NEXT GEN

ภัยภิบัติวันนี้ จะเกิดอีก ทั้งถี่xหนักขึ้น ยากจะหนีรอด @ยุคโลกร้อนรุนแรง แนะ “ต้องปรับตัว”

24 กันยายน 2567…ในยุคที่โลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อย ภัยพิบัติจาก extreme weather เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อน ที่ใดๆ ที่เกิดผลกระทบในวันนี้ วันหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก ยากที่จะหนีรอด มีแต่จะถี่ขึ้น แรงขึ้น

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า

-เราไม่สามารถบันดาลให้ป่าบนเขากลับมาในพริบตา เราไม่อาจทำให้ก๊าซเรือนกระจกบนฟ้าลดลง (มีแต่เพิ่มกับเพิ่ม)
-เราอาจจะโวยวายอยากให้ภาครัฐยกระดับการป้องกันภัยพิบัติ แต่วันนั้นจะไม่มาถึงง่ายๆ (ไม่มาถึงเลยมากกว่า)

ถึงเวลาที่เราต้องช่วยตัวเอง หลีกเลี่ยงการพาตัวเองเข้าไปอยู่อาศัย/ทำมาหากินในพื้นที่เสี่ยง นั่นคือคำตอบสำหรับคนที่ยังไม่ได้เข้าไป

สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเรียบร้อยแล้ว ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงรอบด้าน เสี่ยงต่อชีวิต เสี่ยงต่อทรัพย์สิน ทำอย่างไรในการรับมือ ในการหนีภัยในเวลาฉุกเฉิน

หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก โดนแล้วโดนอีก และจะโดนมากขึ้น บางครั้งอาจต้องตัดสินใจในทางเลือกสุดท้าย = ถอยทัพ

 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ในปัจจุบันจนไปถึงอนาคต มูลค่าที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ จะไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เหมือนในอดีต ความเสี่ยงจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะการลงทุนเพื่อป้องกันภัยพิบัติต้องใช้เงิน และจะมีแต่มากขึ้นและมากขึ้น ที่ดินที่เสี่ยงน้อยกว่าคือคุ้มค่ากับการลงทุนและการอยู่อาศัยในระยะยาว นั่นหมายถึงการกู้มาเพื่อผ่อนบ้านเป็นสิบๆ ปี บางทีเช่าอาจได้เปรียบกว่าซื้อ

หากเข้าใกล้วัยเกษียณ ฝันอยากหนีจากเมืองใหญ่ ไปอยู่ในชนบทแสนสบายอากาศดีมีความสุข จงแน่ใจว่าสถานที่คุณไปจะมีความสุขแน่ ไม่ใช่ไปเป็นผู้ประสบภัยในต่างจังหวัด

ที่ไหนสบายไปอยู่ที่นั่น เช่าระยะสั้น ย้ายไปเรื่อย ๆ อาจเป็นทางออกของยุคปัจจุบัน

เก็บตังค์ไว้กับตัว ลดทรัพย์สินพะรุงพะรัง/การกู้หนี้ยืมสินในระยะยาว ลงทุนเล่นหุ้นอย่างรอบคอบ ศึกษาเรื่องความเสี่ยงจากภัยพิบัติจริงจัง

“นั่นคือสิ่งที่ผมบรรยายให้ CEO หลายท่านฟังเมื่อวานนี้ จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ เซฟตัวเองก่อน เซฟเงินเซฟทรัพย์สินจาก extreme weather จากนั้นค่อยมองหาโอกาสในวิกฤต เตรียมพร้อมเข้าไปแต่อย่ากระโจน ธุรกิจสีเขียวไม่ง่ายอย่างที่คิด ทักษะชีวิตสำคัญสุดในยุคนี้คือ ใฝ่รู้และรอบคอบ หาตังค์เก่งอาจไม่สำคัญเท่าเก็บรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ให้รอดพ้นจากภัยโลกร้อน”

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวในท้ายที่สุด ความยากสุดของการใช้ชีวิตในยุคนี้ คือเรายังยึดติดกับแนวคิดเดิม ๆ แต่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน เป็นกำลังใจให้เพื่อนธรณ์ทุกท่าน ใช้ชีวิตในยุค extreme ไม่มีอะไรง่ายเลยครับ

เรียบเรียงจากต้นฉบับ

ที่มา ภาพเปิดเรื่อง ไทยรัฐออนไลน์

You Might Also Like