NEXT GEN

KBank Private Banking  X Lombard Odier เผยแนวคิด RETHINK SUSTAINABILITYผลักดันและเร่งให้เกิดการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน

16-17 มีนาคม 2567…มีการระบุว่ามีจะเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) กระจายลงทุน ภายในปีพ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะคว้าโอกาสนี้อย่างไร? ธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ร่วมกันจัดงานเสวนาด้านความยั่งยืน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ เพื่อผลักดันและเร่งให้เกิดการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน และจากการเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการลงทุน ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนแห่งอนาคต ครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร เคมีภัณฑ์ และพลังงานหมุนเวียน พร้อมตอกย้ำบทบาทสำคัญของนักลงทุนในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ขัตติยากล่าวถึง 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวเปิดงานว่า “วันนี้ไม่ได้มาเล่าแล้วว่า Sustainability คืออะไร สําคัญ อย่างไร วันนี้ขอ to Action เพื่อผลักดันให้เกิดการลงมือทำ  โดยมี 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ได้แก่ การกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์จากภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการเลือกลงทุนของนักลงทุน  ซึ่งถ้าไม่ปรับตัว จะเกิดความสูญเสียอย่างแน่นอน และก็จะหมดโอกาสในการหาตลาดใหม่ ๆ รวมไปถึงโอกาสที่เคยมีอยู่อาจจะหายไปก็ได้ เราจะสูญเสียความสามารถในการทํากําไรเพราะเราแข่งขันไม่ได้ ซึ่งถ้าทุกคนปรับตัวได้ ก็จะเป็นโอกาสทั้งในแง่ของการสร้างแบรนด์ของบริษัท มีโอกาสในการหาตลาดใหม่ ๆ สร้างผลกําไรเพิ่มเติมและมีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวด้วย และในมุมของนักลงทุนอํานาจอยู่ในมือของท่านแล้วที่จะตัดสินใจเลือกลงทุนด้วย”

ขัตติยากล่าวย้ำ ในฐานะสถาบันการเงิน ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ Net Zero อย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศคือโจทย์ใหม่ของโลก ถือเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพยายามในการทำให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

อูแบร์ , พิพิธ (ขวา) และ จิรวัฒน์

งานนี้ได้วิทยากรคนสำคัญหลายท่านมาร่วมแบ่งปังองค์ความรู้ระดับสากลรวมถึงในระดับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น อูแบร์ เคลเลอร์ (Mr. Hubert Keller) Senior Managing Partner, Lombard Odier  พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

พร้อมกันนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันสร้างแรงขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ที่ส่งตัวแทนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่เป็น Best Practice และ Action ที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย เริ่มจาก ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)  กรกมล กอไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์ พัฒนาธุรกิจและพาณิชยกิจ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหานชชน) หรือ GC  สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)และรองประธานสภาอุตสหกรรมแห่งประเทศไทย

ดร. พิรุณ,วิวรรธน์ ,ยุทธศักดิ์,(บน)
วสิษฐ, กรกมล , สมโภชน์

RETHINK SUSTAINABILITY

“ตอนนี้เรากำลังมองไปที่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ครั้งใหม่ ที่วางให้ธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ ลอมบาร์ด โอเดียร์ เชื่อว่าธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่ถูกมองว่ามีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อเศรษฐกิจในการสร้างผลผลิตรวมถึงโอกาสการลงทุนได้อย่างมหาศาล ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญและหันมาสร้างคุณค่าจากธรรมชาติให้มากขึ้นและยังต้องสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

อูแบร์ขยายความต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง  ต้องอาศัยเวลา ช่วงแรก ๆ จะค่อนข้างช้า เช่น ในเรื่องพลังงานทดแทนที่มาจากแสงอาทิตย์ หรือลม แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงจุด Tipping Point สิ่งที่ตามมาคือ Speed & Scale  ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้นทันที ซึ่งปัจจุบันพลังงานทางเลือกที่ใช้ผลิตไฟฟ้าไปเร็วไปไกลมาก  เพราะว่าต้นทุนถูก ทุกคนอยากจะเข้ามาลงทุน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนสูงถึง 24 ล้านล้านเหรียญ สิ่งเหล่านี้จะ Disrupt คนที่ทําแบบเดิมอยู่แล้วไม่เปลี่ยนแปลง  ก็จะได้รับผลกระทบทั้ง Value Chain

พิพิธ กล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนถือเป็นภารกิจระดับโลก ประเทศผู้นำที่มีความพร้อมสามารถกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อทุกประเทศ  และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความท้าทายเป็นอย่างมากต่อประเทศไทย

“ความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทยคือการเป็นองค์กรที่เพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนผ่านบทบาทในการส่งเสริมเงินทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน  วันนี้ธนาคารเองก็ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Green Business และร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น”

จิรวัฒน์ อธิบายในมุม เคแบงก์ ไพรเวท แบงก์กิ้ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำแนะนำการลงทุน เล็งเห็นว่านักลงทุนคือหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแห่งอนาคตไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วย

A CALL TO ACTION FOR THAILAND

การปรับตัวให้ทันเศรษฐกิจโลก
เพื่อสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจไทย

ความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ตลอดจนความท้าทายและโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ในเรื่องนโยบายและกฎเกณฑ์จากทางภาครัฐ การสร้างระบบนิเวศและแพลตฟอร์มที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์กับทั้งสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

“ไม่ใช่แค่เรื่องของการขับเคลื่อนนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติจริง แต่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันอย่างมีกลยุทธ์ และไปในมิติที่สามารถนำเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมไปให้ประชาชนใช้ได้ วันนี้เราต้องสร้างการรับรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องของการกำหนดนโยบาย แต่คือการผลักดันและนำเครื่องมือให้ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งภาครัฐจะทำงานอย่างเร่งด่วน จากวันนี้จนถึงปี 2030” ดร.พิรุณ กล่าว

การลงมือทำของภาครัฐ และภาคเอกชน

ด้าน วิวรรธน์ ตัวแทนจากสภาอุตฯ กล่าวว่า “เราต้องใช้ Circular Economy อย่างมียุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนธุรกิจทำให้ครบ 4 R โดยจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการ Redesign Reduce ไม่ใช่เน้นแค่ Recycle หรือ Reuse เท่านั้น นอกจากจะสามารถลด Carbon Footprint อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้ GDP เติบโตเป็น 2 เท่า เพราะทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม”

นอกจากนี้ ภายในงานเสวนา ยังได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติของ 4 อุตสาหกรรมหลัก ที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ในอนาคต ได้แก่ การท่องเที่ยวและบริการ อาหารและการเกษตร เคมีภัณฑ์ และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตัวแทนจากแต่ละอุตสาหกรรมได้มาเล่าถึงการลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย

สร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับ
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 8% จากจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด   จึงเป็นเรื่องสำคัญในการระดมความคิด เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา เปลี่ยนแปลงวิถีการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  พร้อมคว้าโอกาสในการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้าง GDP รวมของโลกได้สูงถึง 10%

“แม้ภาคการท่องเที่ยวจะมีศักยภาพในการสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวนั้น ส่งผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องของการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม บางครั้งการลงทุนเข้าไปทําลายวิถีชีวิตของสังคมพื้นบ้านหรือลงทุนโดยที่ไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสภาพสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการท่องเที่ยวภูเก็ตที่สร้างปัญหาการจราจร  รวมไปถึงการทําลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ  ซึ่งประเทศไทย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถึง 90% มาเที่ยวเพราะว่าสิ่งแวดล้อม หากสิ่งแวดล้อมถูกทำลายก็คงไม่มีนักท่องเที่ยวอยากมา”

ยุทธศักดิ์

ยุทธศักดิ์ ขยายความต่อเนื่องว่า นักท่องเที่ยวยุโรปต้องการดูเต่าวางไข่ตามชายหาดมาก การที่นักท่องเที่ยวได้ไปนับจำนวนฟองของไข่เต่า คือความสวยงาม แต่ความสวยงามนี้กำลังถูกทําลายเนื่องจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ไม่ได้คํานึงถึงเรื่อง Sustainability

“Sustainability  ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทํา หากเข้าไปดูในบุ๊คกิ้งดอทคอมหรือในทราเวลโลก้า จะมีการพูดถึงเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เริ่มมีการถามว่าธุรกิจท่องเที่ยวได้ทําอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนหรือไม่  ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคําว่า Sustainability ไม่ใช่วิสัยทัศน์สวยหรูโดยที่ไม่ลงมือทําอะไร ถ้ามีการลงมือทำจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยว ธุรกิจก็ได้ผลประโยชน์”

“เชื่อหรือไม่ว่า นักท่องเที่ยวยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อเข้าพักที่โรงแรมที่มี STGs หรือ Sustainable. Tourism Goals ดังนั้นในอนาคต Sustainability จะต้องเป็น Soft Power จะต้องเป็น Key Driver สําหรับการเติบโตของภาคท่องเที่ยวในอนาคต  ถ้าเรายังนิ่งอยู่กับที่ ไม่ได้ให้ความสําคัญการลงทุนที่มองในมิติเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอนาคตจะแข่งขันลำบาก”

ระบบอาหารแห่งอนาคต
บริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

ปัจจุบันทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี 2593 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มราว  1 หมื่นล้านคน นำไปสู่ความต้องการด้านอุปโภค บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-100  การเสวนานี้เน้นเจาะลึกประเด็นด้านการเกษตร ห่วงโซ่อาหาร และแนวทางการผลิตรูปแบบใหม่ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่สร้างผลิตผลที่เพิ่มขึ้นด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตใหม่ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

“ปัจจุบันมีประชากรโลกเกือบ 8,000 ล้านคน  และอีกประมาณไม่เกิน 20 กว่าปี ทั่วโลกจะมีประชากร 1 หมื่นล้านคน เราจะดูแลอาหารให้คนเหล่านี้ได้อย่างไร ถือว่าเป็นคําถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบ เราจะผลิตอาหารให้เพียงพอ พร้อมๆ กับที่เราต้องทําให้โลกใบนี้ยั่งยืนด้วย เป็นความท้าทายที่สําคัญมาก ๆ วันนี้เองในบริบทของอุตสาหกรรมที่เรายืนอยู่ เราได้มีบทบาทอย่างไรต่อโลกใบนี้  มีบทบาทอย่างไรต่อผู้บริโภค และมีบทบาทอย่างไรในการที่เราจะนําพาอุตสาหกรรมของเราไปอย่างยั่งยืนจริง ๆ”

วสิษฐ

“ เราอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร เราโฟกัสเรื่องของ Food Quality เราต้องการที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าของชีวิตของมนุษย์ด้วยอาหารที่ดีกว่า เราจึงต้องให้ความสําคัญกับเรื่องการเก็บรักษาอาหาร การนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ อาหารที่ดีกว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของ Food Safety มีมาตรฐานที่สูงที่สุด ต้องมีคุณภาพที่เหนือกว่าและมีความอร่อย ที่สําคัญก็คือว่าเราต้องอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ”

ในฐานะที่เบทาโกรเป็นแบรนด์ Top Class ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนถูกใช้ในการจัดการในหลายเรื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ขั้นตอนการผลิตที่มีความปลอดภัยสูง  การหันมาใช้พลังงานทางเลือก เช่น การติดตั้งแผง Solar ในโรงงานซึ่งสามารถ Generate พลังงานได้ถึง 10% ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า  การใช้เทคโนโลยีเพื่อทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโปรตีนทางเลือก เช่น Plant-based Insect-based  เนื่องจากโปรตีนจากสัตว์อาจไม่เพียงพอ   สิ่งเหล่านี้เบทาโกรได้ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน

“ธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ต้องหาความสมดุลย์ที่เหมาะสมให้ได้  แล้วก็อยู่ภายใต้คําว่า Sustainability  เบทาโกรเองต้องการที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มคุณค่าของชีวิตของมนุษย์ด้วยอาหารที่ดีกว่า  เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนได้” วสิษฐกล่าวทิ้งท้าย

พลาสติกหมุนเวียน
อุตสาหกรรมเคมีแห่งอนาคต

 

อุตสาหกรรมเคมีในการผลิตพลาสติกรูปแบบใหม่ ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน  ซึ่งเป็นแนวทางที่จะสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคต พลาสติกจะเป็นสินทรัพย์แห่งอนาคตโดยต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนด้านนี้ราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ.2583

GC ในฐานะ Global Company ดําเนินธุรกิจในต่างประเทศมากกว่า 30 ประเทศ มีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 30,000 คน โดยที่พนักงานที่ต่างประเทศมากกว่าในประเทศมากกว่าครึ่ง ซึ่งGC ก็เหมือนกับบริษัทชั้นนําหลาย ๆ แห่งพบว่า การดําเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันมีความท้าทายอย่างมากในเรื่องของความไม่แน่นอน

กรกมล

“ที่ผ่านมา GC ได้ลงมือทำงานด้านความยั่งยืนมาตั้งแต่ 13 ปีที่แล้ว ช่วงแรก จะเน้นในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นของเราเข้าใจว่าเรามีกระบวนการทํางานเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนอย่างไร และเรากำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนอย่างไร เราขยายธุรกิจของเราด้วยการจับมือกับพันธมิตร และให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม”

กรกมลอธิบายเพิ่มเติมบริษัทต้องแข่งขันกับตัวเอง  ขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีใหม่ ๆ และใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อที่จะใช้พลังงานลดน้อยลง สามารถดักจับคาร์บอนที่อยู่ในอากาศลงใต้ดินและนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในอากาศ นี่คือ Commitment  ในการก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050

“ยกตัวอย่าง บริษัทในเครือ อย่าง Envicco ได้รับอย.รับรองในการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิล Food Grade มาผลิตเป็นขวดน้ำ rPET ซึ่งมีหลายแบรนด์ในประเทศไทยใช้บรรจุภัณฑ์นี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยโรงงานก็รับขวด PET ใช้แล้ว มาจากหลายโครงการ หนึ่งในนั้นเป็นโครงการของ GC คือ โครงการที่เราเรียกว่ายูเทิร์น เราจะไปทํางานร่วมกับสังคมและชุมชนในการตั้งจุดแยกขยะ จากนั้นขวด PET ที่ใช้แล้วจะถูกส่งกลับมาให้ Envicco เป็นวัตถุดิบ rPET ต่อไป เราคาดหวังว่าเราจะสามารถที่ผลิตขวด rPET ที่ใช้ตัวเม็ดพลาสติกที่ทำจากขวดพลาสติกใช้แล้วจากวัตถุดิบในประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราจะลดขยะพลาสติกได้มากถึง 60,000 ตันต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

กรกมลกล่าวตอนท้ายว่า การลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน สามารถเริ่มที่ตัวเราเอง เปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อเป็นคน Gen S หรือ Gen Sustainability โดย GC ได้ผลักดันแคมเปญคนเจนใหม่ หัวใจยั่งยืน เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของวัยหรือเรื่องของใคร มาร่วมสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม สร้างแรงกระเพื่อมการใช้ชีวิตแบบ Net Zero

อนาคตพลังงานทางเลือกของประเทศไทย
กับโอกาสในการลงทุน

ก๊าซเรือนกระจกกว่า 73% มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน  น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ   ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานดังกล่าวมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจึงมีความสำคัญ  ในช่วงนี้จะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้และแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อโลกที่สะอาดและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

สมโภชน์ เข้าใจถึงข้อมูลข้างต้นเป็นอย่างดี  แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถเกิดได้ในประเทศไทยเนื่องจากหลายปัจจัย  ดังนั้นสิ่งที่จะทำได้คือการนำเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา

สมโภชน์

“ผมเชื่อว่าจะเป็น Positive Impact ให้กับประเทศไทย เพราะสิ่งเหล่านี้เพิ่มขีดความสามารถของประเทศเรา ถ้าเราไม่ทําเรื่องพวกนี้ เราจะแข่งขันไม่ได้  เพราะปัจจุบันทุกประเทศใช้ CBAM ในการกีดกันทางการค้า ถ้าสินค้าไทยที่ส่งออกไปมีคาร์บอนคอนเทนต์สูงกว่าประเทศอื่นที่ส่งของเหมือนกับเรา เขาจะจ่ายภาษีน้อยกว่าเราทำให้ของเราขายไม่ได้  เพราะฉะนั้นเราบริหารจัดการให้เกิดตอนนี้ดีกว่าก่อนถูกบังคับให้เกิด”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ  พบว่ามาจากรถ ซึ่งรถเล็กหรือรถส่วนตัวสร้างมลพิษน้อยกว่ารถใหญ่ สมโภชน์จึงมุ่งไปที่ การขนส่งสาธารณะ โดยนำเงินลงทุนจากต่างประเทศมาทำรถเมล์ไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการอยู่ขณะนี้ นับเป็นรายแรกของโลกที่มีรถบัสวิ่งบนถนน 100 กิโลเมตร โดยการใช้แบตเตอรี่ ช่วยลดต้นทุน ลดคาร์บอน ประหยัดพลังงาน ปัจจุบันทดลองวิ่งจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา

“เราประหยัดพลังงานได้ 60% และยังช่วยลดคาร์บอน ดังนั้นธุรกิจที่เราโฟกัสต่อไปจะเป็นเรื่องเหล่านี้ เพราะเราเชื่อว่ามีเงินที่พร้อมลงทุนรออยู่ นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Energy Storage System (ESS) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะทํา ประเทศเราต้องไปถึงเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ ต้องมีนโยบาย ตอนนี้รัฐบาลก็เริ่มออกมาส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในประเทศไทยแล้ว”

สมโภชน์ฝากต่อเนื่องในเรื่องที่กล่าวไว้เป็นเรื่องใหญ่มาก   คนใดคนหนึ่งไม่สามารถที่จะทําเรื่องนี้ให้ประสบความสําเร็จได้ ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง  เพราะรัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งนโยบายต่าง ๆ ออกมาแล้ว ก็ต้องส่งสัญญาณนี้ออกไปกับทุกภาคส่วน  ประเทศไทยก็จะไปอยู่อีก Era หนึ่ง

“ทําไมประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ก่อนคนอื่น  เป็นการขายข้ามประเทศแบบที่บริษัทเราทำ   ประเทศไทยอาจจะเป็น Green Resilience  ประเทศแรกของโลกก็ได้ที่เราสามารถ Transformation เรื่องนี้ได้” สมโภชน์กล่าวในท้ายที่สุด

มาถึงบรรทัดนี้จะเห็นได้ว่าการปรับตัวให้ทันเศรษฐกิจโลก
เพื่อสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจไทยเป็นสิ่งสำคัญ

พิพิธ อธิบายถึง Action ของธนาคารกสิกรไทยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน และเป็นผู้นำด้าน ESG ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พิพิธ

“เราพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในของธนาคารเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและยกระดับมาตรฐานสู่สากล”

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้พัฒนาบริการที่มากกว่าบริการทางการเงิน (Beyond Banking Solutions) เพื่อช่วยให้ลูกค้าปรับตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ นำโซลูชันต่างๆ พร้อมทั้งแนวคิดที่ดีมาปรับใช้ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน เพื่อหวังผลักดันให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

การร่วมมือกับลอมบาร์ด โอเดียร์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ผ่านแนวคิด RETHINK SUSTAINABILITY ครั้งนี้ จึงนับเป็นกุญแจสำคัญในการพาประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต

 

อูแบร์

อูแบร์กล่าวเพิ่มเติมว่า เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่  Net Zero ซึ่งมาพร้อมโอกาสในการลงทุนอย่างมหาศาล ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยหันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การลงทุน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investment) ซึ่งถือยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญ ที่ไม่เป็นเพียงแค่ทางรอดให้กับเงินลงทุนของผู้ลงทุน ยังเป็นทางรอดให้กับองค์กรและประเทศต่างๆ ในระดับโลกด้วย

“ธุรกิจที่ยั่งยืน เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนได้ เพราะมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจใหม่อย่าง CLIC® ซึ่งจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแห่งอนาคตไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วย ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ยั่งยืนประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่นำเสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Solution Providers) และ กลุ่มธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และ/หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Transition Candidates)”

จิรวัฒน์

จิรวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายของงานว่า เมื่อนักลงทุนคือหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน เคแบงก์ ไพรเวท แบงก์กิ้ง เล่าถึงการลงทุนกับกองทุนของ Lombard Odier  กับกองทุนของผู้จัดการกองทุนหลายกองทุนในประเทศในโลกพบว่า  ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา KBank Private Banking เริ่มแนะนําลูกค้าไปลงทุนในกองทุนเปลี่ยนโลกต่าง ๆ  ได้เรียนรู้มากมายนำองค์ความรู้จากการลงทุนมาแบ่งปันได้ เพราะปัญหาของทุกอุตสาหกรรมก็มักจะเป็นปัญหาเดียวกันกับในประเทศไทย  เราต้องคิดใหม่สามารถเรียนรู้จากต่างประเทศได้ เ เราจะก้าวไปด้วยกันโดยสิ่งที่เรียกว่า Investment led Education และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน หรือ Investment-led sustainability ของทุกภาคส่วนได้จริง

ตลอดเวลาของงาน จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ตลอดจนความท้าทายและโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ในเรื่องนโยบายและกฎเกณฑ์จากทางภาครัฐ การสร้างระบบนิเวศและแพลตฟอร์มที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์กับทั้งสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

You Might Also Like