NEXT GEN

วิกฤตแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์ในไทยมี 700 คน เทียบร้านแว่น 30,000 แห่งทั่วประเทศ

18 ธันวาคม 2567…ความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง “ท็อปเจริญ” และ “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” เพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์แก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสายตาในประเทศไทย

นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแว่นท็อปเจริญ และ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือครั้งสำคัญในการก่อตั้ง “วิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์@ท็อปเจริญ” โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์ให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศไทย

นพศักดิ์ และดร.ดาริกา ลงนามความร่วมมือผลิตแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์เพียง 700 คน แต่ร้านแว่นตามีมากถึง 30,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะให้บริการด้านสายตาแก่ประชาชน เราจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เพื่อก่อตั้งหลักสูตรแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยนักศึกษาจะได้รับการฝึกปฏิบัติจริงที่สาขาของแว่นท็อปเจริญทั่วประเทศ และการันตีจบแล้วเรารับทำงานเลย ไม่ตกงาน”

วิชาชีพ “ทัศนมาตรศาสตร์” (Optometrist) ถือได้ว่าเป็นหมอทางด้านสายตาที่เมื่อสำเร็จการศึกษาครบหลักสูตรแล้ว สามารถขอใบประกอบวิชาชีพ “หนังสืออนุญาตให้ทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์” จากกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยสามารถใช้ทักษะความรู้ความสามารถ
ในการดูแลรักษาคนไข้ได้เทียบเท่าแพทย์ทั่วไป แต่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านสายตา ระบบการมองเห็น และความผิดปกติของกล้ามเนื้อดวงตา (ที่ไม่ใช่การผ่าตัดดวงตา) ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อประชาชนในสังคมไทย และระบบสาธารณสุขของไทยในระดับปฐมภูมิ และยังเป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพดวงตาและคัดกรองปัญหาสายตาเบื้องต้นที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนยังช่วยป้องกันและรักษาก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือลุกลามได้

 

นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ กรรมการบริหารและจักษุแพทย์ท็อปเจริญ และแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาทัศนมาตรศาสตร์เพียง 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยสยาม และแห่งที่ 4 คือมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

“การที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขาทัศนมาตรศาสตร์ เป็นแนวทางเดียวกันที่ธุรกิจบัณฑิตเพิ่มสาขาใหม่ๆ ภายใต้ Wellness โดยนักศึกษาที่สนใจหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ควรมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากในช่วง 2 ปีแรก จะต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ นอกจากนี้ ผู้เรียนควรมีความมุ่งมั่นและสนใจงานด้านการดูแลสุขภาพสายตา รวมถึงมีความตั้งใจในวิชาชีพที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง”

 

บรรยากาศการลงนามความร่วมมือ “ท็อปเจริญ” และ “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์”

ดร.ดาริกา กล่าวต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่การเรียนวิชาเฉพาะทางในปีที่ 3-6 วิชาสำคัญ ได้แก่ กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของดวงตา การตรวจสายตาและการประเมินสุขภาพดวงตา ทัศนมาตรศาสตร์คลินิก การบริหารจัดการร้านแว่นตา นักศึกษาจะต้องฝึกปฏิบัติที่ศูนย์ฝึกงานในสาขาแว่นท็อปเจริญทั่วประเทศในปีที่ 5-6 พร้อมกับการทำงานวิจัยและการสอบเพื่อรับใบประกอบโรคศิลป์ด้านทัศนมาตรศาสตร์

 “การขยายตัวของตลาดแว่นตาในสังคมผู้สูงวัยและการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีปัญหาสายตามากขึ้น ดังนั้น การผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้จึงมีความจำเป็นสูง การเรียนในสาขานี้ยังช่วยให้นักศึกษาไม่ต้องกังวลเรื่องการหางาน เพราะแว่นท็อปเจริญพร้อมรับเข้าทำงาน 100%”

การตรวจวัดสายตาประกอบแว่น

 

นพศักดิ์กล่าวในท้ายที่สุด ว่าความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มจำนวนแพทย์ทัศนมาตรศาสตร์ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพสายตาของประชาชนในระยะยาว

 

You Might Also Like