5-6 เมษายน 2568…พร้อมเปิดตัวโรงงาน SAF กลางปี 2568 นับเป็นผู้บุกเบิกการผลิตเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (SAF) รายแรกในไทย กำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน พร้อมรับรองมาตรฐานระดับสากล เดินหน้าผลักดันนโยบายรัฐเพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มบางจากฯ ให้ความสำคัญการลงทุนในโครงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) ซึ่งถือเป็น “กุญแจสำคัญ” ในการลดการปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน
บางจากฯ เป็นรายแรกในประเทศไทยที่มีความพร้อมในการผลิต Neat SAF 100% ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยดำเนินการภายใต้การรับรองมาตรฐาน International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต จนถึงการขนส่ง
เดินเครื่องไตรมาส 2 ปี 2568
พร้อมจำหน่ายจริง
โครงการ SAF ขณะนี้ก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 96% และมีกำหนดเริ่มเดินเครื่องในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 โดยเริ่มจากการทดสอบสมรรถนะของโรงงาน (Plant Performance Test Run) และจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งบางจากฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย SAF กับลูกค้าหลักแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพิ่มเติม

ดีพร้อม – บางจากฯ ผนึก 5 พันธมิตรธุรกิจ ดันน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF
ส่งเสริมธุรกิจการบินแห่งอนาคต สู่เป้าหมาย Net Zero
เสนอรัฐออก “Mandate” หนุนการใช้ SAF
ชี้ไม่มีผลต่อราคาตั๋วเครื่องบิน
แม้หลายประเทศในเอเชียรวมถึงไทยยังไม่มีนโยบายบังคับใช้ SAF (Mandate) ที่ชัดเจน แต่ในอนาคตตลาด SAF มีแนวโน้มขาดแคลน โดยเฉพาะเมื่อข้อกำหนดของประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้มากขึ้นหลังปี 2030 เช่น สหภาพยุโรปกำหนดขั้นต่ำ 2% ภายในปี 2025
ชัยวัฒน์กล่าวถึงปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน คือ
1) การสร้างความหลากหลายของวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF
2) การกำหนดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนหรือ mandate เพื่อผลักดันการใช้ SAF ในประเทศโดยเร็ว
“ขอเสนอแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณา Mandate เช่นการกำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ และจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศของ SAF อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ยังสร้างโอกาสในการยกระดับประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาคในอนาคตได้”
ชัยวัฒน์กล่าวต่อเนื่อง “ประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน มีความตั้งใจ แต่ทุกสายการบินก็จะทําในลักษณะ CSR ใช้ SAF เพื่อ 2 เที่ยวบินเท่านั้นเอง ถ้ามี Mandateเข้ามาก็จะช่วยทําให้อัตราการใช้ SAF ประเทศไทยสูงขึ้น เรามีโอกาสที่ดีขึ้น เราทำได้เร็วขึ้น เราก็ตอบโจทย์จากลูกหลานเราได้”
ทั้งนี้ เขาย้ำว่า การผสม SAF 1% จะไม่มีผลกระทบต่อราคาตั๋วเครื่องบินอย่างมีนัยสำคัญ โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับไม่ถึง 25 สตางค์ต่อเที่ยวบิน
ศักยภาพประเทศไทย
โอกาสยกระดับสู่ฮับพลังงานสะอาด
บางจากฯ มีประสบการณ์กว่า 20 ปีในการจัดเก็บน้ำมันพืชใช้แล้ว (UCO) เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงมีความได้เปรียบเชิงต้นทุนในการผลิต SAF โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานจากโรงกลั่นเดิม ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างและการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยสามารถจัดเก็บวัตถุดิบเพื่อผลิต SAF ได้เพียงประมาณ 10% ของศักยภาพที่ควรจะเป็น จึงจำเป็นต้องมีนโยบายและแรงจูงใจจากรัฐ เพื่อเพิ่มการจัดเก็บวัตถุดิบเหลือใช้เข้าสู่ระบบให้มากยิ่งขึ้น
การลงนามใน MoU เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา นับว่าเป็นการการันตีนำน้ำมันพืชใช้แล้วจาก Big Corporate เข้าสู่กระบวนการประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรภาคธุรกิจที่มีการใช้น้ำมันปรุงอาหาร ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
เพื่อสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทาน ของ UCO ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งทางอากาศ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง