27 พฤศจิกายน 2566…ปัญหาขยะล้นเมืองไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทยแต่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งขยะเหล่านี้เกิดขึ้นจากของเหลือทิ้งหลังจากผู้ใช้ได้อุปโภคหรือบริโภคแล้ว โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ หากต้นทางที่ใช้งานไม่ได้แยกขยะรีไซเคิลได้ออกจากขยะประเภทอื่น มีการปนเปื้อน ไม่สะอาด แยกออกยาก ขยะเหล่านี้จึงถูกนำมาฝังกลบ นำไปเป็นขยะเชื้อเพลิง บ้างก็หลุดรอดลงไปเป็นขยะในทะเล ที่ทำให้เกิดมลภาวะต่างๆ และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตมากมาย
บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านจัดการขยะมานาน นำประเด็นปัญหานี้มาเป็นโจทย์แล้วก็พบ Pain Point มากมายจากผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน คือ
1. กลุ่มผู้อยู่อาศัยตามคอนโด โรงแรม อาคารสำนักงาน สถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า และอาคารอื่น ๆ ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก มีปัญหาขยะล้นที่เก็บ ขายได้ราคาน้อยเพราะไม่ได้แยกประเภท เอาขยะรีไซเคิลทั้งหมดรวมกันในถุงเดียว
2. กลุ่มผู้ขนส่ง ต้องแบกขยะรีไซเคิลพร้อมอากาศจำนวนมาก โดยเฉพาะการขนขวดพลาสติก ที่บางรายขนในขนาดใหญ่เกินตัวรถหรือเกินที่กฏหมายกำหนด หากเกิดเหตุฉุกเฉินอาจกระทบกับประชาชนคนอื่นบนท้องถนน นอกจากนี้บางรายต้องขับวนไปมาเพื่อให้ได้ขยะรีไซเคิลทำให้เปลืองเวลาและน้ำมัน
3. โรงงานรีไซเคิล/โรงงานแปรรูป ต้องการวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก แต่วัตถุดิบที่ได้ไม่สัมพันธ์กับความต้องการ
Pain Point ต่าง ๆ ถูกนำมาตกผลึก โดย Co-Founder SCGC ก็เห็นโอกาสที่จะนำขยะที่รีไซเคิลได้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพ ผ่านสตาร์ทอัพ “Wake Up Waste” แพลตฟอร์มและรถบีบอัด ที่จะช่วยให้กระบวนการตั้งแต่ต้นทางไปจนสู่การรีไซเคิลครบวงจร เพราะในแอปพลิเคชั่น Wake Up Waste จะมีการบันทึกข้อมูลการรับซื้อแบ่งตามประเภทขยะ น้ำหนัก ราคา เพื่อจัดรถขนส่งไปรับเป็นรถบีบอัดขยะรีไซเคิลที่ติดตั้งเครื่องบีบอัดบนรถกระบะสี่ล้อจัมโบ้ เพื่อส่งต่อวัตถุดิบคุณภาพให้โรงงานเฉพาะทาง พร้อมออกใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ และสรุปรายงานภาพรวม (Summary Report) รวมถึงสามารถสะสมคะแนนเพื่อแลกแต้มเป็นเงินหรือเป็นสินค้าได้
ต้องยอมรับว่าถึงแม้แอปจะดีเพียงใดก็ตาม แต่หากทุกคนไม่ได้ใช้ก็ไม่มีประโยชน์ ทีมงาน SCGC จึงสร้างช่องทางการเข้าถึงลูกค้าต้นทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อเข้าไปแนะนำวิธีการคัดแยกขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท ต้นทางขายได้ราคาดีขึ้น เริ่มจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร่วมกับพันธมิตร (Partner) ทั้งภายในองค์กรSCGCเอง และพันธมิตรจากภายนอก เพื่อขยายฐานลูกค้า ให้รู้จัก Wake Up Waste เพิ่มขึ้น รวมถึงทีมมี Web Application ที่ช่วยให้การรับซื้อและขนส่งไปยังโรงงานปลายทางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เก็บข้อมูลได้ พร้อมรายงานสรุปภาพรวมขยะรีไซเคิล ปริมาณการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ เพื่อมีส่วนช่วยในการรักษ์โลกให้แก่ผู้ขาย
ในขณะที่รถกระบะสี่ล้อจัมโบ้พร้อมคนขับจากบริษัทพันธมิตร ที่รับซื้อขยะจากผู้บริโภค ถูกออกแบบให้เป็นรถบีบอัดขยะรีไซเคิล (Mobile Compress Service) โดยใช้เทคโนโลยีรถบีบอัดขยะรีไซเคิล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรทุกไม่ว่าจะเป็น ขวดพลาสติก กระดาษลัง กระป๋องอะลูมิเนียมได้มากขึ้น 5-10 เท่า ทำให้ขนได้ปริมาณมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาและค่าขนส่งลง ส่วนแอปจะทำหน้าที่บริหารจัดการ ระบุให้คนขับไปรับส่งของตามตารางในแอป และกำหนดการทำงานตามคำสั่งบีบอัดก้อน ป้อนเข้าสู่โรงงานรับซื้อเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นของเอสซีจีซีเอง โรงงานพันธมิตรเอสซีจีซี หรือโรงงานภายนอก ซึ่งได้ส่วนต่างราคาที่สูงขึ้น ช่วยให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ตลอดซัพพลายเชน
จากการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของ Wake Up Waste ในช่วง 1 ปีที่ให้บริการพบว่า มีลูกค้าจากทั้งกลุ่มผู้อยู่อาศัย ผู้ขนส่ง และโรงงานรีไซเคิลถึง 250 แห่งครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร 50 เขตได้รับขยะรีไซเคิลเติบโตต่อเนื่องทุกเดือน ยอดสะสมทั้งหมด 600 ตันรายได้สะสมอยู่ที่ 4.5 ล้านบาท ที่สำคัญช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 383,000 kg เทียบเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับได้ 31,800 ต้น
การที่แพลตฟอร์ม Wake Up Waste ของ SCGC คว้ารางวัล Gold จากเวที Marketing Award of Thailand 2023 (MAT Award 2023) จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพนักงานSCGCที่ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมกรีนโซลูชัน เพื่อตอบความต้องการกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย คุ้มค่าและรักษ์โลกด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมตามทิศทาง Low Waste, Low Carbon เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน