22 สิงหาคม 2567…เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้คนและขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจไทย มุ่งสู่การสร้างความสามารถในการร่วมมือกันให้ประเทศไทยมีความ Future-ready
ปิยะชาติ (อาร์ม) อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด หนึ่งในนักธุรกิจไทยที่เป็นสมาชิกสภาอนาคตโลก (Global Future Council) แชร์ประเด็นสำคัญจาก 15th Annual Meeting of New Champions 2024 หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Summer Davos ซึ่งจัดโดย World Economic Forum รวมถึงได้พูดคุยเรื่อง แนวคิดเศรษฐกิจใหม่ (Sustainomy) ที่เป็นคำตอบและทางออกสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
แม้ประเทศไทยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มลำดับแรก ๆ ของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในอาเซียนและทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและสมดุล เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ถูกทำลายหรือใช้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราส่วนรายได้ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงกว่าในสิงค์โปร์ถึงสองเท่า แต่สถิติการ ใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยสามารถสร้างรายได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของสิงคโปร์เท่านั้น ดังนั้นการผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง (High-value Economy) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่เหมาะสมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะระหว่างคน (People), โลก (Planet), และผลกำไร (Profit) หรือนโยบาย (Policy)
นอกจากนี้ แนวคิดเกี่ยวกับการเติบโตในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ธุรกิจที่ยั่งยืนในยุคนี้จะไม่ใช่ธุรกิจที่เก่งเรื่องการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเก่งในการสร้างความ “ร่วมมือ” ด้วย หากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง (High-value Economy) ไม่เพียงแค่ภาครัฐที่ต้องออกนโยบายหรือภาคเอกชนที่สร้างกลยุทธ์เพิ่มกำไร แต่ต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เริ่มต้นจากการหาเอกลักษณ์ (Uniqueness) และกำหนดจุดยืนของประเทศไทย ผ่านการร่วมมือจากภายในประเทศไปสู่การร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศเชิงรุก (Proactive) พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยภายในงาน Future of Growth Briefing ได้สรุปแนวคิดสำคัญที่เป็นสารตั้งต้นสู่ความเข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ (Sustainomy) ที่จะนำพาประเทศไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ดังนี้
1.เข้าใจความเชื่อมโยงของกิจกรรม
ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน
ในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการแทรกแซงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่บิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งนำไปสู่ “ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ” ที่มีต้นทุนสูงถึง 375 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเรายังได้ใช้ทรัพยากรล่วงหน้าไปกว่า 7.5 ปี เพื่อสร้าง GDP ขึ้นมาเพียง 1 หน่วย แต่ใช้ทรัพยากรถึง 3 หน่วย ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ในระยะยาว ในการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงจำเป็นต้องสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความยั่งยืนและมูลค่าเพิ่ม เพื่อรองรับอนาคตและสร้างเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
2.เข้าใจเงื่อนไข
และความท้าทายในการทำธุรกิจ
ความล้มเหลวของตลาดเกิดจากการที่ธุรกิจมักจะดำเนินการในพื้นที่ที่มีความสามารถในการจ่ายและมีกำไรสูง แต่ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เสมอ เพราะผู้บริโภคในหลายพื้นที่ก็ไม่มีความสามารถในการจ่าย ทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดลงของคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถ้ามองในมุมธุรกิจ Business as Usual อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่ต้องมองแบบ Bussiness as Unusual ที่เน้นให้เกิด Force for Good จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลง
3.เพิ่มความสามารถในการดำเนินการ
และทำให้นโยบายปฏิบัติได้จริง
ในปัจจุบันปัญหาทางเศรษฐกิจและความล้มเหลวในการเติบโต (Growth Failure) เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ยังไม่สามารถ จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันนโยบายของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยียังไม่เพียงพอ ทำให้ธุรกิจไทยเสียเปรียบในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศที่มีความสามารถในการลดต้นทุน หรือประเทศที่ขยับตัวเองไปเป็น High-value Economy ได้
“สุดท้ายแล้วการจะเกิดเศรษฐกิจใหม่ (Sustainomy) เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า Value Creation ของเราอยู่ตรงไหนใน Global Goals และ Goals ของเราคืออะไร และจะทำอย่างไรให้ Value Creation ของเรานั้นเป็น High-value Creation ได้” ปิยะชาติ กล่าวในท้ายที่สุด