11 มิถุนายน 2567…ความร่วมมือของพันธมิตรทั้งสามองค์กร ผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย นำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล ชุมชนบ้านดอกไม้สด และ ชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พร้อมตั้งเป้าการทำงานร่วมกันมุ่งขยายผลโครงการต่อเนื่องในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อทลายข้อจำกัด สะท้อนนโยบายและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการผู้นำโครงข่ายดิจิทัลอินฟราสตรัคเจอร์อย่างเอไอเอส
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ,ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
“ความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวเอไอเอส จะทําเรื่องของ Digital for THAIs ในฐานะที่เราเป็นบริษัทชั้นนําในประเทศไทย จะต้องเกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ผมเองเคยพูดถึงทฤษฎีพาย 3 ชิ้น สร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแรง จับมือข้ามอุตสาหกรรมเปิดตัวบริการใหม่ ๆ ดึงลูกค้าหน้าใหม่ และพัฒนาคนและความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้เอไอเอสได้ส่งมอบโครงข่ายดิจิทัล ที่พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ”
ด้วยโครงข่ายดิจิทัลจากโครงการนี้ เอไอเอส และพาร์ทเนอร์จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการเก็บข้อมูลไปแล้ว คาดว่าจะมีตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญเกิดขึ้นในปีถัดไป
สมชัยกล่าวต่อเนื่อง ความร่วมมือครั้งสำคัญที่มีกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นผู้นําในด้านพลังงาน รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่าง สวพส. ทำให้เอไอเอสเข้าถึงพื้นที่ที่มีความห่างไกลมาก ๆ ที่เราอาจจะยังเข้าไปไม่ถึง
ที่ชุมชนบ้านดอกไม้สด และ ชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา อยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยาง เพียง 40-50 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง เป็นพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้าและไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เมื่อเกิดโครงการดังกล่าวในการนำไฟฟ้าและโครงสร้างการสื่อสารเข้าไป ทำให้ทั้ง 2 พื้นที่มีไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์ใช้ ซึ่งจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับเสาสัญญาณโครงข่ายดิจิทัลเอไอเอส 24×7 อีกส่วนหนึ่งเป็นแผงโซล่าร์ผลิตไฟ 3-5 กิโลวัตต์ที่กัลฟ์ส่งมอบให้โรงเรียนและสถานีอนามัยซึ่งมีตู้แช่ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยาพ่นโรคหอบหืดที่ชุมชนมักจะเป็นอยู่ประจำ เนื่องจากฝุ่น PM2.5 จากการเผาพืชเชิงเดี่ยว
ธีรตีพิศา กล่าวเพิ่มเติมถึงกัลฟ์ ในปีนี้ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สำหรับพื้นที่ดอยมอโก้โพคีนั้น เดิมชาวบ้านมอโก้โพคีประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ทำให้มีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และยังทำลายสุขภาพผู้ปลูกเนื่องจากการใช้สารเคมี และการเผาในฤดูเก็บเกี่ยวยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย ซึ่งทาง กัลฟ์ได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชนสานต่องานรักษาผืนป่าและพัฒนาอาชีพในการปลูกกาแฟให้กับคนในชุมชน กัลฟ์จึงได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น รวมไปถึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน และในอนาคตชุมชนจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปกาแฟด้วยตนเอง นับว่าเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน
ชวลิต กล่าวถึงความร่วมมือของกัลฟ์ และเอไอเอสในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการสื่อสาร และยังนอกจากนี้ยังสามารถ ต่อยอดการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ หรือแม้กระทั่งการตลาด เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างประโยชน์ทั้งชุมชน เศรษฐกิจ และยังเป็นการดูแลรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนด้วย
เมื่อเกิดความร่วมมือเช่นนี้ กล่าวกันว่าได้พื้นที่ป่าคืนมา 2,000 ไร่ ในที่นี้หมายถึงเมื่อชุมชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นจากองค์ความรู้ในสื่อทุกช่องทางที่มาจากโครงข่ายดิจิทัลของเอไอเอส สามารถนำไปปรับใช้ได้ จะทําให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่นการปลูกพืชทางเลือกแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเสมือนการคืนพื้นที่ป่าเพื่อปลูกกาแฟ ใช้พื้นที่ไม่ถึง 10 ไร่แต่มีรายได้มากกว่า หากเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดใช้พื้นที่ถึง 50 ไร่ ส่งผลให้ชุมชนลดพื้นที่เปลี่ยนมาปลูกกาแฟเป็นการทําน้อยแต่ได้มีรับรายได้มากกว่า
“ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย จะเป็นต้นแบบสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการนำศักยภาพขององค์กรมาสร้างประโยชน์ที่จะช่วยดูแลด้านสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ และบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จะนำมาสู่การเติบโตร่วมกันของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” สมชัยกล่าวในท้ายที่สุด