NEXT GEN

 นายกฯ ชื่นชม 4 ข้อเสนอ การเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ @ESG Symposium 2023 

16 ตุลาคม 2566….ในงาน ESG Symposium 2023 ปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ”  ซึ่งไม่เพียงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำประเทศไทยมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยบุคคลและหน่วยงานที่มีประสบการณ์เรื่องนี้ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้วเท่านั้น ยังมีผลการระดมสมอง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม กว่า 500 คน ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

ในส่วนบุคคลมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ESG in Actions และ Asian Perspective on ESG บนเวที ESG Symposium 2023 ประกอบด้วย

ESG in Actions

• ความร่วมมือไทย-สวิตเซอร์แลนด์ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดย H.E.Pedro Zwahlen เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย

• พลังงานสะอาด John O’Donnell โดย Mr.John O’Donnell – CEO, Rondo Energy

• พลาสติกชีวภาพ โดย Mr.Roger Marchioni – Oiefins & Polyolenfins Director – Asia, Braskem

• กรีนโลจิสติกส์ โดย Mr.Hiroki Nakajima – President, CJPT

• Thailand Taxonomy โดย นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าราชการด้านเสถียรภาพ สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

• Youth in Action โดย นายสุทธิโชค จิตรศรีสมบัติ นายกสมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA)

Asian Perspective on ESG

 

• สาธารณรัฐประชาชนจีน : เทคโนโลยีเพื่อเมืองสีเขียว โดย Dr. Xu Qigong  –  Vice President CRAES และ Prof. Luo Zhigang – Senior Engineer

• อินโดนีเซีย : จากวิสัยทัศน์ ESG สู่การปฏิบัติจริง โดย Dr. Dino Patti Djalal – Founder of Foreign Policy Community of Indonesia (FPCI)

•ประเทศไทย : ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ โดย ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

จาก ESG in Actionsและ Asian Perspective on ESG ของผู้ร่วมงานจะได้พบมุมมองบางส่วนที่น่าสนใจ เช่น

– ตอนนี้เรารอไม่ได้อีกแล้ว ใครมีไอเดียดี ๆ ส่งเข้ามาได้เลย ความร่วมมือไทย-สวิตเซอร์แลนด์ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีทุนไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทสวิส
– มีความพยายามใช้ไฮโดรเจนไปจนถึงพลังานชีวมวล เรากำลังเร่งผลิตไฮโดรเจนกับบริษัทในไทย เป็น Energy Transition ต้องคว้าโอกาส หากไม่ทำคุณตกขบวน โอกาสมาถึงแล้ว ถ้าธุรกิจวันนี้
ดีไม่พอ ธุรกิจวันหน้าจะดีได้อย่างไร ตอนนี้ใช้โอกาสคิดและลงทุนไปข้างหน้า
– จะใช้ไฮโดรเจนก็ได้ แต่ปัจจุบันราคายังแพง การใช้ไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์เราสามารถผลิตไฟเก็บในแบตเตอรี่ได้แล้ว ส่งต่อคาร์บอนฯ ได้ ลูกหลานจะได้โลกที่เป็นธรรมกับพวกเขามากขึ้น
– SDGs เริ่มง่าย เช่น การจัดการขยะในพื้นที่ตัวเอง
– 1 เมือง 1 นโยบายเท่านั้น มีวิสัยทัศน์ชัดเจน มุ่งไปเมืองที่สะอาด จีนทำได้แล้ว
– ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คนทำมาหากินในเมืองกรุงสนใจเรื่องปากท้องการทำมาหากินมากกว่า

ฯลฯ

 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับฟังข้อเสนอ “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ”  พร้อมกับผู้ร่วมงานในงาน ESG Symposium 2023 จากทุกภาคส่วนกว่า 2,000 คนที่มาจากหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม

นายกฯ เยี่ยมชมนิทรรศการที่เกี่ยวเนื่องกับ 4 ข้อเสนอ “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ”

ทั้งนี้ 4 ข้อเสนอประกอบด้วย

 

1. ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะมีระบบเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยว และความเป็นเมืองที่ผสมผสาน จึงสามารถเป็นตัวแทนเสมือนของประเทศไทยได้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งร่วมบูรณาการโดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบ หากประสบความสำเร็จจะเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ ได้ ปัจจุบัน มีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ การปลูกพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งร่วมปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน

 

2. เร่งผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ ในประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ลงมือทำแล้ว คือ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง คือ กำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน การคัดแยกและจัดเก็บขยะเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กำหนดตัวชี้วัดในการติดตามผล ตลอดจนสร้าง Eco-system สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งรณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย

 

3. เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด โดยเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน ให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสะดวกยิ่งขึ้น สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาดและใช้พื้นที่ว่างเปล่ากักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี รวมทั้งพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ และผลักดันให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะจากชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง

 

4. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน  โดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งมีอยู่มากถึง 52 ล้านล้านบาท และขอเสนอให้ไทยควรร่วมเร่งเข้าถึงกองทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต  นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้มีความพร้อมปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้

 

ก่อนจะมี 4 ข้อเสนอ “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” มอบให้นายกฯ ได้มีการระดมสมองจากภาคส่วนต่าง ๆ 500 คนตลอดเดือนกันยายน

 

หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะช่วยกู้โลกให้กลับมาดีขึ้น  สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทยต้องมีแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนี้

 

1. มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน

2. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากรทุกคนในประเทศ และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ

3. ผลักดันความร่วมมือทุกระดับ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

 

นายกฯ กล่าวถึงความประทับใจ ที่ได้เห็นคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันหาแนวทางทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพราะภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก

 

 

“ผมชื่นชมความตั้งใจสร้างสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย  เพราะเป็นจังหวัดที่มีความท้าทายสูง มีอุตสาหกรรมใหญ่อยู่มาก ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งมาตรการและเงินทุน จึงขอเชิญชวนภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วมกัน เพราะหากสำเร็จจะเป็นตัวอย่างให้เมืองและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป”

 

การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ  นายกฯ ชื่นชมความมุ่งมั่นทั้ง 3 อุตสาหกรรมนำร่อง ทั้งบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลจะขยายผลความสำเร็จนี้ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะและเปิดให้จัดหาสินค้ากรีนเพื่อสร้าง Eco-system ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน  สำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมทั้งรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ดึงดูดนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอนาคต

“ผมขอขอบคุณทุกคนที่มุ่งเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะยังมีประชาชนอีกมากโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร และชุมชน ที่ยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตินี้ หรือยังไม่พบทางออกเพื่อรับมือ เราควรสนับสนุนการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงเงินทุน ให้ทุกคนสามารถปรับตัวอยู่รอดได้ สำหรับข้อเสนอในวันนี้ ผมจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป” นายกฯ กล่าว

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม

 

ในตอนท้ายของงาน รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “คณะจัดงานขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และรับฟังข้อเสนอจากพวกเราทุกภาคส่วนในวันนี้  ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารงานของท่านที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งแนวนโยบายที่ชัดเจนของประเทศ จะทำให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยื

ธรรมศักดิ์  เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวในท้ายที่สุดว่า “เอสซีจีพร้อมนำแนวทางจากท่านนายกรัฐมนตรีไปผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมกรีน เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อีกทั้งผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้วิกฤติโลกเดือด ซึ่งเย็นวันนี้ 80 ซีอีโอ จากหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคพลังงาน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ สุขภาพ บริการ มาร่วมระดมสมองเพิ่มเติม ซึ่งมั่นใจว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอน เป็นจริงได้แน่นอน”

You Might Also Like