NEXT GEN

ไทยอาจยังไม่มีความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัย!

5 กุมภาพันธ์ 2567…ไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร โดยมีการคาดการณ์ว่า ราวปี 2572 ไทยจะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ (Aged society) ไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged society)

การเปลี่ยนผ่านของไทยใช้เวลาเพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ ไทยอาจยังไม่มีความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยเทียบเท่าประเทศเหล่านี้ (รูปที่ 1)

สาเหตุการเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอดของไทยเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก

1) นโยบายคุมกำเนิด และค่านิยมที่คนต้องการมีบุตรน้อยลง ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยลดลงต่อเนื่อง และอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (รูปที่ 2)
2) จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนคนเสียชีวิต ส่งผลให้ฐานประชากรสูงวัยเพิ่มมากกว่าฐานประชากรโดยรวม (รูปที่ 3)

 

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะยิ่งเผชิญความท้าทายจากการขาดแคลนกำลังแรงงาน โดยอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า คาดว่าสัดส่วนกำลังแรงงานของไทย (อายุ 15-59 ปี) ต่อประชากรทั้งหมดจะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียงราว 50% ในปี 2593 (รูปที่ 4)

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างตลาดแรงงานไทยพบว่าประกอบไปด้วย แรงงานทักษะต่ำคิดเป็นสัดส่วนราว 82% (แรงงานภาคเกษตร แรงงานก่อสร้าง แรงงานในโรงงาน) แรงงานทักษะปานกลางราว 16.5% (แรงงานในภาคบริการ พนักงานขายสินค้า) และแรงงานทักษะสูงราว 1.5% (วิศวกร แพทย์ อาจารย์ วิชาชีพต่างๆ)

ดังนั้น ความท้าทายด้านปริมาณจากการขาดแคลนกำลังแรงงานคงกระทบกับการจัดหาแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจบริการต่างๆ อาจรับมือการขาดแคลนแรงงานด้วยการพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจากประเทศในกลุ่ม CLM (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา) สะท้อนจากจำนวนแรงงานจากทั้ง 3 ประเทศที่อยู่ในไทยเติบโตจากปี 2556 ที่ราว 1.0 ล้านคน ไปเป็นราว 2.3 ล้านคนในปี 2566 หรือโตเฉลี่ยต่อปีราว 8% (รูปที่ 5) จากไทยยังมีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าประเทศเหล่านี้

 

ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานไทยยังมีความท้าทายด้านคุณภาพจากแรงงานส่วนใหญ่ยังมีทักษะไม่ตรงความต้องการของตลาด (Skills gap) รวมถึงจำนวนแรงงานทักษะสูงยังมีไม่เพียงพอ และยังมีสัดส่วนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าอีกหลายประเทศ (รูปที่ 6) ส่งผลให้บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจไฮเทคต่างๆ ต้องมีการนำเข้าแรงงานกลุ่มนี้ สอดคล้องกับจำนวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทักษะสูงเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2556-2566) ที่ยังขยายตัวเฉลี่ยต่อปีราว 3% (รูปที่ 7) และคาดว่าความต้องการจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกตามการเร่งผลักดันอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพใหม่

 

 

 การดึงดูดแรงงานข้ามชาติทักษะสูง  คงขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถจูงใจการลงทุนต่างประเทศและมีนโยบายสนับสนุนการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติในไทยที่แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้เพียงใด เช่น สิงคโปร์มีการให้สิทธิการเป็นพลเมืองแก่แรงงานทักษะสูง และส่วนลด/ผลประโยชน์ด้านภาษีให้ต่างชาติมาลงทุนได้ จีนมีภาษีอัตราพิเศษให้แรงงานทักษะสูง และโครงการดึงดูด Talent จากทั่วโลก เป็นต้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขาดแคลนแรงงานจะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงข้างหน้า และจะกระทบต่อธุรกิจที่มีสัดส่วนการใช้แรงงานต่อจำนวนกำลังแรงงานทั้งหมดสูง (รูปที่ 8) โดยเฉพาะในภาคเกษตร (31%) และภาคบริการต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร (9%) และธุรกิจก่อสร้าง (6%) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากการเป็นสังคมสูงวัยคงทำให้ธุรกิจเหล่านี้อาจต้องหันไปพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนที่มากขึ้น ขณะที่ บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง (17%) และธุรกิจการผลิต (16%) ที่สามารถแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีได้อาจต้องพิจารณาถึงโอกาสในการนำหุ่นยนต์/นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับผลิตภาพ/ทักษะแรงงานไทยให้เท่าทันเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

 

You Might Also Like