24 มีนาคม 2568…มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยข้อมูลที่น่าจับตามองเกี่ยวกับกระแส ซีรีส์หญิงรักหญิง หรือ Girls’ Love (GL) ซึ่งกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านบาทภายในปี 2025 และอาจช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็น ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมบันเทิงแนวใหม่ในเอเชีย
ดร.เกียรติญา สายสนั่น อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับซีรีส์และอดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล และนรมน กัลยาณมิตร นักเขียนนิยาย Girls’ Love นามปากกา Ma-Bung ในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ – ผู้กำกับ – นักเขียน” ร่วมเวทีเสวนา ‘ซีรีส์หญิงรักหญิง’ พลิกโอกาสเศรษฐกิจ-สังคม
กระแสที่ขยายตัว
โอกาสทางเศรษฐกิจของ GL ไทย
“ตอนนั้น Yes or No หรือหนัง Y เล่นแล้วพอได้นะ รู้เลยว่าตลาดนี้มีมูลค่า ปัจจุบันยิ่งขยายเข้าไปมากขึ้น ถึงทุกวันนี้ Yuri คือพีคสุดสุด Yuri นี่คือมาแรงมาก จากที่เราเห็น ทําให้หลายคนกล้าที่จะกระโดดมาเล่นโดยเฉพาะช่องใหญ่ ช่อง 3 ทําซี่รีส์แบบหลิงออม หรือล่าสุดมาเทวพรหม เขารู้ว่าธุรกิจนี้ไปได้ต้องไปต่อ แล้วเขาไปต่อแบบผงาด ขอใช้คําว่าผงาดนะคะ”
สิ่งที่เกิดขึ้นกับซีรีส์ GL เกี่ยวพันในเชิงสังคมเชิงเศรษฐกิจ การลงทุนเกี่ยวข้องทั้งหมด แม้แต่นักแสดงเบอร์ใหญ่ใหญ่ ก็อยากจะกระโดดมาเล่นทั้ง BL ทั้ง GL เพราะสภาพสังคมเปลี่ยน เปิดรับความหลากหลาย ทําให้นักแสดงกล้ามาเล่นเพราะไม่มีผลเสีย มีแต่ได้การันตีได้เลยว่าคุณจะเปิดโลก ทําให้คุณได้กระแสแฟนคลับใหม่ๆ โดยนักแสดงที่เล่นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น LGBTQ+
ธัญญ์วาริน กล่าวว่า ซีรีส์ GL เป็นสื่อที่สะท้อนเรื่องราวของ LGBTQ+ ไม่เพียงแต่เป็นความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจ และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
“ในอดีต สื่อที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่ปัจจุบัน GL และ BL (Boys’ Love) ซีรีส์ กลายเป็นที่นิยม และมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คน ซีรีส์เหล่านี้ช่วยให้ LGBTQ+ ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย”
นรมน เห็นว่าในอดีตหลังจากเขียนนวนิยายGL แล้ว การจะหาโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือเป็นเรื่องที่ยากมาก แตกต่างจากปัจจุบัน ขณะที่นักแสดง เมื่อแสดงแล้วคนเชื่อว่าคุณสามารถรักผู้หญิงได้จริง หรือสามารถรักผู้ชายได้จริง โดยไม่ได้จํากัดเพศ ก็น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่คนดูเชื่อและชอบ
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในเอเชีย ซีรีส์ GL จึงสามารถเติบโตได้ดี ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ บางแห่งยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายและวัฒนธรรม การที่ซีรีส์ GL ของไทยสามารถบุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และยุโรป แสดงให้เห็นว่าผู้ชมทั่วโลกให้ความสนใจคอนเทนต์ที่เปิดกว้างและเข้าถึงง่ายขึ้น
GL ซีรีส์โอกาสของนักแสดง
ที่มีต่อ Fandom
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ช่วยขับเคลื่อนซีรีส์ GL คือ พลังของแฟนคลับ (Fandom) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนักแสดง และขยายฐานความนิยมของซีรีส์ GL ไปยังต่างประเทศ ยกตัวอย่างนักแสดงอย่าง “หลิง-ออม” จากซีรีส์ “ใจซ่อนรัก” ของช่อง 3 และ “น้ำตาล-ฟิล์ม” จากซีรีส์ “ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก” ของ GMMTV ได้รับความนิยมอย่างมากจากแฟน ๆ ทั้งในไทยและอินเตอร์
ประสบการณ์ใหม่ของนักแสดงที่ได้รับจากด้อม ทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก รวมถึงตัวเป็น ๆ ที่งานแฟนมีตทั้งในกทม.และประเทศแถบอาเซียนอีกทั้งที่จีน เป็นสิ่งที่เหล่านักแสดงได้เห็นถึงพลังแห่งความรัก
“พลังของแฟนคลับไม่ใช่แค่การสนับสนุนศิลปิน แต่ยังช่วยขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เช่น การสนับสนุนสมรสเท่าเทียม การลดอคติทางเพศ และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+ ในสื่อ” ธัญญ์วารินกล่าว
พร้อมกันนี้ เราได้เห็นการขับเคลื่อนทางสังคมจากซีรีส์ “Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก” ไม่ใช่เพียงซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวความรักและครอบครัว แต่ยังเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า “ความบันเทิง” สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงได้จริง เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม ด้วยการใช้ Universal Design ตั้งแต่ EP.2 ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางมากโดยเฉพาะในด้อมของนักแสดงนำน้ำตาล-ฟิล์ม เพราะป้ายบอกสถานที่ในจุดถ่ายทำเพื่อเล่าเรื่อง Universal Design ตามบทนั้น ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ก็ได้ทราบขากด้อมใน X ว่า “น้องเม (ชื่อนางเอกในเรื่อง) ไม่ต้องจะเดินชนแล้ว เพราะกทม.เปลี่ยนป้ายให้แล้ว”
กรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนป้ายแบบเดิมออกไป นำป้ายใหม่ขนาดมาตรฐานมาติดตั้งแทน พร้อมปรับป้ายให้สูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนเดินได้อย่างสะดวก

ภาพบนในซีรีส์ (Before) ขอบคุณภาพ viu ..ภาพล่าง หลังซีรีส์ EP.2 ออนแอร์ไม่กี่วัน (After) ภาพ SD Perspectives
“พอซีรีส์ออกไป มันสร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริง ๆ และเร็วกว่าที่เราคิดไว้เยอะมากค่ะ” ฟิล์ม นักแสดงรับบทเมธาวีกล่าวด้วยความตื่นเต้น ขณะที่น้ำตาล นักแสดงรับบทไออุ่น นางเอกของเรื่องเสริมน้องว่า “เราต้องขอบคุณผู้ชม เพราะถ้าไม่มีคนดูหรือไม่มีคนสนใจ ซีรีส์คงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ แม้ว่าเรารู้อยู่แล้วว่าเรากำลังเล่าเรื่องอะไร และต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรผ่านศิลปะการแสดง แต่คนดูคือแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ที่ทำให้สังคมเข้าใจและเห็นถึงปัญหา”
จากการสัมภาษณ์ น้ำตาล-ฟิล์ม และผู้จัดคนเขียนบท ซีรีส์ Pluto พบว่า ซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่เพียงแต่สร้างความบันเทิง แต่ยังสะท้อนพลังของศิลปะการแสดงในการขับเคลื่อนสังคม และพิสูจน์ว่าความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้คนร่วมแรงร่วมใจเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
น้ำตาล-ฟิล์มในฐานะนักแสดงนำ และมีแฟนด้อมทั้งไทยและอินเตอร์ ก็มีความตั้งใจที่จะเพิ่มบทบาทคุณครูทางด้านศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของน้ำตาลที่จบปริญญาโททางด้านนี้จากมศว.ประสานมิตร ส่วนฟิล์มก็มีความตั้งใจจะนำศิลปะวาดภาพ เพื่อสร้าง Empathy ,สมาธิ ส่งต่อให้เยาวชน Gen Z Gen Beta นับเป็นการช่วยสังคมซึ่งส่วนหนึ่งเป็นด้อมของน้อง ๆ เองด้วย
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นพลังจากไลฟ์สไตล์ของนักแสดงนำอย่างหลิงหลิง คอง ที่เคยสัมภาษณ์ #SDPerspectives ว่า
“คุณค่าจากไลฟ์สไตล์ แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ก็ช่วยเรื่อง Sustainability ของโลกด้วย”
“หลิงชอบดื่มน้ำเย็น การพกกระติกก็ดีอย่างหนึ่งคือรักษาความเย็นได้ การที่เราใช้ สามารถ Reuse ได้หลายรอบ ลดการใช้แบบ Single Use ซึ่งหลิงรู้สึกว่ามันดีต่อสิ่งแวดล้อม”
หลิงหลิง คองกล่าวในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ว่า
“ถ้าหากมีโอกาส อยากให้ศึกษาสิ่งแวดล้อมของเราให้มากขึ้น เพื่อที่จะทําให้โลกน่าอยู่สำหรับลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป ได้อยู่ ได้เห็นต้นไม้สวย ๆ ของเรา ทะเลสวย ๆของเรา หลิงก็อยากจะเป็นอีกหนึ่งเสียงให้ทุกคนนะคะ”
นับเป็นแรงบันดาลใจให้คนใกล้ตัวในเวลาต่อมาเมื่อน้องออมหันมาใช้กระติกน้ำเป็นประจำในปัจจุบัน ส่วนแฟนด้อมมีการเสนอความคิดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ Reuse ได้ กับรถฟู้ด ทรัก ที่จะไปบริการแฟนด้อม ประชาชนทั่วไปในงานฟุตบอลช่อง 3 วันที่ 29 มีนาคมนี้
“ในฐานะที่เป็นนักแสดงด้วย เรารู้ว่า FC สำคัญกับเรามาก แม้จะมีเพียงหนึ่ง เราก็จะรักเขา และเมื่อถึงเวลาเหมาะสมเราก็จะตอบแทนเขาเช่นกัน” ดร.เกียรติญากล่าว
โอกาสการเติบโตซีรีส์ GL
ภาครัฐควรสนับสนุน
ธัญญ์วารินเห็นว่า ปัจจุบัน แม้ว่าซีรีส์ GL ไทยจะได้รับความนิยมสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การลงทุนยังต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นหลัก หากมีการสนับสนุนจากรัฐ เช่น มาตรการลดภาษี การให้เงินทุนสนับสนุน หรือการส่งเสริมให้ GL เป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทย ก็จะช่วยให้ซีรีส์ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น
“ปัจจุบัน การลงทุนในการผลิตซีรีส์ GL ไทยอยู่ที่ประมาณ 10-50 ล้านบาทต่อเรื่อง ขณะที่เกาหลีใต้สามารถลงทุนระดับ 300-500 ล้านบาทต่อซีรีส์หนึ่งเรื่อง สะท้อนให้เห็นความแตกต่างด้านงบประมาณและคุณภาพการผลิต หากไทยต้องการเป็นศูนย์กลาง GL ในระดับโลก รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง” ดร.เกียรติญาขยายความ
นรมน เพิ่มเติมข้อมูลให้ทราบว่า เมื่อมาถึงการซื้อบทประพันธ์เพื่อไปทำซีรีส์ ราคาจะอยู่ที่ตัวเลข 5 หลักต่อเรตื่อง หากจะบอกว่าเป็นราคาที่ถูก ก็น่าจะเป็นการกล่าวไม่เกินจริงเลย
สำหรับแนวทางที่รัฐสามารถช่วยส่งเสริมให้ GL เป็น Soft Power ที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เน้น LGBTQ+ เช่นเดียวกับนโยบายที่เกาหลีใต้ใช้เพื่อส่งเสริม K-Drama ส่งเสริมให้ซีรีส์ไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มระดับโลก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ เป็นต้น
นักลงทุนบางคนยังมองว่า GL เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ในความเป็นจริงคือโอกาสมหาศาล
เพราะ GL ซีรีส์ไม่ใช่แค่เรื่องของความรักในสื่อบันเทิง แต่คือเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-สิ่งแวดล้อม
อ่านเพิ่มเติม