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่สยามพิวรรธน์บริหารจัดการเอง ภายในปี 2026 และ 100% ภายในปี 2030”
-การแก้ไขปัญหาขยะต่าง ๆ ทำตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านโครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste ส่งเสริมให้คนไทยจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจุดบริการรับขยะ (Recycle Collection Center ; RCC) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร นำขยะที่ทำความสะอาด และคัดแยกแล้วส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือนำมาเข้าสู่กระบวนการอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยส่วนหนึ่งยังกลับมาวางจำหน่ายบนพื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก “อีโค่โทเปีย” (ECOTOPIA) โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบของขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030
-การแก้ไขปัญหาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงร่วมสนับสนุน Synnex ในโครงการ ทิ้งให้ถูกกับ Trusted By Synnex E-Waste โดยจะเปิดจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ Electronic Waste (E-waste) ณ บริเวณ NextTech สยามพารากอน
“สยามพิวรรธน์ใช้ธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสและพัฒนาศักยภาพของคน ส่งเสริมให้ผู้คนที่มีส่วนร่วมกับสยามพิวรรธน์ได้เติบโตและประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กับเรา เมื่อเป็นพื้นที่ของทุกคนและกำลังอยู่ในภาวะโลกเดือด สยามพิวรรธน์จึงอาสาเป็นหนึ่งในการร่วมพัฒนาเมืองกับหน่วยงานราชการ รวมถึงสถาบันการศึกษาพัฒนาย่านปทุมวันสู่ต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ ในการเชื่อมธุรกิจไปสู่ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาจุดหมายปลายทางระดับโลกสู่ความยั่งยืน”
นราทิพย์ขยายความต่อเนื่องถึง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านปทุมวัน” นับจากนี้ สยามพิวรรธน์พร้อมเป็นองค์กรนำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่แนวคิดการสร้างสรรค์เมืองให้เป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ โดยร่วมมือกับ รศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) โดยแนวคิดในการขับเคลื่อนย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะคือ
“ปทุมวันเป็นศูนย์กลาง Shopping Destination สำหรับชาวไทย ชาวต่างประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย โดยมี ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ทั้งแนวดิ่งและแนวราบหลากหลายให้เลือกเดินตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และพื้นที่แห่งนี้ยังมีสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา สำนักงาน อาคารมิกซ์ยูส และอื่นๆ อีกมากมาย การที่สยามพิวรรธน์เป็นหัวหอกในการนำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO-DISTRICT จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรักษาบทบาทการเป็นผู้นำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป”
นราทิพย์กล่าวในท้ายที่สุด สยามพิวรรธน์มีพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อให้บรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย” ต่อเนื่องถึงปีหน้า 2024 จะเป็นค้าปลีกแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมมือกับแบรนด์ดังและองค์กรชั้นนำระดับโลก ผนึกกำลังด้านความยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติร่วมกันอันเป็นการดำเนินธุรกิจตาม Global Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับสากล ทั้งนี้ “เพื่อโลกที่ดีขึ้นของทุกคน”