30-31 มกราคม 2568…การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เพียงประเด็นสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ธุรกิจที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านความยั่งยืนได้อย่างทันท่วงที อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียโอกาสทางการค้า
หอการค้าแห่งประเทศไทย x เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) กำลังใช้โอกาสนี้เป็นจุดแข็ง ด้วยการเปิดตัวโครงการ ฉลาก “ฮักโลก” (Hug The Earth) ที่ไม่เพียงช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้ารักษ์โลกได้ง่ายขึ้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการลดคาร์บอน Scope 3 อย่างเป็นรูปธรรม

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล และ กรรมการและกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และญนน์ โภคทรัพย์ รองประธานหอการค้าไทย และคณะกรรมการค้าปลีกและบริการหอการค้าไทย และปประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมเยี่ยมชมบูธ
CRC กับบทบาทพื้นที่กลาง เชื่อมแบรนด์รักษ์โลก(ที่ลงทุนเรื่องนี้และมีสินค้าวางขายทั่วประเทศ ) ไปยังผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นับเป็นโอกาส win-win-win สำหรับทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิตสินค้า (ที่ต้องการขยายตลาดให้สินค้ายั่งยืนเติบโต) ผู้บริโภค (ที่ต้องการสินค้ารักษ์โลกในราคาที่เข้าถึงได้) และ CRC เอง (ที่สามารถใช้พลังของค้าปลีกผลักดันความยั่งยืนเชิงธุรกิจ)
หนึ่งในกลไกสำคัญคือ การรวมสินค้าที่ผ่านมาตรฐานความยั่งยืนไว้ในจุดเดียว ผ่านการใช้ฉลากกลางที่ไดรับการรับรองจากมาตรฐานสากล เช่น ISO และฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆ รวมอบก. “ฮักโลก” จึงเสมือนตัวช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยฉลากนี้ได้รับการออกแบบให้ จดจำง่าย และ เข้าใจได้ทันที ว่าเป็นสินค้ารักษ์โลก พร้อมทั้งผ่านการรับรอง
“ผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ CRC จึงเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ ที่ช่วยให้แบรนด์สินค้ายั่งยืนสามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจปรับตัวสู่แนวทาง ESG อย่างเป็นรูปธรรม” พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัลกล่าว
พิชัยยังเปิดเผยว่า หลังจาก Kick Off โครงการฉลากฮักโลก ซึ่งมีแบรนด์ซัพพลายเออร์เข้าร่วมแล้วกว่า 60 แบรนด์ และมากกว่า 3,000 รายการสินค้า (SKU) ซึ่ง CRC คาดว่าหากโครงการนี้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดการปล่อย GHG ได้หลายหมื่นตันต่อปี ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลและรายงานผลอย่างเป็นระบบผ่านแพลตฟอร์มการติดตามข้อมูลสิ่งแวดล้อมของ CRC อย่างต่อเนื่อง
คงจะกล่าวไม่ผิดนักว่า “ฮักโลก” ไม่ใช่แค่ฉลาก แต่คือเครื่องมือเชื่อม Scope 3 ในแง่ของการจัดการคาร์บอน รีเทลอย่าง CRC อาจไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงมากนัก (Scope 1 & 2) แต่จุดที่มีผลกระทบมากที่สุดคือ Scope 3 หรือก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรวมถึงสินค้าที่ขายอยู่บนชั้นวางสินค้า
การเปิดพื้นที่ให้สินค้ารักษ์โลกผ่าน“ฮักโลก” ไม่ได้เป็นเพียงกลยุทธ์การตลาด แต่เป็น การลดคาร์บอนแบบเชิงรุก เพราะทุกสินค้าที่ได้รับฉลากนี้ต้องผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม หรือได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆ ที่มาจากนวัตกรรมในระบบ Circular Economy ช่วยให้แบรนด์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนสามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น
“ฮักโลกไม่ได้เป็นเพียงแค่แคมเปญ แต่เป็นมาตรฐานใหม่ของตลาดค้าปลีกไทย ที่จะช่วยให้ SMEs สามารถแข่งขันได้ในยุคที่โลกต้องการความยั่งยืนมากขึ้น มองว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)เป็นโมเดลสำคัญที่รัฐบาลใช้ผลักดันสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065” สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าว
ความร่วมมือภาครัฐจะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง แม้โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องมี แรงสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ผลิตสินค้ารักษ์โลก หรือ สิทธิพิเศษด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้าที่ได้รับฉลากฮักโลก ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศ เช่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ นำมาใช้
หากภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันได้ ไทยอาจก้าวขึ้นเป็น ผู้นำค้าปลีกยั่งยืนของอาเซียน สร้างความได้เปรียบในการส่งออก และทำให้แบรนด์ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกที่เข้มงวดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม
อนาคตของค้าปลีก ส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ ใครสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เร็วที่สุด