24 ตุลาคม 2566…สภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบวงกว้างต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขณะนี้ภาครัฐริ่มมีกฎหมาย กลไกต่าง ๆ มาควบคุมการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้จะต้องปรับตัวหนุนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zeroด้วย
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวภายในงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition…From Commitment to Action” หรือ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” โดยระบุว่า
“คำถามที่เป็นหัวใจหลักของการประชุม TCP Sustainability Forum ในปีนี้คือ ไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างไร”
สราวุฒิขยายความต่อเนื่อง โดยเปิดเผยข้อมูลประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก* ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ทั้งภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เกษตรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จึงมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ยังมีกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ เช่น CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism เป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอน เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU เป็นคำถามว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ในข้อกำหนดพร้อมหรือไม่ในการส่งออกกับกฎระเบียบใหม่นี้
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (2022) แนะนำทางออกให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจหรือ GDP เติบโตขึ้น 1.2% จากปีฐาน หรือเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% ต่อปีภายในปี 2030 และมีโอกาสสร้างงานได้ถึง 160,000 ตำแหน่ง
“ผมเชื่อว่าเวทีนี้จะจุดประกายให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ร่วมมือสร้างสรรค์แรงบันดาลใจเป็นนวัตกรรม โดยเราจะมองไปข้างหน้า มีการปรับตัวร่วมกันทุกภาคส่วนด้วยอัตราเร่งที่หวังว่าจะเร็วมากขึ้น เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน”
ในฐานะ CEO กลุ่มธุรกิจ TCP สราวุฒิอธิบายว่าโจทย์ของบริษัทไม่ได้มองการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เท่านั้น แต่ต้องการรวมพลังภาคส่วนต่างๆ เปลี่ยนพันธสัญญาไปให้ถึงการ “ลงมือปฏิบัติ” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง มากกว่านั้นคือการสร้าง “อัตราเร่ง” โดยจากนี้ต้องมีความชัดเจนในการเดินทางไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065
“กลุ่มธุรกิจ TCP มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero สำหรับธุรกิจ คือ การเปลี่ยน Mindset เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม เราไม่ได้แข่งกับคนอื่นแต่เป็นการแข่งกับตัวเอง เราพยายามมองหาจุดร่วมระหว่างสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนและตัวเราว่าจะพาตัวเองไปในทิศทางไหน โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตไปได้ ควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นขณะนี้สินค้าของเราที่อยู่ในขวด PET จะเป็นขวดใสทั้งหมด ซึ่งจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าการใช้ขวดสี ภายใต้เป้าหมายใหญ่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” โดยมีเป้าหมายย่อยและแผนงานรองรับ รวมถึงประเมินผลการทำงานและปรับทิศการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อการเปลี่ยนผ่าน”
กลุ่มธุรกิจ TCP ให้ความสำคัญกับการปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก โดยได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่
-เศรษฐกิจหมุนเวียน: ภายในปี 2024 ตั้งเป้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดความหนาของกระป๋องอะลูมิเนียม การลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและขวดพลาสติกเพื่อลดการใช้ทรัพยากร ปัจจุบันสัดส่วนแพคเกจจิ้งที่ใช้กระป๋อง 60-65% มากขึ้นเรื่อยๆ30-35%เป็นขวดแก้ว และPET 5%
-ความเป็นกลางทางคาร์บอน: ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 จากทุกกระบวนการทำงานในธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ
-การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน: ตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2030
ภายในงาน ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้ขึ้นกล่าวเพิ่มเติมถึง “การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในปัจจุบัน” ต้องไม่มองแบบการทำ CSR ที่เราคุ้นเคยในอดีต
“วันนี้การท่องเที่ยวเป็นเพียง Green Hotel ไม่พอ ต้องเป็น Sustainable Green Destination เราหมายรวมถึง Ecosystem ของการท่องเที่ยวอย่างสายการบินด้วย ส่วนการสื่อสาร Sustainability สำหรับภายนอกคือ Branding และต้องมีการสื่อสายภายในองค์กรด้วย”
ดร.วิรไท กล่าวต่อไปว่า เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องกลยุทธ์ของธุรกิจ ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้เท่าทันกับความท้าทายและความคาดหวังของสังคม ไม่เบียดเบียนสังคม และสร้างปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไป ธุรกิจใดที่ทำเรื่องความยั่งยืนได้เป็นรูปธรรม จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เหนือคู่แข่งแบบ “ธุรกิจชนะและสังคมวัฒนา” ไปพร้อมกัน ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง จะเปิดความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ หรือความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายบุคคลที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนพันธสัญญาเป็นการลงมือทำ อย่างอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ความยั่งยืนของธุรกิจเกษตร มาจากการเพิ่ม Value ให้ทุกผลิตภัณฑ์จากอ้อย ทั้งน้ำตาล กากน้ำตาล และชานอ้อย โดยเฉพาะอ้อยที่ถือได้ว่าเป็น Zero Waste อย่างแท้จริงตามแนวคิด BCG สามารถนำมาต่อยอดสู่หลากหลายอุตสาหกรรมทั้งอาหาร เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ และพลังงานทดแทน
ปี 2565 มิตรผลมีพลังงานหมุนเวียนขายให้ภาครัฐ 210 เมกะวัตต์ รวมทั้งผลิตปริมาณคาร์บอนเครดิตจากโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 7 โรงกว่า 8 แสนตันต่อปี ซึ่งถือว่าสามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้แล้ว และตั้งเป้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050
“มิตรผลมีการร่วมมือกับหลายภาคส่วน พัฒนาเทคโนโลยี หนุนเงินทุนให้เกษตรกรไร่อ้อย มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกร และสิ่งแวดล้อมอยู่ได้ ธุรกิจก็จะอยู่ได้เช่นกัน”
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า SCGC มีแนวคิด Low Waste Low Carbon ด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้า Green Polymer ใช้เทคโนโลยีลดปริมาณพลาสติกลง 20% ซึ่งมีความแข็งแรงมากขึ้น หรือทำให้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น โดย SCGC ตั้งเป้าในปี 2565 จะลดคาร์บอนลงได้ 6 หมื่นตันคาร์บอน รวมถึงเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และจะลดลง 20% ภายในปี 2030
“ความสำเร็จความยั่งยืนของ SCGC คือ ความร่วมมือของคนในองค์กร และความร่วมมือกับบุคคลภายนอก อย่างพันธมิตรจากภาคส่วนต่างๆ”
*จากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)