2 มิถุนายน 2563.. สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนและสมาคมบริษัทจดทะเบียนได้ร่วมมือกันจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในช่วง 20 มกราคม – 24 มีนาคม 2563 เพื่อประเมินผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมแผนสำรองทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนกรณีเหตุการณ์ต่างๆ
บริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 110 บริษัท จาก 26 หมวดธุรกิจ มีมูลค่าหลักทรัพย์รวมคิดเป็น 41% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด สรุปได้ดังนี้
ปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน จำนวนลูกค้า และสุขภาพพนักงาน และบริษัทจดทะเบียนเกือบครึ่งหนึ่งได้เตรียมแผนสำรองทางธุรกิจไว้รองรับกรณีนี้แล้ว
-38% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเหมืองแร่ ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงาน อาทิ การจำกัดเวลาในการทำงานตามนโยบายภาครัฐ การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เป็นต้น ขณะที่บางบริษัทได้รับผลกระทบในด้านยอดขายที่ลดลงจากจำนวนลูกค้าที่ลดลงเนื่องจากการหลี่กเลี่ยงมลพิษ และบริษัทจดทะเบียนบางส่วนประสบปัญหาการลาป่วยของพนักงานเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาทางเดินหายใจ
-บริษัทจดทะเบียนจัดการผลกระทบของปัญหาหมอกควันและ PM2.5 หลายแนวทาง อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มน้ำมันเพื่อลดตะกั่วและฝุ่นละอองในอากาศ การปรับคุณภาพเครื่องจักรหรือการบำรุงรักษาเครื่องจักรไม่ให้ก่อมลพิษ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน อาทิ การพ่นละอองน้ำ การจัดตั้งเครื่องฟอกอากาศ การให้ความรู้พนักงานและส่งเสริมให้พนักงานใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น
-45% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าปัญหาฯ นี้มีผลกระทบและมีการเตรียมแผน BCP ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว และ 14% คาดว่ามีผลกระทบต่อบริษัทแต่ยังไม่มีแผน BCP ขณะที่ 41% คาดว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ
ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทจดทะเบียนได้มีการปรับตัว และใช้แผนสำรองธุรกิจตามที่ได้นำเสนอแล้วใน SET Note 2/2563 เรื่อง SET CEO Survey (Special Issue) การรับมือของบริษัทจดทะเบียนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เผยแพร่ไปแล้วในเดือนมีนาคม 2563
ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในปีนี้นับว่ารุนแรงที่สุด เมื่อพิจารณาจากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนของกรมชลประทาน 15 ปีย้อนหลังพบว่า ณ 13 เมษายน 2563 มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยทีสุดในรอบ 15 ปี โดย 22 จาก 33 เขื่อน ที่ระดับน้ำอยู่ใน “ระดับน้อย” ถึง “ระดับน้อยวิกฤติ”
-38% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทใช้น้ำเป็นปัจจัยการผลิต ใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต ขณะที่บริษัทจดทะเบียนบางส่วนคาดว่า ปัญหาภัยแล้งฯ จะส่งผลต่อกำลังซื้อในอนาคต ส่งผลให้ยอดขาย และความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ลดลง
-บริษัทจดทะเบียนรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ทั้งการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การหาแหล่งน้ำใหม่ เป็นต้น และสำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม วางแผนธุรกิจใหม่ อาทิ การหาลูกค้ากลุ่มใหม่ การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น
-47% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ขณะที่ 40% คาดว่าปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทและมีแผน BCP รองรับเรียบร้อย ขณะที่ 13% คาดว่ามีผลกระทบต่อบริษัทแต่ยังไม่มีแผน BCP
นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียนต่อ 10 เหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนคาดการณ์จะได้รับผลกระทบและการจัดเตรียมแผนสำรองธุรกิจ (BCP) ไว้รองรับ ได้แก่
1) น้ำท่วม
2) ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ
3) แผ่นดินไหว / แผ่นดินถล่ม
4) ภัยจากพายุ
5) ไฟไหม้
6) หมอกควัน / PM2.5
7) ภัยสงคราม หรือจราจล
8) ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย อาทิ เขื่อนแตก
9) การโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลรั่วไหล
10) ระบบสาธารณูปโภคในบริษัทเสียหาย (อาทิ ระบบไฟฟ้า น้ำ โทรศัพท์ล่ม)
-ประมาณ 80% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม มีแผนสำรองทางธุรกิจสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินงานปกติ (Business as usual) ของบริษัท อาทิ แผนสำรองสำหรับกรณีสาธารณูปโภคมีปัญหา การโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เหตุการณ์ไฟไหม้ เป็นต้น
-67% มีแผนสำรองกรณีภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น อาทิ กรณีน้ำท่วม เป็นต้น
-ขณะที่เหตุการณ์ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย (อาทิ เขื่อนแตก) ภัยจากสงครามหรือภัยจากการจลาจล และภัยจากพายุ เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนคาดว่าเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นบริษัทจะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีแผน BCP ครอบคลุมเหตุการณ์ดังกล่าว (ประมาณ 20% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม)
-เหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการ คือ ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย (อาทิ เขื่อนแตก)
ในปี 2563 บริษัทจดทะเบียนไทยต้องเผชิญกับความท้าท้ายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทในการดำเนินงานธุรกิจ ที่เสมือนบังคับให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีการปรับตัวด้วยอัตราเร่ง ทั้งปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ที่ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการทำงาน ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ต้องเร่งพัฒนาธุรกิจออนไลน์ ตลอดจนใช้เทคโนโลยี่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และใช้แผนสำรองธุรกิจ (BCP) อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งกรมชลประทานคาดว่าปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563
โดย สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย