29 พฤศจิกายน 2566…ภายใต้กรอบ ESG ออมสินมีความเชื่อว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยเป็นปัญหาเรื่องของความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ออมสินจึงมุ่งแก้ปัญหาทางสังคมในมิติต่างๆที่อยู่ใกล้ตัวเพราะลดความเหลื่อมล้ำ
ธนาคารออมสินจัดงานสัมมนา GSB Forum 2023 หัวข้อ ESG : Social Pillar Driven “สังคมยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์การดำเนินกิจการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกรอบแนวคิด ESG : Environment-Social-Governance ที่ธนาคารมุ่งเน้นแกนหลักด้านสังคม หรือ Socia
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “How Does Social Bank Work on the Journey toward Sustainability?” โดยระบุว่า ESG เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะนำไปสู่เรื่องของความยั่งยืน ธนาคารออมสินกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ Dual Mission โดยทำธุรกิจธนาคารสร้างผลกำไรมาสนับสนุนการทำภารกิจเพื่อสังคม มุ่งเป้าหมายช่วยแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ SDGs เป้าหมายที่ 1 และ 10
“การทำ CSR เป็นการทำที่ต้องมีต้นทุน ต้องใช้งบเพื่อทำโครงการในระยะสั้น มาแล้วจบไปไม่ต่อเนื่องและไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน เราจึงอยากให้เปลี่ยนการช่วยเหลือสังคมแบบ CSR ให้เป็นคอนเซ็ปต์ของ CSV หรือ Creating Shared Value คือการนำปัญหาเชิงสังคมใส่เข้าไปในธุรกิจ ปรับการทำธุรกิจของเราเพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาทางสังคม ทำให้กำไรใหญ่ขึ้น สุดท้ายโครงการเพื่อสังคมจะเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งเราทำเรื่องนี้มา 3 ปีอย่างต่อเนื่องโดยให้ความสำคัญกับ Triple Bottom Line lihk ทำธุรกิจให้เกิดกำไรเพื่อช่วยคน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้”
โดยผ่านการทำงาน 4 มิติ คือ การดึงคนเข้าสู่ระบบการเงิน มอบแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ให้ความรู้ทางด้านการเงิน และสร้างให้คนมีงาน มีอาชีพ
ออมสินใช้แนวคิดของการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี ธนาคารเพื่อสังคมได้จัดทำโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วกว่า 63 โครงการ ช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 17 ล้านคน สนับสนุนการให้สินเชื่อช่วยเสริมสภาพคล่องด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแก่ลูกค้ารายย่อยกว่า 8.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเป็นครั้งแรก จำนวนกว่า 3.2 ล้านคน
ผลสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นได้ด้วยการกำหนดเป็นนโยบาย Social Mission Integration โดยบูรณาการแนวคิดเพื่อสังคมในกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือสังคม (Product) การจัดทำโครงการโดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม(Project) และการปรับกระบวนการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ของสังคม (Process) ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมของธุรกิจและสังคม คือ CSV : Creating Shared Value นั่นเอง
“ในภารกิจ Social Mission Integration เราให้ทุกคนที่ดูแลโปรดักต์สำคัญ โปรเจกต์สำคัญ และโปรเซสสำคัญทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นด้านจัดซื้อ สินเชื่อ เงินฝาก ต้องนำปัจจัยการพัฒนาสังคมใส่เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจทั้งหมด เริ่มจากเรื่องเล็กน้อยๆ เช่น การสั่งกระปุกออมสิน แทนที่จะไปสั่งบริษัทใหญ่ก็ไปร่วมมือกับมูลนิธิออทิสติกให้เขาทำให้เรา หรืออย่างงานกฐินที่ผ่านมาเรานำคอมพิวเตอร์ที่หมดอายุการใช้งานแต่สภาพยังดีอยู่ ปกติถ้านำไปขายทิ้งก็ได้เครื่องละ 500 บาท ร่วมมือกับเอกชนซ่อมแล้วนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับก็ดีใจมาก เพื่อคืนรายได้กลับไปสู่สังคม ทุกอย่างต้องใส่มิติทางสังคมเข้าไปด้วย”
วิทัยกล่าวในท้ายที่สุด หลังจากนี้ออมสินเตรียมเดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าต่อสังคมอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยการจัดสรรงบประมาณและการลงทุนในกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ลูกค้ารายย่อยอย่างยั่งยืน การขยายผลโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม โดยธนาคารออมสินคาดหวังที่จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาที่ครบทั้ง 3 แกน ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ด้านมิติการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดีซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง