2 ตุลาคม 2567…ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ยงยุทธ เสฎฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ร่วมเปิดวิสัยทัศน์ Carbon Neutrality Vision and Sustainable Finance Pathway และแลกเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก้าวไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำลังจัดทำ Transition Plan สำหรับ 2 อุตสาหกรรมใหญ่ที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการขนส่ง โดยจะแล้วเสร็จในปลายปีหน้า ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายในการนำ ESG Finance เข้าไปช่วยลูกค้าปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ที่จะเข้ามาในสองอุตสาหกรรมนี้ให้สามารถเปลี่ยนผ่านการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ ธนาคารได้ตั้งแผนก ESG Finance ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อสร้างระบบนิเวศในการสนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านการลงทุนได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการให้คำแนะนำ และช่วยหาพาร์ทเนอร์ เพราะกรุงศรีมีพันธมิตรจากหลากหลายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทเทคโนโลยี เป็นต้น รวมถึงความเชี่ยวชาญด้าน ESG จากบริษัทแม่ MUFG Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
“เราวางโรดแมป ESG Finance โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Finance ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ ESG Finance จำนวน 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2030 เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050″
ขณะเดียวกัน กรุงศรีได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น ESG Academy, ESG Awards และริเริ่ม ESG Symposium ในปีนี้ รวมไปถึงการทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกรุงศรี และธนาคารกสิกรไทย เป็น Co-CEO Sponsor และ Lead Facilitator ในการจัดทำ Industry Handbook เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติของธนาคารต่าง ๆ ในการสนับสนุน ESG Finance สำหรับภาคธุรกิจและภาคประชาชนได้ชัดเจนมากขึ้น
“กรุงศรีมีหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้ทั้งกับองค์กรและบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาให้บริการโซลูชั่นทางการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ได้อย่างชัดเจน โดยกรอบนโยบายในการพิจารณาการปล่อยกู้จะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ธุรกิจที่ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อ หรือสนับสนุนการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างร้ายแรง เช่น ธุรกรรมในการผลิตหรือขายสารกัมมันตรังสี หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้มีแผนลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายลดการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 อันดับสองคือ ประเภทธุรกิจที่ต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงระดับสูงมาก ๆ เนื่องจากมีผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม เช่น การสร้างเขื่อน เราจะต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงระดับสูงมาก ๆ อันดับสามคือ ธุรกรรมที่ต้องพิจารณาอย่างใกล้ชิด เช่น เป็นธุรกิจที่จะต้องมีการจัดเก็บสารอันตราย หรือนำไปรีไซเคิล และอันดับสุดท้าย เป็นธุรกิจที่ให้การส่งเสริมอย่างมาก และสอดคล้องกับพันธกิจของกรุงศรี โดยจะให้การสนับสนุน ESG Finance สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนผ่านการเงิน หรือเริ่มดำเนินงานตามหลัก ESG”
ก่อนหน้านี้ กรุงศรีได้ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรียกว่า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และกำลังทำงานร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ออกมาอีก เช่น Sustainable Link Deleverage ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการขับเคลื่อน ESG ของไทยยูเนี่ยนได้ดียิ่งขึ้น
ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เริ่มวางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2016 โดยระยะแรกให้ความสำคัญกับเรื่องทูน่าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ และแรงงาน จนกระทั่งปี 2023 ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ SeaChange 2030 ขยายขอบข่ายความยั่งยืนไปยัง Scope 3 คือ ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจทั้งซัพพลายเชน โดยจะดูไปถึงปลาประเภทอื่น ๆ รวมถึงเรื่อง Aquaculture โดยเฉพาะฟาร์มกุ้งให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ปีนี้ ไทยยูเนี่ยน ได้ริเริ่มโครงการ low-carbon shrimp เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า กุ้งที่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศเป็นการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งบริษัทต้องไปกระตุ้นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหันมาใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และใช้เครื่องมือในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ดีขึ้น
ไทยยูเนี่ยน ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 42% ภายในปี 2030 จากฐานปี 2021 (2021 baseline) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยปีที่ผ่านมา การดำเนินงานใน scope 1 และ 2 สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 15% จากเป้าหมาย 42% ในปี 2030 ขณะที่ scope 3 ซึ่งเป็นสัดส่วน 90% ของทั้งห่วงโซ่อุปทาน สามารถลดได้ 2% ถือว่ายังไม่เป็นที่พอใจ
“แน่นอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนต้องใช้เงินลงทุน แต่ทำอย่างไรจะช่วยให้เกษตรกรและคนที่อยู่ในซัพพลายเชนสามารถเข้าถึง Sustainable Finance ได้นั้น ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่เรากำลังพิจารณากัน แต่การหาโซลูชั่นจะต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) และผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมสร้างความเชื่อมั่นในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้ จะต้องเร่งหาโซลูชั่นให้ได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า”
ยงยุทธกล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะเป็นตัวบังคับให้ภาคธุรกิจต้องเดินหน้าเรื่อง ESG เร็วขึ้น หากองค์กรไหนดำเนินงานตามแนวทางนี้ จะทำให้โอกาสในการเข้าถึงเงินลงทุนจะยิ่งยากขึ้น และมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไทยยูเนี่ยนกำหนดเป้าหมายใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืน ปี 2022-2030 เป็นจำนวนถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังได้ข้อสรุปที่จะริเริ่มดำเนินโครงการ Internal Carbon Fee ในปี 2025 โดยจะมีการตั้งเป้าหมายให้แต่ละโรงงานว่าจะสามารถปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่ ถ้าไม่บรรลุเป้าหมายก็จะถูกปรับ ในขณะที่ใครทำได้ก็จะได้รางวัลตอบแทน ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยน มีโรงงานผลิตรวมทั้งศูนย์นวัตกรรมและ R&D ใน 17 แห่งทั่วโลก และมีการจ้างงานกว่า 40,000 คน