NEXT GEN

AIS อุ่นใจไซเบอร์ต่อจิ๊กซอว์มุ่งใช้ความรู้ สร้างเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ให้สถานศึกษาทั่วประเทศ

19 ตุลาคม 2566…ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ที่พร้อมนำศักยภาพเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อมกัน ทำให้ AIS ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ และการสร้างภูมิปัญญา ส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทันการใช้งานบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

AIS จึงได้ร่วมมือกับ 3 กระทรวงหลักของประเทศ สร้างสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในชื่อ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ออกแบบให้อยู่ในลักษณะของกราฟฟิกหรือแอนิเมชัน และมีกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ที่ช่วยรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษาไทย ที่พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่ส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัด เพื่อขยายผลการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นำเสนอแนวคิด 4 Professional Skill Module หรือ 4 P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3.Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

 

ก่อนหน้านี้ AIS ได้เดินหน้าขยายผลหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านศึกษานิเทศก์ ครูอาจารย์ ไปสู่นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.ที่ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต รวม 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับ กทม.ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 437 โรงเรียน ครอบคลุมบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน หรือแม้กระทั่งการขยายผลไปยังภาคอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วกว่า 300,000 คน

วันนี้ AIS จับมือภาคีเครือข่ายภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ นำหลักสูตรการเรียนรู้อุ่นใจไซเบอร์ เข้าไปยกระดับการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้แก่ นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สช. มากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเป็นโรงเรียนภาคเอกชนกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ ให้มีทักษะดิจิทัล และมีความรู้เท่าทันการใช้สื่อโซเชียลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย สร้างเด็ก เยาวชนและคนไทยเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ให้สามารถใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

“สช.ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลโดยตรงต่อการศึกษา โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้งาน และอาจตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้นเราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ให้นักเรียนมีองค์ความรู้ในการรับข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ และรู้จักหลีกเลี่ยงภัยไซเบอร์ต่างๆ ที่เข้ามาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งความร่วมมือระหว่าง AIS กับกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนให้ยกระดับไปอีกขั้น” มณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวถึงการร่วมมือกับ AIS

มณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS

 

โดยจะมีการจัดอบรมการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สช.ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Online และ Onsite เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษานำหลักสูตรดังกล่าวไปบูรณาการผ่านการเรียนการสอนที่หลากหลาย อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิทยาการคำนวณ ให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และจะขยายผลให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สช. ได้เริ่มเรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ภายในภาคเรียนของปีการศึกษา 2/2566

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนี้สื่อออนไลน์และดิจิทัล กลายเป็นช่องทางสื่อสารหลักในชีวิตประจำวันของเด็กรุ่นใหม่ ดังนั้นเราจึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนไทยมีความรู้ในการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ วันนี้เราจึงได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในการขยายผลการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลไปสู่บุคลากรทางการศึกษาให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด สช.กว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะทำให้กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเข้าถึงเนื้อหาหลักสูตรด้านดิจิทัล เพื่อสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีและมีคุณภาพ

 

“ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลเราขอเป็นศูนย์กลางในการสร้างและส่งเสริมการใช้งานที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีความปลอดภัยให้กับลูกค้าและคนไทยทุกกลุ่ม ซึ่งขณะนี้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าถึงครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเราจะเดินหน้าส่งต่อหลักสูตรนี้ไปยังประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายของ AIS ในการขยายหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ต่อไป” สายชลกล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like