24 ตุลาคม 2566…ก.ล.ต. ผสานความร่วมมือกับคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) จัดทำข้อเสนอแนะการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD Recommendations) ฉบับภาษาไทย เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในตลาดทุน มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่สอดคล้องกับความสำคัญกับการขับเคลื่อนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การจัดทำ TCFD Recommendations ฉบับภาษาไทยโดย ก.ล.ต. ภายใต้การสนับสนุนจาก TCFD ในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บริษัทจดทะเบียน นักวิเคราะห์การลงทุน และผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน มีความเข้าใจแนวทางการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับโอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น สามารถอ้างอิงในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการพิจารณาลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการช่วยให้ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัท หรือมาตรฐาน ISSB IFRS S1 และ IFRS S2 ได้อย่างราบรื่นในอนาคต เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท และช่วยขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นกลไกสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608 ได้ต่อไป”
TCFD Recommendations เป็นกรอบคำแนะนำด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ที่ช่วยให้บริษัททั่วโลกคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และนำไปสู่การจัดสรรเงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น
นับตั้งแต่มีการเผยแพร่ TCFD Recommendations ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการเรียกร้องให้บริษัททั่วโลกเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งแรกของไทยที่เข้าร่วม เป็นผู้สนับสนุน TCFD อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางของ TCFD มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในส่วนของนักวิเคราะห์การลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน ก็ได้ส่งเสริมให้มีการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในกระบวนการวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารจัดการลงทุน ตามแนวทางของ TCFD เพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวของผู้ลงทุนด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษา TCFD Recommendations ฉบับภาษาไทย ได้ที่ TCFD-Recommendations-Thai.pdf (bbhub.io) หรือ Thai HandbooksGuidelines (sec.or.th)
หมายเหตุ:
1.เกี่ยวกับคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) โดยมีไมเคิล อาร์ บลูมเบิร์ก เป็นประธาน ซึ่งปัจจุบันคณะทำงานนี้มีรองประธานจำนวน 4 คน และมีสมาชิกทั้งหมด 31 คน โดย TCFD ถูกขอให้พัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศภาคสมัครใจและมีความสอดคล้องกัน เพื่อนำไปใช้โดยบริษัทต่างๆ ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ให้กู้ บริษัทประกันภัย นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ซึ่งกรอบการเปิดเผยข้อมูลนี้ได้รับการเผยแพร่ใน TCFD Recommendations Report เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TCFD ได้ที่ www.fsb-tcfd.org
2.ในปี พ.ศ. 2564 ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมทั้งข้อมูลความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศตาม TCFD Recommendations ต่อนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 56-1 One Report
3.ในปี พ.ศ. 2565 ก.ล.ต. ได้ออกคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน ที่สอดคล้องกับ TCFD Recommendations และได้สนับสนุน CFA Institute ในการจัดทำ Guidance For Integrating ESG Information into Equity Analysis and Research Reports เพื่อช่วยให้นักวิเคราะห์การลงทุนมีแนวปฏิบัติที่ดีในการผนวกปัจจัยด้าน ESG รวมถึง climate change ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์