27 ตุลาคม 2566… รัดเข็มขัด ลดต้นทุนพลังงาน – ทบทวนการลงทุน เน้นธุรกิจเติบโตสูง – เร่งเครื่องนวัตกรรมกรีนสู่ตลาดโลก ภายใต้การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) เต็มรูปแบบตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงสถานการณ์โลกที่อยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากต้นทุนพลังงานผันผวน ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง ตลาดจีนชะลอตัว ธุรกิจปิโตรเคมียังไม่ฟื้นตัวดี ผนวกกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อสูง ตลอดจนความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังดำเนินอยู่ เอสซีจีจึงเร่งเดินหน้า 3 กลยุทธ์เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้ต่อเนื่อง
1.รัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม มุ่งลดต้นทุนพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งราคาผันผวน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันมีการใช้ 220 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานปูนซีเมนต์ในไทย มีสัดส่วนการใช้ร้อยละ 40 พร้อมทั้งเร่งหาแหล่งพลังงานสะอาดอื่น ๆ อาทิ ปลูกหญ้าเนเปียร์ พืชให้พลังงานสูง 1,000 ไร่ ที่สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย มุ่งเป้าปลูก 30,000 ไร่ในปี 2571
2.ทบทวนแผนงาน ชะลอโครงการที่ไม่เร่งด่วน เน้นลงทุนธุรกิจเติบโตสูง อาทิ ร่วมมือกับ Denka ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ลงทุนร่วมกับ Braskem ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมทดสอบเครื่องจักร เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงป้อนตลาดโลก
3.รุกนวัตกรรมกรีน ที่มีความต้องการสูง ตอบเมกะเทรนด์โลก โดยสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice เติบโตโดดเด่น 9 เดือนของปีมียอดขายร้อยละ 54 จากการขายสินค้าทั้งหมด พร้อมเดินเครื่องเต็มที่เพิ่มยอดขายให้ได้ 2 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมดในปี 2573 ขณะที่ SCG Cleanergy ธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร ให้บริการระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) กับเครือเซ็นทารา พัฒนาเป็น Smart Hotel ควบคู่กับการเร่งส่งออกปูนคาร์บอนต่ำ และผลักดันนวัตกรรมกรีนอื่น ๆ อาทิ พลาสติกรักษ์โลก ธุรกิจรีไซเคิล
“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์จำเป็นที่จะต้องให้เสร็จเร็ว เพื่อจะได้รู้ว่า เกิดปัญหาอะไรบ้าง และจะได้ร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อให้สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย และเราเชื่อว่าเมื่อเกิดแล้ว ประเทศไทยจะยืนอยู่ในเวทีการค้าโลกอย่างมั่นคง หากยังไม่รีบทำสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ให้สำเร็จ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า เราจะทำกฎหมายอย่างไร เราต้องเปลี่ยนตัว Grid Infrastructure อย่างไร ต้องใช้พลังงานสะอาดมากน้อยเพียงใด ต้องซับพอร์ตนาเปียกสลับแห้งอย่างไร การปลูกหญ้าเนเปียร์ต้องเพิ่มขึ้นเพียงใด เพราะประเทศไทยเป็นบริบทของเกษตรกรรม มีเรื่องการท่องเที่ยว แต่ตรงนี้เป็นอุตสาหกรรม ต้องรีบผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเพื่อเป็นเมืองต้นแบบ”
ธรรมศักดิ์กล่าวต่อเนื่อง กลยุทธ์ที่เข้มข้นทั้งสาม ด้วยแนวทางการทำงาน ESG 4 Plus จะมีมาตรฐาน “การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ” (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) เต็มรูปแบบตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
“นอกจาก TCFD เราก็มองหามาตรฐานใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกมา เพราะเรื่องความโปร่งใสจะช่วยผลักดันให้เราไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการที่เอสซีจี ได้รับการยอมรับจากดัชนีความยั่งยืน ESG Risk Rating ระดับ ESG Industry Top Rated และ MSCI ESG Rating ระดับ AA (Leader) ก็มาจากการใช้ TCFDด้วย”
ธรรมศักดิ์กล่าวในท้ายที่สุด ถึง 3 กลยุทธ์เข้มข้นขึ้นและมาตรฐานโลกต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่จะเกิดสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเอสซีจี จะนำ ESG Symposium ที่จัดในไทย 11 ปีที่ท่ผ่านมา ไปจัด ESG Symposium ที่เวียดนาม และอินโดนีเซียในเดือน พฤศจิกายนนี้ เป็นครั้งแรกของทั้ง 2 ประเทศ โดยรูปแบบจะเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละประเทศ
“การไปจัด 2 ประเทศ เพื่อดึงพลังในการที่เราทำให้ทั้งอาเซียนปรับตัวเข้าสู่ สังคมคาร์บอนต่ำได้ ก็จะเป็นการช่วย Regional Supply Chain ในเรื่องนี้อีกทางหนี่งด้วย” ธรรมศักดิ์กล่าวในท้ายที่สุด