11 ธันวาคม 2567…โลกตะวันตกตกลงที่จะจ่ายเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นเงินทุนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ และแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในประเทศกําลังพัฒนาตั้งแต่ปี 2035 แต่ประเทศในกลุ่มตั้งแต่คิวบาไปจนถึงอินเดียประณามข้อตกลงนี้ว่าน้อยเกินไป และสายเกินไป
กลุ่ม G77+China ซึ่งประกอบด้วยละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียส่วนใหญ่ ส่งสัญญาณว่าจะยอมรับตัวเลข 500,000 ล้านดอลลาร์ของ ‘เป้าหมายเชิงปริมาณรวมใหม่’ (NCQG) ที่มีจุดประสงค์ แทนที่เป้าหมายการจัดหาเงินสนับสนุน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่าจำนวนดังกล่าวเกินกว่าจุดที่ประเทศร่ำรวยยอมรับได้
การประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน ประเทศร่ำรวย ซึ่งรวมสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เสนอตัวเลขใหม่คือ จำนวน 250,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เริ่มจากปี 2035 ประเทศกําลังพัฒนาปฏิเสธข้อเสนอพร้อมบอกว่า “พูดตลกหรือเปล่า”
กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries-LDCs) ประกาศทันทีเช่นกันว่ายอมรับไม่ได้ จากนั้นพันธมิตรของรัฐเกาะเล็ก ๆ (AOSIS) เข้าร่วม โดยเดินออกจากห้องประชุม และชี้แจงในเวลาต่อมาว่าไม่ได้ยอมแพ้ในการเจรจา แต่เห็นได้ชัดว่าความอดทนของพวกเขาลดลง
มีภาพผู้แทนจากประเทศที่ประสบปัญหาและไม่เห็นด้วย เดินออกจากการประชุมบ่อยๆ ส่งผลให้เป็นสองสามวันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ดูเหมือนการเจรจาจะล้มเหลวเกิดขึ้นหลายครั้ง
ประมาณ 15.00 น. ของวันต่อมา ข้อเสนอถูกเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์
จอห์น โพเดสตา ทูตด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ ถูกคุกคามขณะออกจากห้องประชุม หลังจากตัวแทนประเทศพัฒนาน้อยที่สุดของโลก และรัฐเกาะเล็กๆ นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศตะโกนใส่ว่า “มันน่าอายไหมล่ะ” พวกเขาอ้างว่ารัฐบาลไบเดนละเมิดวาทศิลป์ที่เคยบอกว่า การจ่ายเงินจะเป็นไปอย่างยุติธรรม
Victor Menotti ผู้อํานวยการฟอรัมระหว่างประเทศว่าด้วยโลกาภิวัตน์ กล่าวว่า เขารู้ดีว่า เรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็เป็นเรื่องน่าละอายที่เกิดขึ้นภายใต้ช่วงของประธานาธิบดี โจ ไบเดน
Mukhtar Babayev ประธาน COP29 กล่าวในการประชุมเต็มรูปแบบว่า ทุกคนทุกฝ่ายทํางานหนักตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีใครอยากออกจากบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน เจ้าภาพจัดประชุมโดยไม่มีผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน
“ทั้งโลกล้วนกำลังจับตาดูพวกเรา แต่เวลาเหลือไม่มากแล้ว เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังมากขึ้น”
ทั้งนี้ การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 ขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP29 จบลงโดยประเทศกำลังพัฒนากล่าวตำหนิว่า เงินให้เปล่ารวมกับเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 10.2 ล้านล้านบาท) ที่พวกเขาจะได้รับภายในปี 2035 “เป็นเงินขี้ปะติ๋ว”
ที่มา